บทที่ 2 ตอนที่ 5
New Normal ส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมควบคู่ไปกับวิชาการ

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โลกผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีโรคระบาดเช่นโควิด19 มีภัยพิบัติต่างๆ เราต้องสร้างเด็กที่มีความอดทนสูง ปรับตัวได้ไว ล้มแล้วลุกขึ้นมาเองได้เร็ว โดยไม่ต้องรอให้ใครมาช่วยดึงขึ้น  มนุษย์ที่มีความสามารถเช่นนี้จะต้องมีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ดี ซึ่งจะทำให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจโลก รับมือกับความเป็นไปของโลกได้

ดังนั้น หนึ่งในพัฒนาการ 4  ด้านของเด็กยุคนี้ที่ครูและพ่อแม่ควรให้ความสำคัญอย่างมากและส่งเสริมพัฒนาคือพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้นิยามไว้ว่า “เป็นการเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข” เราจึงต้องส่งเสริมพัฒนาเด็กให้เขาเข้าใจตัวเอง จัดการตัวเองได้ เข้าใจคนอื่น มีมนุษย์สัมพันธ์ มีทักษะทางสังคม และดำรงชีวิตอย่างมีความสุข  

คำว่าเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มีการตีความว่า คือ “เก่ง ดี มีสุข”  แต่คำว่า “เก่ง” จะต้องไม่ตีความหมายผิดเป็นเรียนเก่ง คำว่าเก่งในที่นี้ควรเป็น ปรับตัวเก่ง รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง มีคุณธรรม จริยธรรม เข้าใจคนอื่น เช่นรู้ว่าเพื่อนเสียใจควรจะทำอย่างไร นี่คือทักษะอารมณ์และสังคมนั่นเอง

เมื่อครูตีความหมายผิด เวลาทำแผนจัดประสบการณ์ ก็จะให้เด็กได้ร้องเพลง เล่นดนตรี ให้สนุกกับเพื่อน ถ้าเด็กทำได้ก็ประเมินว่าเด็กได้รับการพัฒนาด้านอารมณ์และสังคมแล้ว ในแผนนั้นไม่มีการสอนการพัฒนาเรื่อง Self-Management เรื่องการจัดการความโกรธและการควบคุมตัวเองเลย หรือทักษะทางสังคม ครูเพียงแบ่งกลุ่มให้เด็กทำงานด้วยกัน โดยไม่ได้สอนอะไร ไม่ได้ให้เด็กมาทบทวนหรือมาคิดว่าการทำงานร่วมกับคนอื่นนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง  หรือเวลาที่เด็กโกรธ ครูไม่ได้มีกระบวนการให้เด็กเรียนรู้เรื่องอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ เด็กก็ไม่เกิดการเรียนรู้พัฒนาด้านอารมณ์ สังคมจริงๆ

ถ้าเช่นนั้นแล้วเราควรจะส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะอารมณ์และสังคมอย่างไร

งานวิจัยเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social & Emotion Learning) ของ Jones and Bouffard (2012) ได้เสนอว่า

1. ให้พัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมผ่านบริบทในโรงเรียน กระบวนการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมที่ดีจะต้องเริ่มจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครอบครัว ซึ่งเป็นความสัมพันธ์พื้นฐานในชีวิต นอกจากนี้ทักษะทางสังคมและอารมณ์ของครูก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมของนักเรียน ครูที่มีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ดีมีแนวโน้มว่าจะมีส่วนช่วยพัฒนการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทางวิชาการ การเรียนรู้ทั้งสองส่วนนี้มีความเชื่อมโยงกัน เพราะการเรียนในห้องเรียนนั้นผู้เรียนไม่เพียงใช้ทักษะทางวิชาการเพื่อจะเข้าใจเนื้อหาเท่านั้น แต่ต้องอาศัยทักษะการสื่อสาร ทักษะในการเข้าใจอารมณ์ผู้อื่นเพื่อที่จะสามารถทำงานกับเพื่อน รวมถึงการควบคุมอารมณ์และจัดการตนเอง เพื่อที่จะเรียนรู้และทำงานได้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย ความสัมพันธ์เชื่อมโยงทั้งสองทักษะเช่นนี้ ทำให้ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมควรควบคู่ไปกับการเรียนเนื้อหาทางวิชาการ

3. ต้องจัดการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากทักษะเป็นความชำนาญ ต้องอาศัยการฝึกฝนปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นการทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจึงเป็นหลักการสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

4. มีระบบการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมที่เป็นเอกภาพ ทั้งในห้องเรียนและภาพรวมของโรงเรียนต้องมีระบบหรือข้อกำหนดในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้บุคลากรในโรงเรียนสามารถวางแผนพัฒนานักเรียนไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงสามารถนำระบบหรือมาตรฐานดังกล่าวมาเป็นข้อมูลเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้มีส่วนช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมของนักเรียนอีกด้วย 


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