ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของมนุษยชาติ ความฉลาดเป็นหนึ่งองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ การทำงาน และการใช้ชีวิต ความฉลาดเกี่ยวข้องกับความจำเป็นทางวิวัฒนาการ ที่สิ่งมีชีวิตต้องการเอาชีวิตรอด

องค์ประกอบแรกของความฉลาดของสมอง คือความสามารถในการจดจำข้อมูล ที่อาศัยการทำงานของระบบความจำหลายส่วนในสมอง จนเกิดเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นระบบ

องค์ประกอบที่สอง คือความสามารถในการนำข้อมูลที่จำได้ ไปปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกันไป เป็นความสามารถในการนึกถึงข้อมูลที่มีอยู่ แล้วรู้วิธีนำข้อมูลหรือความจำที่มีอยู่มาผสมผสาน เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ เป็นความสามารถหรือทักษะพื้นฐานขั้นสูงของสมองส่วนหน้า ที่เรียกว่า “ความจำเพื่อใช้งาน” ในการประมวลประสบการณ์ที่ผ่านมา ตอบสนองต่อสถานการณ์ตรงหน้า เพื่อไปบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเรื่องนั้นๆ

          ในแง่วิวัฒนาการ ความสามารถในการจดจำข้อมูลและนำมาแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ทันที และสามารถใช้สิ่งที่เรียนรู้ ไปปรับปรุงใหม่และใช้เพื่อเอาชีวิตให้รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้

คนที่เรียกได้ว่าเป็น “คนฉลาด” จึงเป็นคนที่มีความสามารถในสองเรื่องดังกล่าวได้ดีและคล่องแคล่วกว่าคนทั่วไป คือมีความสามารถในการจำและนำความจำไปใช้งานได้ดี 

ส่วนหนึ่งของความฉลาดมาจากกรรมพันธุ์ แต่ปัจจุบันการค้นคว้าวิจัยทำให้พบว่า องค์ประกอบของสภาพแวดล้อมมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาความฉลาดของมนุษย์

          วัยรุ่นเป็นวัยที่สมองมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอีกครั้งในชีวิต หลังการพัฒนาอย่างน่ามหัศจรรย์ในช่วงปฐมวัย ไม่ว่าพื้นฐานจากทางกรรมพันธุ์จะมาเป็นอย่างไร สมองวัยรุ่นทุกคนสามารถจะพัฒนาได้อย่างมากอีกครั้งในช่วงวัยรุ่น ขอเพียงได้มีโอกาสให้วัยรุ่น เช่น

1. ได้มีพื้นที่ให้ออกค้นคว้า สำรวจสิ่งที่สนใจในปัจจุบันและอาจจะสนใจในอนาคต ความอยากรู้อยากเห็นและการออกสำรวจเป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งของมนุษย์ การได้มีโอกาสลงมือทำ ลองถูกลองผิดด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ การลงมือทำ ก่อให้เกิดความรู้จากประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า นำไปสู่การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทในสมองอย่างกว้างขวาง อันเป็นรากฐานข้อมูลของวงจรประสาทที่จะเชื่อมต่อ ขยายและเติบโต กลายเป็นความจำที่ถูกประมวล และประเมินให้พร้อมจะถูกนำไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆต่อไป การท่องจำหรือฝึกทำการบ้านตามที่ครูสั่งเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างความเฉลียวฉลาด หรือสร้างความสามารถในการเชื่อมโยงเรื่องราว แนวคิด และปัญหา ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

อีกทั้งหากต้องการให้วัยรุ่นฉลาด สังคม ผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้วัยรุ่นตั้งคำถาม รวมทั้งต้องตั้งคำถามที่ท้าทาย อันเป็นการชวนให้วัยรุ่นได้ออกสำรวจสำรวจโลกผ่านการขบคิด คำถาม “ปลายเปิด” จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นคำถามว่า “ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นแบบนี้” หรือ “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า….” ทำให้สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นสมองขั้นสูง ได้ฝึกฝนที่จะหยุดการคิดแบบเดิม ปรับเปลี่ยน ทดลองและทดสอบขอบเขตของความคิดของตน รวมทั้งได้ลงมือทำ เพื่อค้นพบ เข้าใจ และนำสิ่งที่เรียนรู้ ประมวลเป็น “ความจำเพื่อใช้งาน”ที่แข็งแรงยิ่งขึ้น

