กิจกรรมง่ายๆ เพื่อส่งเสริมทักษะสมอง EF และการเรียนรู้ของเด็กๆ ในยุคโควิด-19
ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความของเดือนก่อนว่า รอบนี้เราจะมาคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยส่งเสริมทักษะสมอง EF และการเรียนรู้ให้กับลูกๆ ของพวกเรา อันจะไปช่วยแก้ปัญหาการเสียโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กๆ และปัญหาความเหนื่อยล้าในการดูแลลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่ในยุคนี้ได้ กิจกรรมและหลักในการดูแลเด็กดังกล่าวมีอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยครับ
“โลกนี้คือละคร” โดยหลักการแล้วเป็นการกระตุ้นเตือนให้คุณพ่อคุณแม่พึงระลึกว่า ทุกๆ การกระทำของท่าน จะมีสายตา (อย่างน้อย) คู่หนึ่งคอยดูอยู่ตลอด เปรียบเสมือนละครชีวิตที่มีคนเฝ้าติดตาม ดังนั้น ทุกๆ พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่จะถูกลูกๆ บันทึกและจดจำ แล้วนำไปแสดงออกในแบบของตัวเขา ดังที่หมอเคยได้เคยกล่าวไว้บ่อยๆ ว่า
“เด็กจะเรียนรู้ผ่านสิ่งที่ตัวเขาเห็น มากกว่าคำสอนที่เขาได้ยิน”
ยิ่งในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังรุนแรงอยู่อย่างเช่นตอนนี้ ทำให้ตัวเด็กจะต้องอยู่กับบ้านตลอดเวลา โรงละครโรงใหญ่ของเด็กๆ ก็เลยกลายเป็นที่บ้าน ที่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวละครในฉากต่างๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระวังการแสดงออกของพฤติกรรมที่อาจจะไม่เหมาะสมไว้ด้วยนะครับ อีกประการหนึ่งก็คือ เวลาที่พวกเราดูภาพยนตร์หรือละครก็ตามที การแสดงออกของตัวละครมักจะมีท่าทางที่โอเวอร์เกินจริง ซึ่งการเล่นกับเด็กๆ ก็ควรจะมีลักษณะแบบนั้น เพียงแต่อย่าเอาด้านร้ายๆ หรือภาพลักษณ์ของนางร้ายมาขยาย แต่เลือกเอาด้านดีๆ มาทำให้เด่นชัดขึ้นแทน เช่น เวลาชื่นชมก็ต้องเอาให้สุดๆ กันไปเลย หรือแสดงสีหน้าพึงพอใจที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นต้น เพราะตอนนี้ เวลาออกไปข้างนอกบ้าน เด็กๆ จะเห็นใบหน้าเพียงแค่ส่วนของดวงตาของผู้อื่นเท่านั้น ทำให้เด็กๆ ขาดโอกาสในการเรียนรู้ภาษากายที่เกิดจากการแสดงออกของสีหน้าและท่าทาง การอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ จึงเป็นโอกาสดีในการช่วยฝึกทักษะในด้านความเข้าใจสีหน้าและท่าทาง ซึ่งจะทำได้ยากในยุคที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นตอนนี้
“พื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนกลาง” เป็นการกำหนดขอบเขตพื้นที่ส่วนตัวของคุณพ่อ คุณแม่ และคุณลูก ว่าทุกคนจะต้องมีพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้เป็นพื้นที่สำหรับพัก ซึ่งคนอื่นๆ จะมารุกล้ำโดยไม่ขออนุญาตไม่ได้ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ไม่ต้องใหญ่โตอะไรมากนะครับ อย่างหมอเองก็กำหนดไว้เป็นอาณาเขตของโต๊ะทำงาน ส่วนของลูกก็เป็นบริเวณที่นั่งเล่นของเล่นของเขา ซึ่งอันนี้ทุกคนในบ้านต้องมากำหนดกันครับว่า จะให้พื้นที่ส่วนตัวของใครอยู่ตรงไหน มีกติกาอย่างไร หรือมีบทลงโทษอย่างไรหากมีการรุกล้ำโดยไม่ขออนุญาต (ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน) ซึ่งแน่นอนครับว่าเด็กๆ ก็มักจะพลั้งเผลอเข้ามาในส่วนของพ่อแม่โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่กติกาก็ต้องเป็นกติกา เด็กจะต้องเรียนรู้ในการเคารพสิทธิของคุณพ่อคุณแม่ และก็เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องบอกลูกๆ ตอนที่จะเข้าพื้นที่ส่วนตัวของเขาเช่นกัน แต่พื้นที่ในส่วนนี้ของลูกควรจะเป็นที่ที่ผู้ใหญ่สามารถสังเกตพฤติกรรมได้ชัดด้วยนะครับ ไม่แนะนำให้ใช้ห้องทั้งห้องเป็นพื้นที่ส่วนตัวและไม่แนะนำให้เอาอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของลูกนะครับ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องมีการกำหนดพื้นที่ส่วนกลาง เอาไว้สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันด้วย และมีการกำหนดเวลาคร่าวๆ (แต่ยืดหยุ่นได้บ้าง) เอาไว้สำหรับบอกเด็กๆ ว่าพ่อแม่จะมาเล่นกับเขาได้เมื่อไหร่ เพราะในช่วงวัยเด็กเล็ก การรอคอยโดยไม่มีเวลาสิ้นสุดนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากครับ จึงควรมีช่วงเวลาบอกเค้าเสมอว่า เราจะมาอยู่ด้วยกันในพื้นที่ส่วนกลางตอนกี่โมง และสิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องมาตามที่สัญญาไว้กับลูกด้วยนะครับ แต่หากมาไม่ได้จริงๆ ก็ควรต้องส่งสัญญาณบอกลูกก่อนนะครับ
“อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” เป็นการนำหลักการสำคัญของการฝึกการอดทนรอคอย หรือการทำในสิ่งที่ตัวเด็กไม่ค่อยชอบ (ซึ่งมักจะเป็นการบ้าน) มาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อันเป็นการฝึกทักษะความยับยั้งชั่งใจ อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของทักษะสมอง EF โดยสิ่งสำคัญคือการสอนให้เด็กๆ รู้ว่าหากตัวเขาสามารถรอคอยได้หรือสามารถทำในสิ่งที่ไม่ค่อยชอบได้ ผลลัพธ์ที่ได้จากการอดทนรอคอยหรือการกระทำนั้นๆ มันจะมีคุณค่าเสมอ ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องให้ของรางวัลพิเศษกับตัวเขาเสมอไปนะครับ แต่แรงจูงใจอาจจะเป็นคำชมที่ชมอย่างจริงใจ สิทธิพิเศษบางอย่างที่ตัวเขาจะได้รับเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่เป็นความภูมิใจของตัวเด็กเองที่สามารถทำอะไรบางอย่างได้สำเร็จก็ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับตัวเขาแล้ว โดยความสำเร็จของกิจกรรมในส่วนนี้จะขึ้นกับการชี้ให้ลูกๆ เห็นผลลัพธ์ของการอดทนรอคอยหรือการทำงานที่ตนเองอาจจะไม่ค่อยชอบว่า “หากทำได้สำเร็จแล้วจะทำให้เกิดคุณค่าได้อย่างไร” ทั้งกับตัวเด็กเองและกับคุณพ่อคุณแม่ครับ
“ครอบครัวเดียวกัน” เป็นกิจกรรมที่ให้คุณพ่อคุณแม่ถามลูกๆ เกี่ยวกับสิ่งของใกล้ตัวที่สามารถจัดเป็นหมวดหมู่เดียวกันได้ เช่น “ผลไม้อะไรที่มีคำว่า “มะ” อยู่ในชื่อบ้าง” หรือ “บอกชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในห้องนั่งเล่นของบ้านเรา” เป็นต้น อันเป็นการกระตุ้นทักษะสมอง EF ในส่วนของความยืดหยุ่นของกระบวนการคิด ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาของ EF ขั้นสูงต่อไป ซึ่งตัวคำถามก็ควรปรับให้ตรงกับสภาพแวดล้อม อายุและความสนใจของเด็กด้วย เช่น ถ้าลูกๆ ชอบสัตว์ก็อาจจะใช้คำถามว่า “สัตว์อะไรบ้างที่ออกลูกเป็นไข่” หรือถ้าชอบไปเที่ยวทะเลก็อาจจะถามว่า “จังหวัดอะไรที่ติดทะเลบ้าง” และที่สำคัญคือ อย่าลืมให้คำชมเมื่อเด็กๆ สามารถตอบได้ด้วยนะครับ
โดยเทคนิคเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่หมอได้นำมาใช้ในการทำกิจกรรมกับลูกๆ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงหนักหน่วงอย่างเช่นในตอนนี้ จะเห็นได้ว่า หมอจะพยายามให้กิจกรรมดูคล้ายและกลมกลืนไปกับกิจกรรมตามปกติของครอบครัวมากที่สุด เพื่อให้สามารถทำได้ง่ายและเป็นไปได้ในความเป็นจริง โดยไม่ต้องไปพยายามจัดกิจกรรมอะไรเพิ่มเติมเพราะคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองในตอนนี้ก็เหนื่อยกันมากอยู่แล้ว หมอหวังว่าบทความในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกๆ ครอบครัวนะครับ และเราจะผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน สู้ๆ นะครับ