นพ.ประเสริฐ : พ่อ แม่ Millennium วันนี้คุณมีปัญญาบังคับลูก Gen Z หรือ Alpha ให้เป็นไปดั่งใจต้องการได้จริงๆ หรือ?? ต่อให้บังคับได้ บังคับไปไหน บังคับเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบข้อสอบปรนัยนี้ จริงๆ หรือ?? แล้ว…ต่อให้เขาได้เกียรตินิยมออกไป คุณคิดว่าเขาจะรอดในโลกที่ร้อนขึ้น แล้วก็ AI เข้ามาแทนที่มนุษย์เร็วขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ หรือ???
(***เด็กอัลฟ่า คือเด็กที่เกิดหลังปี พ.ศ.2553 ในยุคสมัยของ Wifi / Smart phone และ Internet)
เรียนเก่งไม่ใช่คำตอบ เราต้องการเด็กที่ตัวตนแข็งแกร่ง สามารถที่จะหมุนชีวิตตัวเองอยู่ตลอดเวลา
มีสองเรื่องที่หนังสือที่เขียนถึงอนาคตพูดตรงกัน เรื่องที่หนึ่งคือโลกร้อน เดิมเรายังเถียงกันว่าแกล้งร้อน ปัจจุบันเราพบว่ามันร้อนจริงแน่แล้ว ปัญหาเรือนกระจกเรายังแก้ไม่ได้เลย ร้อนจริงแล้ว ถามว่าเด็กจะพบอะไร ความเป็นอยู่จะลำบากขึ้นทั่วโลก ภัยธรรมชาติจะสูงขึ้นแทบจะทุกเรื่อง นั่นคือสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่จะต้องเจอ พูดไทยเป็นไทยก็คือว่า เรียนเก่ง 4.0 แต่วิ่งหนีภัยธรรมชาติไม่ได้ก็จบกัน คุณต้องการสมองที่ใช้วิ่งหนีภัยธรรมชาติให้ได้ หรืออยู่กับมันให้ได้ เรียนเก่งไม่ใช่คำตอบ
ข้อที่สองคือสิ่งที่เราเรียกว่า Disruption ซึ่ง disrupt ทุกวงการ บริการทุกอย่างรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หุ่นยนต์ AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์มากขึ้น แต่งานใหม่ก็จะเกิด ปัญหาอยู่ที่เด็กอัลฟ่าแกร่งพอจะอดทนกับการเปลี่ยนแปลง แล้วก็ฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อรอรับงานใหม่ๆ และเครื่องมือใหม่ๆ ตลอดชีวิตจริงหรือเปล่า เด็กจะต้องมี Self – esteem ดี รู้ว่าฉันทำได้ คุณไล่ฉันออก ฉันฝึกอบรมใหม่ก็ได้ ทำได้ ไล่อีกแล้ว ฝึกอบรมใหม่ก็ได้ ดังนั้นเราต้องการเด็กอัลฟ่าที่ยืดหยุ่นมาก โดนเตะตกก็ลุกขึ้น กำหนดเป้าหมายใหม่ คิดยืดหยุ่นใหม่ สมองส่วนหน้า prefrontal cortex ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการของ EF ต้องแข็งแกร่งกว่าเดิม เพื่อรับมือกับหนึ่ง โลกร้อน สอง disruption ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะมาด้วยความถี่สูงแค่ไหน

คำศัพท์สูงสุดของระบบ EF คือคำว่า “คิดยืดหยุ่น” ถ้าไม่มีคิดยืดหยุ่นก็ไม่มีคิดวิเคราะห์ ถ้าไม่มีคิดวิเคราะห์ก็ไม่ต้องพูดกันเรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 ก็คือทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต ทักษะไอที
เราต้องการเด็กอัลฟ่าที่มีทักษะเรียนรู้ที่ดี กล้าคิดต่าง กล้าพูด สามารถทำงานเป็นทีมได้ แสดงความเห็นกับทีมจนกระทั่งเกิดนวัตกรรมได้ มีทักษะชีวิตที่ดี วางเป้าหมาย วางแผน กล้าทำ กล้ารับผิดรับชอบ ยืดหยุ่นพอจะเปลี่ยนแผน แล้วปรับแผนใหม่
คุณจะเลี้ยงลูกแบบไหน??? ที่ให้ได้แบบนี้ คำตอบคือ

3 ปีแรกคุณควรมีเวลาอยู่กับลูกพอสมควร เพราะ 3 ปีแรกเป็นการสร้างแม่ สายสัมพัน และตัวตน นี่เป็นจิตวิทยาพื้นฐาน ดังนั้น EF จะมาที่ประมาณ 4 ขวบ
4 – 7 ขวบ ทำอะไร?? ใช้นิ้วมือ เล่น ทำงาน สองอย่าง ขอให้คุณได้เล่นกับลูกๆ ก็มี Self – esteem จับลูกทำงาน การทำงานมีข้อดีเยี่ยมยอดคือมันไม่สนุก ดังนั้นเราเอางานวางหน้าของสนุก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กจะต้องอดทนผ่านความลำบาก ไปสู่ความสนุก นี่คือ EF
EF จะพัฒนาคู่ขนานไปกับทักษะศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ 4 ขวบไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว เข้มข้นขึ้นที่ชั้นประถม ชั้นประถมทำงานเป็นทีมให้มาก อย่าเรียนตัวใครตัวมัน ชั้นมัธยมก็ยังคงทำงานเป็นทีมให้มาก คิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น ความเป็นนามธรรมสูงขึ้น สมองคิดระดับสูงได้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้คือภาพร่าง เราต้องการให้ลูกเราเก่งขนาดนี้
เราต้องออกแบบระบบกันใหม่ ให้การศึกษานั้น เด็กคิดต่างได้ แล้วพอปะทะความคิดที่ต่าง ประชุมเป็น โดยมีเป้าหมายร่วม แปลว่าต้องกำหนดเป้าหมายร่วมเป็น เสร็จแล้วอย่าห่วง การทะเลาะกันที่ดีพออย่างคนมีอารยะ ความคิดสร้างสรรค์จะกระโดดออกมา นวัตกรรมใหม่จะกระโดดออกมา นี่คือการทำงานเป็นทีมที่แท้ คุณเก่งคนเดียวไม่ได้ คุณต้องเถียงกับคนอื่นก่อน แล้วคุณสองคนจะเก่งพร้อมกัน นี่คือทีม จะมาอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์ที่ว่าเราเอาตัวรอดคนเดียวไม่ได้ คล้ายๆ เรื่องเรือนกระจก เป็นที่แน่นอนแล้วว่าไม่มีประเทศไหนเอาตัวรอดประเทศเดียวได้จากปัญหาเรือนกระจก เทคโนโลยี Disruption ไม่เลือกประเทศ ไทย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลยเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย disrupt หมด คุณจะเลี้ยงลูกแบบไหน???
ไม่มีวันที่ใครจะรอดคนเดียวอีกแล้ว…

สื่อชุด พลังสมองเด็กไทย สร้างได้ด้วยพลังชุมชน
ความรู้จากบทสัมภาษณ์ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์