          2. ได้ฝึกฝน ควบคุมตนเอง มาร์ชแมลโลว์เป็นขนมสีขาวทำมาจากน้ำตาล เป็นขนมหวานที่เด็กๆอเมริกันชอบมากที่สุด นิยมนำไปย่างกับไฟอ่อนๆก่อนรับประทาน ในการทดลองของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดย ดร.    มิเชล วอลเตอร์ ได้ให้ครูนำขนมมาร์แมลโลว์ใส่จานวางไว้ตรงหน้าเด็กโดยบอกว่า “หนูอยากจะกินตอนนี้เลยก็ได้นะ แต่ถ้ารอได้อีก 15 นาที หนูจะได้เพิ่มเป็น 2 ชิ้น” ในการทดลองมีทั้งเด็กที่ไม่สามารถรอได้ซึ่งจะหยิบขนมมากินทันที และมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่รอได้และได้รับมาร์ชแมลโลว์สองชิ้นตามสัญญา ในการทดลอง เด็กที่เพิ่งขึ้นชั้นอนุบาลถึง 72 เปอร์เซ็นต์ไม่สามารถรอได้ หยิบขนมเข้าปากก่อน เด็กเกรดสี่ จำนวน 49 เปอร์เซ็นต์อดใจไม่ไหว ส่วนเด็กเกรดหกลดเหลือ 38 เปอร์เซ็นต์ที่หยิบขนมมากินก่อนถึงเวลา แสดงพบว่าเด็กที่โตขึ้นมีความสามารถในการควบคุมตนเอง ยับยั้งชั่งใจไม่หยิบกินก่อนเวลาที่ตกลงกันได้ดีขึ้นกว่าเด็กเล็ก

          ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจเป็นทักษะของกลุ่มพฤติกรรมที่ทำงานในบริเวณสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นทักษะบริหารจัดการ (Executive Functions: EF) อันเป็นการทำงานขั้นสูงของสมอง ทำหน้าที่กำกับดูแล การวางแผน คาดการณ์ แก้ปัญหา และตั้งเป้าหมาย โดยทำงานร่วมกับสมองหลายส่วน ทักษะ EF ในเรื่องการยับยั้งชั่งใจ สามารถทำนายความสำเร็จของคนๆหนึ่งมากกว่าไอคิวที่คนนั้นมี

จากผลงานวิจัยดังกล่าวที่ได้ติดตามเด็กทั้งสองกลุ่มนี้ เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน 15 ปี พบความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญของเด็กสองกลุ่มที่มีทักษะควบคุมตนเองต่างกัน ในการสอบ SAT: Reasoning Test อันเป็นข้อสอบมาตรฐานที่ใช้ทดสอบการใช้เหตุผล เพื่อรับนักเรียนเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา พบว่าเด็กที่สามารถอดทนรอได้มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเด็กอีกกลุ่มถึง 125 คะแนน โดยเด็กที่สามารถรอคอยได้ถึง 15 นาทีสามารถทำข้อสอบ SAT สูงกว่าเด็กที่รอได้เพียง 1 นาทีนั้น ถึง 210 คะแนน

          ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า และมีสิ่งตอบสนองความต้องการเต็มไปหมด วัยรุ่นและคนที่มีทักษะ EF ดีจะมีความสามารถในการคัดกรอง เลือกแต่สิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อเป้าหมาย ทำให้จดจ่อกับภารกิจ ตัดทิ้งสิ่งรบกวนต่างๆ ออกไปจนทำงานสำเร็จได้ การมอบหมายโครงการที่มีกระบวนการซึ่งใช้เวลา โดยมีเป้าหมายเป็นของตนเอง และให้เด็กสามารถสำรวจ สร้างสรรค์วิธีการเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการด้วยตนเอง (ไม่ใช่ผู้ใหญ่คิดเอง แล้วให้เด็กทำตาม) จะเป็นโอกาสให้เด็กมีพลังที่จะควบคุมกำกับตนเองได้ดียิ่งๆขึ้น

          3. ได้มีโอกาสคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วย ความสามารถในการมองเห็นการเชื่อมโยงใหม่ๆในสิ่งที่มีอยู่เดิม แล้วสร้างวิธีการหรือกระบวนการใหม่ๆ หรือการสร้างผลลัพธ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เกิดขึ้น

