ความรักกับพัฒนาการของลูก

ในเดือนกุมภาพันธ์ คงไม่มีสิ่งไหนที่น่าจะพูดคุยมากไปกว่าเรื่องของความรักอีกแล้วนะครับ เพราะเรื่องความรัก ไม่ใช่เพียงแค่ความรักแบบหนุ่มสาว แต่ยังรวมไปถึงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ความรักของครูอาจารย์ที่มีต่อศิษย์ ความรักของมนุษย์ที่มีให้กับสัตว์ที่เป็นเพื่อนร่วมโลก และความรักที่มีให้กับตัวเอง ความรักเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก กล่าวได้ว่าความรักเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่สำคัญในการทำสิ่งใดๆ ให้สำเร็จ เพื่อหวังจะให้เป็นประโยชน์ต่อคนที่เรารัก และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อารมณ์สามารถอยู่เหนือเหตุผลได้อย่างง่ายดายเลยทีเดียว

ความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อลูกนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการของลูก การเลี้ยงดูด้วยความรักถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเลี้ยงเด็ก เพราะความรักไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรู้สึก แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกอีกด้วย ความรักที่พ่อแม่มีให้ลูก ทำให้เสียงของพ่อแม่ดูอ่อนหวาน น่าฟัง ทำให้พ่อแม่ยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อหวังให้ลูกอยู่สบาย ทำให้พ่อแม่สามารถอดทนต่อพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูกๆ ได้ ทำให้พ่อแม่สามารถอดหลับอดนอนเวลาที่ลูกไม่สบายหรืองอแง และทำให้พ่อแม่ดีใจอย่างที่สุดในวันที่ลูกประสบความสำเร็จ ดังนั้น การเลี้ยงลูกจึงเป็นพฤติกรรมที่มีความรักเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ และยังเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกอย่างยิ่งด้วย

ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในวินาทีที่รับรู้ได้ว่ามีหัวใจอีกดวงเต้นอยู่ในร่างกายของคุณแม่ และเพิ่มขึ้นในทุกๆ วันที่ลูกเติบโต จนถึงวันที่เขาพร้อมในการออกมาเปิดตัวกับดินแดนแห่งใหม่นอกร่างกายคุณแม่ การสบตาระหว่างพ่อแม่กับลูก การกอดสัมผัสระหว่างกัน และน้ำเสียงของพ่อแม่ที่ขับกล่อมในระหว่างที่ทารกนอนหลับ ทำให้เกิดการหลั่งของสารเคมีในสมองทั้งในฝั่งของพ่อแม่ และในฝั่งของลูก สารที่หลั่งในสมองนั้นคือ “ออกซิโทซิน (oxytocin)” อันเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการหลั่งน้ำนมและการหดตัวของมดลูกหลังคลอด (หรือที่เรียกกันว่ามดลูกเข้าอู่) ในปัจจุบันพบว่าฮอร์โมนชนิดนี้ยังทำหน้าที่ในการสร้างความรัก ความเชื่อมั่น และความผูกพันระหว่างคนสองคน นั่นก็คือคุณพ่อคุณแม่กับลูกด้วย ในต่างประเทศมีการศึกษาพบว่า การจัดให้ทารกดูดนมมารดาตั้งแต่นาทีแรกๆ ที่เกิดมา อันเป็นกลไกตามธรรมชาติในการกระตุ้นให้มีการหลั่งของออกซิโทซินในสมองของแม่ จะช่วยลดอัตราการทอดทิ้งทารกในโรงพยาบาลได้อย่างชัดเจน นั่นแสดงว่า ออกซิโทซินในสมองของคุณแม่ทำให้แม่ผูกพันกับลูกของตน และทำให้สัญชาตญาณของความเป็นแม่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้พบแค่ในมนุษย์ แต่ยังพบได้ในสัตว์อีกหลายชนิดด้วย ทำให้สัตว์กินเนื้อไม่กินลูกของตนเอง และทำให้สัตว์กินพืชยอมให้ตนเองตาย เพื่อให้ลูกหนีรอดจากผู้ล่าได้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบอีกด้วยว่า ออกซิโทซินในสมองของลูก นอกจากทำให้ลูกมีความรักและความผูกพันกับพ่อแม่แล้ว ยังเป็นปัจจัยช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะสังคม (Social skill) อันเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นของเด็กในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอีกด้วย ทักษะสังคมเป็นสิ่งที่บุคลากรด้านการดูแลเด็กกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดและอยู่อย่างประสบความสำเร็จของเด็กในสังคมยุคนี้ ตัวทักษะสังคมเองมีองค์ประกอบย่อยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถในการเข้าใจจิตใจของคนอื่น ความสามารถในการรับรู้ถึงความหมายของสีหน้าและแววตา ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ ไปจนถึงความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา อันเป็นส่วนที่คาบเกี่ยวกับทักษะสมอง EF ด้วย โดยมีรายงานการวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์ให้ออกซิโทซินพ่นทางจมูกในเด็กที่เป็นโรคออทิสซึม (Autism Spectrum Disorder) ซึ่งพบว่ามีความบกพร่องในด้านทักษะการสื่อสารและทักษะการเข้าสังคม แล้วพบว่าเด็กกลุ่มดังกล่าวมีผลการประเมินด้านทักษะสังคมดีขึ้น แสดงให้เห็นถึงบทบาทของออกซิโทซินต่อความสามารถด้านทักษะสังคมอย่างชัดเจน ดังนั้น ความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่มีให้กับลูกจึงไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกดีๆ ที่แสดงออกมาสู่ลูกเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านทักษะสังคมในวันที่ตัวเขาเติบโตและพร้อมเผชิญโลกกว้างด้วยตัวเองอีกด้วย