อย่ามา “No”
เหตุผล 3 ข้อ ที่คุณพ่อ คุณแม่ และคุณครูปฐมวัย ควรรู้ว่าทำไมถึงควรหลีกเลี่ยง คำว่า “ห้าม” “ไม่” “อย่า” และ “หยุด”
1. เป็นคำสั่ง ไม่ใช่คำสอน
เช่น อย่าเล่นแรงนะ! แล้วให้เล่นอย่างไรคะ? ที่สำคัญยังทำให้อยากต่อต้าน เพราะ คำสั่ง จะไปปลุกสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ทันที ที่รู้สึกสูญเสียอำนาจควบคุม
2. เป็นกระบวนการแปลผลที่สลับซับซ้อนเกินไปสำหรับเด็กเล็ก
เพราะ สมองจะแปลข้อมูลที่สร้างเป็นภาพได้ก่อน แล้วจึงนำข้อมูลที่เป็นปฏิเสธ ไปแปลผลรวมอีกที ซึ่งสำหรับเด็กต้องประมวลผล 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 คือ เล่นแรงๆ
ครั้งที่ 2 ถึงจะประมวลคำว่า “อย่า” เพื่อแปลความหมายรวมว่า “อย่าเล่นแรงๆ”
ทีนี้ระหว่างแปลครั้งที่ 1 เด็กเล็กๆ ก็มักจะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมทันที ตามผลที่ประมวลได้ก่อน เหตุผลก็เพียงเพราะ สมาธิหนูยังมีน้อย และเสียงเรียกร้องในใจว่าอยากทำ มันก็ดังกว่า เสียงเบรกพ่อแม่ เราจึงมักได้ยินคำว่า “นั่นไง พูดยังไม่ทันขาดคำเลย!”
3. เป็นการชี้นำ ไม่ใช่ชี้แนะ
หลายครั้งที่เราชอบระแวด ระแวง ระวัง ไปก่อน ว่าเดี๋ยวเด็กๆ จะต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ ก็เลยบอกเค้าว่า อย่าทำอย่างนั้นนะ ห้ามทำอย่างนี้นะ
เช่น ตอนไปหาหมอ ไม่ต้องกลัวนะ! หรือ อย่าเสียงดังนะ เดี๋ยวน้องตื่น!
จากที่เด็กๆ ยังไม่ทันคิดอยู่ในหัวเลยว่า จะต้องกลัว หรือ จะเสียงดัง ทีนี้ก็เลยต้องคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะข้อมูลเข้าไปในสมองเสียแล้ว
หากงุนงง ว่าจะเป็นการชี้นำได้ไง ลองดูก็ได้ว่า ถ้ามีคนมาบอกว่า อย่าคิดถึงหมีสีขาว! และห้ามนึกถึงช้างสีชมพูนะ! ปฏิเสธได้มั้ยว่า หมีสีขาว และช้างสีชมพู ไม่ได้อยู่ในหัวคิดเลย??
ลองเปลี่ยนจาก “ไม่” เป็น “ทำอะไรได้” จะช่วยสอนเด็กๆได้มีประสิทธิภาพมากกว่า
เพราะมีข้อมูลครบกว่า ประมวลง่ายกว่า
และอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมใช้เหตุผลในการตัดสินใจมากกว่า การตอบสนองจากสัญชาตญาณ