คนที่ประยุกต์ใช้เรื่อง EF ในการพัฒนาเด็กหรือการศึกษา  ควรได้มองความเชื่อมโยงเข้าสู่ growth mindset ซึ่งเป็นความเชื่อหรือสมมติฐาน (assumption) ซึ่งใช้ได้กับทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องใด ตัวมนุษย์เองก็ตาม ปัญหาการศึกษาที่เราเผชิญความยากลำบากอยู่ก็ตาม หรือแม้แต่ปัญหาการเมืองที่เราเห็นอยู่ยากลำบาก หรือแม้แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็เช่นกัน  ถ้าเรามี growth mind set เราจะมีความเชื่อว่า “มันปรับปรุงได้ พัฒนาได้” พูดง่ายๆ ทำให้เราไม่ท้อถอย

 growth mindset นั้น ตรงข้ามกับ fixed mindset ซึ่งทำให้เรายึดมั่น ถือมั่น อยู่กับสิ่งเดิมๆ วิธีการเดิมๆ สภาพเดิมๆ ถ้าพิจารณาจากเรื่องของมนุษย์ จะเห็นได้ชัดเจนว่า มนุษย์นั้นประกอบมาด้วยธรรมชาติที่ประเสริฐอย่างยิ่ง มีศักยภาพสูง แต่สภาพแวดล้อม ระบบ หลายๆ อย่างที่มนุษย์คิดและสร้างขึ้นตลอดมานั้นมีทั้งส่วนที่ส่งเสริมและส่วนที่เป็นอุปสรรค  ทำให้พัฒนาการของตัวมนุษย์เองพัฒนาได้น้อยลงหรือชะงักไป ดังนั้นแนวคิดและวิธีการเรื่อง growth mind set จึงเป็นแรงผลักทางบวก

การที่เรามุ่งมั่นขับเคลื่อนที่จะพัฒนา EF ให้เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชน ก็เพราะเรามี growth mindset เรามีความเชื่อว่าเราสร้าง EF ได้ เราจะมีพลังในการสร้าง สู้ หาวิธีมาจัดการส่งเสริม EF ในระบบต่างๆ ตามกำลังที่เราทำได้  ตรงกันข้ามกับ negative หรือ fixed mindset  ซึ่งจะคอยบอกเราว่า อย่าทำเลย เสียเวลาเปล่า

และถ้าเราจะคิดหาวิธีต่อสู้ แก้ปัญหาหรือพัฒนาสิ่งใด  การคิดของเราก็จะไปเชื่อมโยงกับการใช้ทักษะสมอง Executive Functions ที่มีความสามารถในการยั้งคิด มี working memory สูง  มีการยืดหยุ่นไม่ยึดติด  เราจะนำปัจจัยต่างๆ มาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ผสมผสานกัน เพื่อวางแผนและหาทางดำเนินการต่อไปให้บรรลุ  

จึงพูดได้ง่ายๆว่า growth mindset ใช้ได้ในทุกเรื่อง และ Executive Functions ก็จะเข้าไปหนุนการทำเรื่องเหล่านั้นให้บรรลุความสำเร็จได้

ถ้าเราขยาย EF เข้าไปในการพัฒนาเด็กปฐมวัยได้ทั้งประเทศ ประเทศเปลี่ยนแน่นอน คุณภาพคนจะดีขึ้น ไม่เฉพาะเด็กเล็กได้รับการพัฒนา ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่โดยรอบก็จะได้รับการพัฒนา EF ไปด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

จะดูว่า ขับเคลื่อนเรื่อง EF แล้วอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ต้องไปดูที่ของจริง ดูในพื้นที่ ดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครู เด็กกับพ่อแม่ เด็กกับเด็กด้วยกันเอง ว่าเป็นอย่างไร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

ควรเชื่อมโยง EF เข้าไปหารูปธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ เข้าไปหนุนวงการต่างๆ เช่นวงการสงฆ์ วงการ NGO วงการธุรกิจ วงการศิลปะ กีฬา ฯลฯ ให้ EF เข้าไปอยู่ในทุกที่ทุกแห่ง เพื่อให้ EF ออกฤทธิ์ได้เต็มที่ จนเป็นเรื่องสามัญปกติ อยู่ในชีวิตประจำวัน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

สื่อชุด พลังสมองเด็กไทย สร้างได้ด้วยพลังชุมชน
ความรู้จากบทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช