ทุกประสบการณ์ที่ประสาทสัมผัสของเราได้รับสิ่งเร้าจากภายนอก จะถูกส่งเป็นข้อมูลไปยังสมองส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์จำนวนมหาศาลในบริเวณนั้นๆ เชื่อมต่อกัน การเชื่อมต่อกันระหว่างเซลล์ประสาทมีสภาพเป็นวงจรโครงข่ายที่ซับซ้อน สร้างการเรียนรู้และส่งข้อมูลกลับไปยังอวัยวะต่างๆให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามา โดยมีเป้าหมายพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตคือ การมีชีวิตที่ปลอดภัย

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เมื่อเราถูกเข็มแทง ประสาทสัมผัสตรงผิวบริเวณที่ถูกแทงนั้น จะส่งข้อมูลไปยังสมอง การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทที่รับข้อมูลเข้ามา ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า สิ่งที่เรียกว่า “เข็ม แทงแล้วเจ็บ” หากเอาเข็มมาแทงอีกครั้ง ร่างกายของเราจะกระตุกหดตัวเข้ามา นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆที่ทำให้เราเข้าใจการทำงานของสมองอย่างง่ายๆ   

สมองของเราเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อจัดการร่างกายและจิตใจของเราให้ตอบสนอง และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อการมีชีวิตให้รอดและปลอดภัย

          ในความเป็นจริงชีวิตและสมองมีสภาวะที่ซับซ้อนน่าอัศจรรย์ สมองขนาดเฉลี่ยประมาณ 1,300 กรัมของมนุษย์นั้นประกอบด้วยเซลล์ประสาท (neurons) อยู่ 86,000-100,000 ล้านเซลล์ ในขณะที่ช้างอัฟริกันซึ่งมีน้ำหนักสมองมากกว่าคือ 2,848 กรัมกลับมีเซลล์ประสาทเพียง 5.59 ล้านเซลล์เท่านั้น    จำนวนเซลล์ประสาทที่มากมายนี้ถูกบีบอัดในเนื้อที่จำกัดของกะโหลกศีรษะ ทำให้สมองของมนุษย์มีรอยหยักมากกว่าสัตว์อื่นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ยังมีสมอง 3 ส่วน; ส่วนคิด ส่วนอารมณ์และส่วนสัญชาตญาณ ตามวิวัฒนาการเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น และสมองของมนุษย์ก็มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว ทั้งหมดนี้ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้และมีกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากกว่าสัตว์อื่นๆมาก

            สมองส่วนหน้าบริเวณหลังหน้าผากของมนุษย์ มีความสามารถที่เรียกว่า “ทักษะเชิงบริหารจัดการ” (Executive Function: EF) ซึ่งเป็นทักษะชั้นสูงของสมอง ทำหน้าที่ในการนำความจำจากประสบการณ์เดิมมาใช้งานในสถานการณ์ใหม่ ยั้ง หยุด ปรับเปลี่ยน กำกับ ประเมิน วางแผน ริเริ่ม คิดเชิงเหตุผล เข้าใจนามธรรม วิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดการชีวิตในระดับที่ซับซ้อนอย่างที่ไม่มีสัตว์ชนิดใดสามารถทำได้ เราจึงมีความรู้สึกและความคิดที่ซับซ้อนขึ้นจากการเรียนรู้ สร้างวัฒนธรรม ศิลปะ จนถึงสามารถคิดนวัตกรรมต่างๆก้าวไกลมาจนถึงทุกวันนี้

แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานในระดับสูงของสมองส่วนหน้า ก็เชื่อมโยงประสานกับการทำงานของสมองส่วนอื่นในสมองตลอดเวลา

