โควิด-19 ระลอกใหม่ กับ EF ของคุณพ่อคุณแม่
สถานการณ์ในเดือนแรกของปีใหม่นี้ไม่ค่อยดีเลยนะครับ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้หลายๆ ท่านต้องปรับตัวทำงานอยู่ที่บ้าน แถมโรงเรียนก็ยังปิดอีก ทำให้เจ้าตัวน้อย หรือเจ้าตัวยุ่งของหลายๆ ครอบครัวต้องมาเรียนที่บ้านแทน ซึ่งบางทีก็เรียนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตั้งใจเรียนบ้าง แอบมองไปทางอื่นบ้าง หรือพยายามไปเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังทำงานอยู่บ้าง ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า คุณพ่อคุณแม่เกินครึ่งมีปัญหาความเครียดทั้งจากปัญหาโควิด-19 ที่กำลังระบาด ปัญหารายได้ที่ลดลง และการเรียนออนไลน์ของลูก ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างพอจะบรรเทาเบาบางไปได้ก็คือ EF ครับ เพียงแต่คนที่ต้องนำหลักของ EF มาใช้ในตอนนี้ ไม่ใช่แค่เด็กๆ เพียงกลุ่มเดียวแล้วครับ แต่เป็นคุณพ่อคุณแม่ด้วยครับ
ดังที่ได้เคยกล่าวไว้เกี่ยวกับ EF ว่า ตัว EF มีองค์ประกอบพื้นฐานอยู่สามอัน คือ ความจำใช้งาน การยับยั้งชั่งใจ และความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้บ่อยก็คือ “ความยับยั้งชั่งใจ” ครับ เพราะบ่อยครั้งที่การทำงานที่บ้านจะไม่สะดวกเหมือนที่ทำงาน ทั้งปัญหาจากอินเตอร์เน็ต ปัญหาจากการทำงานตามลำพัง และที่สำคัญ ปัญหาจากการที่ลูกๆ มาชวนท่านเล่น ทำให้ท่านไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหานี้ เป็นปัญหาที่ทุกครอบครัวต้องเจอ ตัวหมอเองก็เจอครับ และมันทำให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยและมีโอกาสหลุดหรือปรี๊ด คือเผลอโวยวาย เสียงดัง กับลูกๆ ของเราได้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่พวกเรา พ่อแม่ต้องพยายาม ในการยับยั้งและควบคุมตนเอง ในการสื่อสารกับลูก ซึ่งการกำหนดช่วงเวลาให้ลูกๆ ทราบว่า ท่านจะว่างตอนกี่โมง รวมถึงการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ทำในช่วงเวลาที่ท่านไม่สะดวก จะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหานี้ได้ครับ
อีกองค์ประกอบหนึ่งของ EF ที่ท่านต้องใช้ในการแก้ปัญหาก็คือ “ความยืดหยุ่นในกระบวนการคิด” ครับ นั่นคือ ท่านต้องประเมินและวางแผนว่า ท่านจะให้เจ้าตัวน้อยทำอะไร ในขณะที่ท่านต้องทำงานหรือกำลังเข้าประชุมอยู่ โดยที่กิจกรรมนั้น เด็กสามารถทำได้เองและไม่มารบกวนท่าน แต่กิจกรรมดังกล่าวต้องไม่ใช่การเปิดโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือให้เด็กดูนะครับ เพราะเด็กเล็กไม่ควรใช้อุปกรณ์เหล่านี้ หรือในกรณีเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อาจจะใช้ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของท่านเสมอครับ กิจกรรมหนึ่งที่หมอใช้แล้วได้ผล ก็คือ การให้เด็กๆ ระบายสี โดยใช้สีน้ำครับ หมอพบว่าเด็กส่วนใหญ่มักจะสนุกกับการผสมสี และระบายสีได้ค่อนข้างนาน จึงเป็นช่วงที่ท่านพอจะได้ทำงานหรือปลีกตัวไปพักได้บ้างครับ
สุดท้ายนี้ หมอหวังว่าทุกท่านจะนำหลักการของ EF ไปใช้ในการแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จนะครับ รวมถึงมีพลังในการสู้กับสถานการณ์ที่ลำบากนี้ไปด้วยกันนะครับ