วัยรุ่นระยะกลางกับทักษะสมอง EF
จากที่ครั้งก่อนได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจในช่วงวัยรุ่นระยะต้นไปแล้ว บทความในครั้งนี้ก็จะขอมาพูดเกี่ยวกับวัยรุ่นระยะกลางบ้างนะครับ โดยช่วงวัยรุ่นระยะกลาง จะหมายถึง วัยรุ่นอายุระหว่าง 14-17 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ช่วงวัยนี้ลูกมักจะมีความสูงใกล้เคียงหรือมากกว่าคุณพ่อคุณแม่ มีการพัฒนาลักษณะทางเพศที่ค่อนข้างเด่นชัด รวมถึงมีกระบวนการคิด อารมณ์ และการแสดงออกที่แตกต่างไปจากวัยเด็กอย่างมาก แต่ก็ยังไม่ใช่ผู้ใหญ่ซะทีเดียว โดยตัวของวัยรุ่นจะต้องการความเป็นอิสระจากการดูแลของพ่อแม่ แต่ก็มักจะยังต้องพึ่งพิงพ่อแม่ในหลายด้าน ในขณะเดียวกันก็สนใจปฏิกิริยาของคนรอบข้าง รวมถึงต้องการการยอมรับถึงตัวตนของตนเองจากบุคคลอื่นในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อน ทำให้มีโอกาสเกิดความขัดแย้งกับคุณพ่อคุณแม่ได้ง่าย รวมไปถึงการเกิดความสับสนในการค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตนเอง
ประเด็นสำคัญในความเป็นวัยรุ่นที่แตกต่างจากวัยผู้ใหญ่อยู่ที่สมองส่วนหน้าหรือพรีฟรอนทัล คอร์เท็กซ์ อันเป็นสมองส่วนที่มีบทบาทในด้านการคิดวิเคราะห์ การวางแผน การแก้ไขปัญหา และทักษะสมอง EF โดยสมองส่วนดังกล่าวจะยังคงมีการพัฒนาในช่วงวัยรุ่น จนเมื่ออายุราว 24 ปี เจ้าสมองส่วนนี้จึงจะพัฒนาแล้วเสร็จ ดังนั้นกระบวนการคิดของวัยรุ่น โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นระยะกลางก็จะเริ่มเปลี่ยนจากความคิดเชิงรูปธรรม หรือจินตนาการแบบเด็กๆ ไปสู่การคิดเชิงนามธรรมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนกับสมองของผู้ใหญ่ ดังนั้น วัยรุ่นจึงมีความสนใจในการถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญา ความดีงาม ความหมายของชีวิต บทบาทและอนาคตของตัวเองในสังคม รวมไปถึงความถูกต้องและความยุติธรรม อันเป็นเหมือนการฝึกฝนเพื่อพัฒนาสมองส่วนดังกล่าวเพื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งก็จะส่งผลให้มุมมองของวัยรุ่นที่มีต่อพ่อแม่หรือครูอาจารย์ จะเปลี่ยนจากบุคคลที่เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ให้ทำตาม และเป็นผู้ที่ทำอะไรถูกต้องอยู่เสมอ มาเป็นบุคคลทั่วไปที่สามารถทำอะไรผิดได้ ทำให้ลูกวัยรุ่นมักจะเถียงหรือแสดงท่าทีไม่เชื่อฟังคำสอนของผู้ใหญ่ หากตัวเขาคิดว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้องในมุมมองของเขา ซึ่งก็ต้องบอกก่อนว่ามุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวของลูกวัยรุ่นถือเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการมนุษย์ที่จะเปลี่ยนเด็กคนหนึ่งให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ต่อไปนะครับ
เมื่อได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของวัยรุ่นระยะกลางแล้ว หน้าที่หลักในการดูแลหรือช่วยเหลือลูกๆ ในช่วงวัยนี้ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาสำคัญไปได้ด้วยดี ก็คงต้องตกเป็นของคุณพ่อคุณแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทักษะสมอง EF ก็จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการดูแลลูกๆ ในวัยนี้เป็นอย่างมาก โดยอันดับแรก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องมี EF ที่ดีก่อน โดยเฉพาะการยับยั้งชั่งใจ เพราะบ่อยครั้งที่การพูดคุยกับลูกในช่วงวัยนี้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่หลุดโมโหได้บ่อยๆ ดังนั้นในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ผู้ซึ่งอาบน้ำร้อนมาก่อน การคุยกับลูกวัยรุ่นจึงควรเตรียมพลังใจส่วนหนึ่งไว้สำหรับการยับยั้ง ไม่ว่าจะเป็นการยับยั้งความคิดของตนเองที่จะไปตัดสินก่อนจะฟังเรื่องทั้งหมด การยับยั้งตนเองที่จะไม่ไปพูดแทรกหรือดุว่า การยับยั้งตนเองที่จะไม่ออกคำสั่ง และในบางครั้งก็อาจจะต้องอาศัยทักษะที่พัฒนาต่อมาจากการยับยั้งชั่งใจ คือการควบคุมอารมณ์ เข้ามาช่วยด้วย ซึ่งคงต้องบอกว่า บางทีคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องอดทนพอสมควร แต่การยอมรับฟังความคิดเห็นของวัยรุ่นโดยไม่รีบไปตัดสินถูกผิด ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้ลูกยอมเปิดใจต่อคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นนะครับ และในขณะเดียวกัน ลูกวัยรุ่นก็จะต้องเรียนรู้ในการอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันคือความยับยั้งชั่งใจ ไม่พูดแทรก ไม่พูดเสียงดังหรือคำหยาบ ในระหว่างการพูดคุยกับพ่อแม่ด้วย อันเป็นการสอนโดยการแสดงให้เห็น ไม่ใช่สอนโดยการสั่ง เพื่อให้ลูกวัยรุ่นได้เรียนรู้การฝึกรับฟังความคิดเห็น การควบคุมอารมณ์ และมารยาททางสังคมไปด้วยพร้อมกัน
นอกจากนี้ ทักษะสมอง EF ในส่วนของความยืดหยุ่นของกระบวนการคิดและการแก้ปัญหา ก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน เพราะลูกวัยนี้มักจะมีปัญหาหลายๆ อย่างมาให้ต้องขบคิดแก้ไขอยู่เสมอ เนื่องจากตัววัยรุ่นระยะกลางเองก็มักจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อน ครูอาจารย์ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือแนวทางการดำเนินชีวิตในอนาคต ซึ่งพ่อแม่ก็สามารถช่วยลูกในการปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์ที่ยุ่งยากเหล่านี้ให้ผ่านพ้นไปได้ จากประสบการณ์ชีวิตและมุมมองที่หลากหลายกว่า และการที่คุณพ่อคุณแม่มีความยืดหยุ่นของกระบวนการคิด จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลประคับประคองลูกวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น เพราะลูกวัยนี้ไม่ชอบแน่ๆ กับการถูกสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ไม่ชอบให้พ่อแม่มาบ่นหรือมาจู้จี้ ซึ่งก็ถือเป็นธรรมชาติของวัย ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่มีทักษะสมอง EF ในส่วนของการยืดหยุ่นของกระบวนการคิดและการแก้ไขปัญหา ท่านจะสามารถบอกกล่าวให้คำแนะนำกับลูกแบบที่ลูกไม่รู้สึกว่ากำลังถูกสอน หรือไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังถูกสั่งให้ทำ ซึ่งท่านสามารถใช้เทคนิคการสอนทางอ้อม การยกตัวอย่างกรณีศึกษา (โดยไม่มีการเปรียบเทียบ) การทิ้งประเด็นให้ตัวเขาได้คิดไตร่ตรอง การเปิดโอกาสให้ลูกได้เสนอความเห็น หรือแม้แต่การทดลองทำโดยมีพ่อแม่คอยอยู่เคียงข้าง เทคนิคเหล่านี้จะทำให้ลูกวัยรุ่นพร้อมเปิดรับต่อคำแนะนำของพ่อแม่มากกว่าการสอนหรือการสั่งโดยตรง และการเรียนรู้ไปด้วยกันของคนในครอบครัวก็เป็นการช่วยพัฒนา EF ทั้งในส่วนของคุณพ่อคุณแม่และในส่วนของลูกไปพร้อมๆ กันด้วยครับ
ประเด็นสุดท้ายก็คือ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไรก็ตาม ลูกก็ยังคงต้องการคำชื่นชมจากพ่อแม่อยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมชื่นชมตัวเขาในวันที่ตัวเขาทำดีหรือประสบความสำเร็จ และโปรดอย่าให้การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติเหล่านี้มาทำให้คนในครอบครัวต้องห่างเหินกัน การหาเวลารับประทานอาหารด้วยกัน (โดยไม่มีการใช้อุปกรณ์ไอที) การถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของลูก การสังเกตท่าทีความกังวลหรือไม่มั่นใจของลูกและคอยให้กำลังใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยรักษาสายใยความผูกพันของครอบครัวเอาไว้ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าบ้านเป็นที่ที่อยู่แล้วสบายใจ ไม่ว่าลูกจะอายุเท่าไร หรือไม่ว่าตัวเขาจะไปอยู่ที่ไหน เขาก็จะอยากกลับมาบ้าน มาหาพ่อแม่ และมาหาครอบครัวที่เขารักเสมอ แม้การดูแลลูกวัยรุ่นจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำให้ตัวเขาพัฒนาสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณค่าของประเทศชาติต่อไป