          คนที่สมองส่วนหน้าทำงานได้ดีหรือที่เรียกง่ายๆว่ามีทักษะ EF ดี จะมีพฤติกรรมตอบสนองต่อผู้อื่นและสิ่งเร้ารอบตัวได้อย่างเหมาะสม พฤติกรรมที่ทำต่อเนื่อง จะนำไปสู่อุปนิสัย (หรือบางทีเรียกว่า “สันดาน”) ที่นำไปสู่ความสำเร็จ และความสุขในระยะยาวของชีวิต

แต่ทักษะสมอง EF ต้องการอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพของสมอง การนอนที่เพียงพอ รวมทั้งประสบการณ์ที่ดี ซึ่งต้องสั่งสมมาวันละเล็กวันละน้อย (ในวันที่ยังเป็นเด็กเล็ก คือการได้รับการกอด ได้เล่น มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เล่านิทานให้ฟัง ในวัยรุ่น คือการได้รับการกอด ได้ออกไปสำรวจเรียนรู้โลก และได้รับเกียรติ ความเชื่อมั่นและมีคนรับฟังฯลฯ) ครอบครัวจึงเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเด็ก ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และมีความสุขในชีวิต

 แต่ความเป็นจริง สภาพการแข่งขันและค่านิยมทุนนิยมในปัจจุบัน ทำให้ครอบครัวจำนวนมาก ได้รับความบีบคั้นให้ดำเนินชีวิตแบบเร่งรีบ หมุนตัวตามระบบเศรษฐกิจของการตลาดที่กระตุ้นการบริโภคตลอดเวลา อีกทั้งในระดับนโยบายประเทศ สังคมไทยไม่มีการลงทุนในการสนับสนุนครอบครัว ให้ทำหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาเด็ก ในขณะที่สังคมเคลื่อนเข้าสู่โลกสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว ความรู้และภูมิปัญญาการเลี้ยงดูเด็กที่สืบทอดมาไม่ได้รับการยกระดับและถูกละทิ้งไป ครอบครัวรวมทั้งสถานศึกษาในสังคมไทยจำนวนมากจึงไม่มีความเข้าใจเรื่องความรู้ฐานรากในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาการรอบด้านตามวัย การสร้าง Self ให้เห็นถึงคุณค่าของตนเอง และการพัฒนาทักษะสมอง EF เพื่อเป็นคนที่มีสมรรถนะและคุณลักษณะที่นำไปสู่ความสำเร็จและความสุขของชีวิต

รูปแบบของครอบครัวจำนวนไม่น้อย ผลักไสไล่ส่งเด็กที่เติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ไปสู่ปัญหาในรูปแบบต่างๆ ทั้งอาจเป็นผู้ก่อปัญหาและทั้งการตกเป็นเหยื่อ ตั้งแต่การเสพยาเสพติด ท้องไม่พร้อม การพนัน ความเครียด โรคซึมเศร้า ฯลฯ

              รูปแบบครอบครัวประเภทหนึ่ง ที่ผลักไสลูกไปสู่ความเสี่ยงจำนวนไม่น้อย ที่จำเป็นต้องพูดถึง คือ ครอบครัวที่ “อบอุ่นแต่อึดอัด” พ่อแม่มีเจตนาดีต้องการปลูกปั้นลูกให้ได้ดี Mindset ของพ่อแม่คือต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จ แต่ตีเส้นตีกรอบให้ลูกเดินตามมาตรฐานของสังคมที่ตนคิดว่าดี โดยไม่เข้าใจพัฒนาการและธรรมชาติของมนุษย์ ไม่คิดว่าเด็กหรือวัยรุ่นแต่ละคนมีความชอบและจุดเด่นไม่เหมือนกัน 

   ครอบครัวแบบนี้ใส่ใจลูกในมุมของความสำเร็จมาก แต่รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อย ชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น เพราะคิดว่าจะทำให้ลูกมีแรงบันดาลใจไปตามฝันหรือความหวังที่พ่อแม่ตั้งไว้ แต่ในความเป็นจริง เด็กที่ถูกเปรียบเทียบจากคนที่ตนรักที่สุดคือพ่อแม่ จะเกิดความรู้สึกว่าตนไม่มีค่าหรือสูญเสีย Self พ่อแม่ไม่รักเขาอย่างที่เขาเป็น คือ การเป็นคนๆหนึ่งที่มีความคิดและหัวใจของตนเองและเป็น “ลูก” ของพ่อแม่ แต่รักเขาเพราะเขาทำตามที่สั่ง เป็น “ผลิตภัณฑ์” ตามคุณภาพที่พ่อแม่หมายมั่น

          อีกทั้งพ่อแม่จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จซึ่งคิดว่า บทบาทของตนเองคือผู้กำกับ ส่วนลูกคือ พระเอกนางเอก ที่ผู้กำกับต้องการปั้นให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นบทบาทของลูกคือการทำตามสิ่งที่ผู้กำกับบอก ในตอนที่ลูกยังเล็ก จะพบว่าเด็กๆจะทำตามที่พ่อแม่ต้องการได้ แต่เมื่อโตขึ้น พัฒนาการตามธรรมชาติของวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่แสวงหาอัตลักษณ์ของตนว่าอยากจะโตไปเป็นคนแบบไหน จะทำให้เขาเชื่อพ่อแม่น้อยลง ปัญหาต่างๆที่สั่งสมมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยก็จะมาแสดงออกตอนเป็นวัยรุ่น

          สภาพแวดล้อมสำคัญอีกส่วน ที่มีผลต่อคุณลักษณะและความสามารถของเด็กและวัยรุ่นคือ โรงเรียน ซึ่งในปัจจุบันเด็กใช้เวลาตอนที่ตื่นอยู่ที่โรงเรียน มากกว่าอยู่ที่บ้าน การที่เด็กได้รับความเครียดอย่างต่อเนื่องจากการเร่งเรียน และการเรียนที่เน้นแบบท่องจำก่อผลร้ายต่อเซลล์สมอง และการทำงานของทักษะสมอง EF 

การที่เด็กมัธยมคนหนึ่งขาดแรงจูงใจในการเรียนคณิตศาสตร์และทำคะแนนได้ไม่ดี เมื่อมองย้อนไป อาจจะพบว่ามีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น วัยรุ่นคนนี้อาจควบคุมความสนใจของตนเองไม่ได้ ความจำเพื่อใช้งานหรือการยืดหยุ่นทางความคิดขาดหรือบกพร่องไป จากการที่ในปฐมวัยอันเป็นโอกาสทองของชีวิตไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะ EF ของสมองส่วนหน้าดังที่กล่าวมาแล้ว

นอกจากนี้ ปัญหาที่รัฐและสังคมปล่อยให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงสิ่งยั่วยุทุกอย่าง ในขณะที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่มีวัคซีน คือการเรียนรู้ในเรื่อง Media Literacy ทำให้ใช้เวลากับสังคมออนไลน์และอยู่ด้วยกันเอง มากกว่าใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์กับครอบครัว ซึ่งมักจะทำกิจกรรมร่วมกันน้อยลงในช่วงที่ลูกเข้าสู่วัยรุ่น ขณะที่โรงเรียนเองไม่มีระบบรองรับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลง มีแต่ระบบตัดสินทำโทษเด็กที่ไม่ทำตามระบบ คัดรับเฉพาะเด็กเก่ง ล้วนเป็นระเบิดเวลาสำหรับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าปัญหาการเสพติด การติดเกมส์ การท้องไม่พร้อม พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โรคซึมเศร้า ที่สถิติปัญหามีแต่แนวโน้มเพิ่มขึ้น

