วัคซีนชีวิตสำหรับลูกวัยรุ่น

ช่วงนี้กระแสเรื่องของวัคซีนโควิด-19 กำลังมาแรงนะครับ หมอก็เลยจะขอเกาะกระแสวัคซีนด้วยนิดหนึ่ง เพียงแต่ว่าวัคซีนที่จะพูดถึงในวันนี้ ไม่ใช่วัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโรค แต่เป็นวัคซีนป้องกันอันตรายต่างๆ ที่อยู่รายล้อมตัวของวัยรุ่นยุคนี้ ไม่ว่าจะภัยยาเสพติด การพนัน เกมออนไลน์ การกลั่นแกล้ง พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม การหลอกลวงเพื่อหวังทรัพย์สิน ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ทั้งนี้โดยธรรมชาติแล้ว วัยรุ่นมักจะเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดีได้ง่าย เนื่องจากการพัฒนาของสมองยังเกิดขึ้นไม่สมบูรณ์เหมือนกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าที่มีบทบาทด้านการคิดวิเคราะห์ การยับยั้งชั่งใจ และการวางแผน แม้ร่างกายจะมีการพัฒนาจนใกล้เคียงกับผู้ใหญ่แล้วก็ตาม การป้องกันความเสี่ยงที่บุตรหลานวัยรุ่นจะเข้าสู่หนทางที่ไม่ดี สามารถกระทำได้โดยการให้วัคซีนชีวิตแก่บุตรหลานวัยรุ่น ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ไม่ต้องฉีด แต่อาศัยความรักความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่เป็นสำคัญ ภายในวัคซีนชนิดนี้มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ประการ ได้แก่

(1) ความยับยั้งชั่งใจ เป็นสิ่งที่วัยรุ่นควรจะได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก อันเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะสอนให้เด็กได้รู้จักถึงการรอคอย การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน และความอดทนต่อสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันที่เป็นยุคไอที ที่ทุกๆ อย่างจะสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การอดทนรอคอยของเด็กและวัยรุ่นในยุคนี้จะค่อนข้างจำกัด และความยับยั้งชั่งใจมักจะทำให้เกิดความรู้สึกฝืนใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ชอบ คนเราจึงมักจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ใจคิดโดยไม่ได้พยายามที่จะยับยั้งเอาไว้ ความบกพร่องในด้านความยับยั้งชั่งใจจะทำให้วัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อการเสพติด ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด การพนัน หรือเกมออนไลน์ รวมถึงมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนในโซเชียลเน็ตเวิร์ค จริงอยู่ที่วัยรุ่นรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำไปนั้นมันไม่ดี แต่ในขณะที่กระทำมักจะไม่ทันได้คิด ดังนั้น การสอนความยับยั้งชั่งใจให้กับลูกในช่วงวัยรุ่น แม้จะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็ควรกระทำ เพราะหากวัยรุ่นมีภูมิคุ้มกันในส่วนนี้ ก็จะช่วยป้องกันตัวเขาต่อการถูกชักจูงไปยังทางที่ไม่ดีได้ โดยการฝึกความยับยั้งชั่งใจในวัยรุ่น ควรเน้นไปที่การฝึกสติ เพราะจะช่วยให้วัยรุ่นมีความตระหนักรู้ถึงการกระทำของตนเองในทุกช่วงเวลา เมื่อสามารถรับรู้ว่าตนเองจะทำอะไร การควบคุมการแสดงออกของตนเองก็สามารถกระทำได้ง่ายขึ้น เพราะมี “สติ” มาคอยกำกับนั่นเอง

(2) ความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหา เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับวัยรุ่นนั้นค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งนี้เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การให้ความสำคัญต่อเงินทองมากกว่าศีลธรรม และการแสวงหาชื่อเสียงหรือการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ทำให้วัยรุ่นมีโอกาสที่จะต้องเจอปัญหาต่างๆ เข้ามาในชีวิต ซึ่งความสามารถในการแก้ไขปัญหาและการมีรูปแบบในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย จะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้วัยรุ่นสามารถผ่านพ้นจากปัญหาต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบตัวเขาไปได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถให้วัคซีนในส่วนนี้ด้วยการเปิดใจรับฟังปัญหาของลูกวัยรุ่น และให้ความเห็นในการแก้ไขปัญหาโดยไม่รีบด่วนตัดสินว่าใครถูกใครผิด แต่อาศัยเหตุผลและประสบการณ์ของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งจะมีมุมมองชีวิตของคนที่ผ่านโลกมาพอสมควร มาช่วยแนะนำการแก้ไขปัญหาของลูก รวมถึงการให้กำลังใจกับตัวลูก และแสดงทีท่าอย่างชัดเจนในการสนับสนุนตัวเขาอยู่เสมอ

(3) การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนอนาคต การมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน จะทำให้เส้นทางสู่เป้าหมายนั้นเด่นชัดขึ้น เพราะทำให้เรารู้ว่าจะต้องทำอะไรในแต่ละวันเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น แต่วัยรุ่นส่วนหนึ่งมักจะมีความสับสนในชีวิต ไม่รู้ว่าตัวเองจะเรียน หรือประกอบอาชีพอะไรในอนาคต ทำให้เหมือนกับใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะทำให้ชีวิตมีความเสี่ยงที่จะถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดีได้มาก ดังนั้นการวางแผนชีวิตร่วมกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกวัยรุ่น ทั้งในส่วนของแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อช่วยกำหนดเส้นทางชีวิตของลูกให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยสิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังที่จะไม่ไปกำหนดกะเกณฑ์แผนชีวิตของลูกให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองฝ่ายเดียว ในขณะที่ลูกวัยรุ่นก็ต้องยอมเปิดใจต่อความเห็นของคุณพ่อคุณแม่ด้วย จึงจะทำให้การวางแผนชีวิตร่วมกันประสบความสำเร็จ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความยับยั้งชั่งใจ ความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหา การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนอนาคต ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันวัยรุ่นจากอันตรายและความเสี่ยงต่างๆ ที่อยู่ล้อมตัว เปรียบเสมือนวัคซีนชีวิตที่ช่วยป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา โดยความยับยั้งชั่งใจและความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหา ก็คือ ทักษะสมอง EF ขั้นพื้นฐานนั่นเอง ในขณะที่การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนอนาคต ก็เป็นทักษะสมอง EF ขั้นสูง จึงสามารถกล่าวได้ว่า การพัฒนาของ EF อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงวัยรุ่น ผ่านการช่วยเหลือของคุณพ่อคุณแม่ จะเป็นดั่งวัคซีนชีวิตในการป้องกันวัยรุ่นจากอันตรายต่างๆ รอบตัวเขานั่นเอง