 ความคิดสร้างสรรค์อาศัยกลไกการเชื่อมโยงวงจรประสาทหลายส่วนในการทำงานในสมอง โดยเฉพาะทักษะขั้นสูงของสมองส่วนหน้าที่สำคัญ (Executive Functions: EF) คือทักษะพื้นฐาน เรื่องความยืดหยุ่นทางความคิด (Shifting หรือ Cognitive Flexibility) ที่สามารถเปลี่ยนความคิดเมื่อบริบทหรือสถานการณ์เปลี่ยน จะมีบทบาทสำคัญในการคิดสร้างสรรค์ ทักษะนี้ของวัยรุ่นจะแข็งแรงขึ้นมาก เมื่อได้มีโอกาสเปลี่ยนมุมมองในการคิด การได้รับคำถามที่ท้าทาย แทนการให้ตอบคำถามที่มีแต่คำตอบที่ถูกกับผิดเพียงสองคำตอบเท่านั้น และได้รับอิสระในการลองคิดลองทำ ลองถูกลองผิดด้วยตนเองในหลากหลายวิธี

          4. ได้เรียนรู้และสื่อสารด้วยภาษาที่ลึกซึ้งและหลากหลาย นั่นหมายถึงได้มีสื่อประเภทต่างๆโดยเฉพาะหนังสือจำนวนมากพอ และมีคุณภาพมากพอให้วัยรุ่นของเราได้ค้น ได้อ่าน ได้ฟัง คนเฉลียวฉลาดมี “คลังคำ” ที่บริบูรณ์ ทำให้เข้าใจเรื่องราว ความหมาย และผู้คนได้ดี รวมทั้งสามารถสร้างสรรค์เรื่องราว ความหมายให้เข้าถึงผู้คนได้ในรูปแบบใหม่ๆในบริบทต่างๆดีด้วย

          5. ได้เรียนรู้การตีความสื่อสารด้วยภาษากาย ทักษะการสื่อสารด้วยภาษาพูดและภาษากายมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น แต่การสื่อสารทางกายบอกความจริงได้มากกว่าและดีกว่า

ความสามารถในการตีความภาษากายมีความซับซ้อนมาก จึงต้องการ “ประสบการณ์การมีปฏิสัมพันธ์”กับผู้คนแบบเผชิญหน้าที่มากพอ  วัยรุ่นจำเป็นต้องได้รับพื้นที่และโอกาสในการฝึกที่จะสานสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลาย เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารทางกาย ในภาวะ VUCA ของโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน  คลุมเครือ ต้องการความสามารถที่จะเข้าใจเจตนาและแรงจูงใจของตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง

วัยรุ่นที่เป็นออทิสติกนั้นมีความลำบากในการอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากมีความสามารถในอ่านอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นน้อยกว่าปกติ

             หากสังคมไทยต้องการให้วัยรุ่นเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังของประเทศที่มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อยกระดับประเทศให้พ้นไปจากกับดักรายได้ปานกลาง เราจะต้องเข้าใจว่า เพียงระดับมาตรฐานไอคิว ยังไม่พอที่จะระบุความเฉลียวฉลาดของคนในชาติ สมองของมนุษย์เหมือนกล้ามเนื้อ สามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อได้รับการกระตุ้นหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน ความฉลาดเพิ่มขึ้นได้จากการมีพื้นที่ให้กระหายใคร่รู้ การได้มีโอกาสสำรวจเรียนรู้โลกที่เป็นจริง ได้โอกาสตั้งเป้าหมายของตนและกำกับควบคุมตนเองให้ไปสู้เป้าหมายที่ตั้งไว้  การได้ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งการฝึกทักษะการสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษากาย 

              วัยรุ่นอันเป็นวัยที่ปลอกหุ้มเซลล์ประสาท ซึ่งถูกเรียกว่า ปลอกไมอีลีน (Myelin Sheath) ทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นโอกาสสำคัญครั้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จึงจำเป็นต้องได้รับความเข้าใจและเปิดโอกาสให้มีพื้นที่และประสบการณ์พัฒนาทักษะสมอง โดยเฉพาะทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นทักษะเชิงบริหารจัดการชั้นสูงของสมองส่วนหน้า

              เพื่อเป็นมันสมองของชาติที่พร้อมจะเข้ามาแบกรับขับเคลื่อนภารกิจของประเทศต่อไป


อ้างอิง:

         John Medina, ศิวพร วิไลเวทวิทยากร แปล, Brain Rules for Baby (กฎการเลี้ยงลูกแบบนักวิทยาศาสตร์สมองฯ), สำนักพิมพ์วีเลิร์น กทม., 2563

        Alison Koontz, The Circuitry of Creativity: How Our Brain Innovate Thinking, https://caltechletters.org/science/what-is-creativity, 7 ธ.ค.2564