อีกทั้งการให้เด็กออกจากโรงเรียนกลางคันไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาอะไร ยิ่งผลักดันให้วัยรุ่นของสังคมตกลงไปสู่หุบเหวของความยากจน และอาชญากรรม จากสถิติพบว่าเด็ก 66.86 % ที่ออกจากโรงเรียน โดยเฉพาะตอนอยู่ชั้น ม.สอง มีโอกาสที่จะก้าวไปสู่อาชญากรรมและความรุนแรง  นั่นมีความหมายแสดงนัยยะว่า เมื่อประตูโรงเรียนปิดรับ ประตูคุกก็เปิดรับวัยรุ่นอันสดใสเหล่านี้ทันที

สิ่งแวดล้อมหรือสิ่งเร้าจากภายนอก กระตุ้นให้เซลล์สมองทำงานเชื่อมโยงกันเป็นวงจร ตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิต และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม เมื่อทำบ่อยๆ ก็กลายเป็นอุปนิสัย กลายเป็นบุคลิกภาพและตัวตน วัยรุ่นในทุกวันนี้เป็นอย่างไร จึงไม่ใช่เกิดจากผลผลิตของตนเอง นั่นหมายความว่าวัยรุ่นคนหนึ่งเป็นอย่างไร ไม่ได้หมายความว่า เขาเกิดมาเป็นคนเช่นนั้น หากแต่วัยรุ่นแต่ละคนเป็นอย่างไรอยู่ที่สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เขาเป็นเช่นนั้น

และที่สำคัญ ประสบการณ์ที่ได้รับจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ คนในครอบครัว ชุมชนและสังคมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการทำให้วัยรุ่นมองเห็น Self หรือคุณค่าของตนเอง ซึ่งเป็นฐานแรกที่ต้องการการเติมเต็ม เพื่อเปิดทางให้สมองส่วนหน้า EF ทำงานฝึกฝนทักษะการทำงานขั้นสูงของสมอง วัยรุ่นต้องการความเข้าใจ ความรัก ความเชื่อใจ และต้องการการรับฟัง มากกว่าที่พ่อแม่เห็นหรือเข้าใจ รวมทั้งเขารู้จักพ่อแม่ดีกว่าที่พ่อแม่คิด เราจึงปกปิดความจริงกับลูกไม่ได้ นอกจากการทำหน้าที่เป็นคนที่อยู่เคียงข้างยามที่เขาต้องการ เข้าใจและสนับสนุนพลังศักยภาพด้านดีของลูกอย่างจริงจังและจริงใจ

การเปิดประตูใจ รับฟังมุมมองที่ลูกและลูกศิษย์คิด รับฟังสิ่งที่ลูกและลูกศิษย์พูด โดยไม่รีบตัดสินว่า ดีหรือไม่ดี ผิดหรือถูก เป็นประตูบานแรกที่ช่วยให้วัยรุ่นไม่สูญเสีย Self ยังเห็นคุณค่าตนเอง เมื่อเกิดพื้นที่ที่ปลอดภัย สมองส่วนอารมณ์ก็ไม่ต้องคอยกังวล หรือเป็นทุกข์ กระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้าจะได้ทำงานอย่างเต็มที่

แล้วผู้ใหญ่ก็จะพบว่าวัยรุ่น สามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้มากอย่างที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียว

ดังนั้น อย่าตั้งคำถามกับวัยรุ่นว่าทำไม วุ่นวายนัก
แต่ควรตั้งคำถามว่า ตนได้มีส่วนสร้างสภาพแวดล้อมอย่างไร ที่ผลักไสวัยรุ่นให้เป็นคนแบบนี้
แล้วถามต่อไปว่า จะสร้างระบบนิเวศน์แบบไหนให้วัยรุ่น           
รีบช่วยกันหาคำตอบให้ได้ แล้วลงมือทำ !


อ้างอิง:

วิวัฒนาการและกลไกของสิ่งมีชีวิต, idoctorhouse.com, May 1, 2016
-Paul Tough เขียน พชร สูงเด่น แปล, Helping Children Succeed (ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน), สำนักพิมพ์ Bookscape, กันยายน 2563