กระบวนการฝึกครูเข้มแข็งตามแนวทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
ครูคือบุคลากรสำคัญที่สุดในการสร้างคนคุณภาพ โดยเฉพาะโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาที่มีเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งปัญญาภายนอกและปัญญาภายใน ซึ่งมีการคิดค้นแนวทางและวิธีการในการเรียนการสอนที่แตกต่างจากโรงเรียนในระบบการศึกษาทั่วไป รวมทั้งรับเอาแนวคิดเรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF และการพัฒนา Self มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วย ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นครูที่นี่จึงต้องได้รับการฝึกฝน โดยมีกระบวนการฝึกอบรมที่น่าสนใจที่โรงเรียนอื่นๆ สามารถหยิบไปใช้ได้เช่นกัน
1. เปิดตาเปิดใจ สำหรับการเป็นครูของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไม่ได้รับคัดเลือกแล้วให้สอนทันที ต้องผ่านขั้นตอนการฝึก โดยแรกเริ่ม 3 เดือนแรกที่เข้าเป็นครู ทางโรงเรียนจะให้ครูใหม่ได้ดูการเรียนการสอนและทำความใจกระบวนการทุกอย่าง แล้วให้ดูใจตัวเอง ให้ถามตัวเองว่าหลังจากได้เห็นบรรยากาศการทำงานของครู เห็นการเรียนการสอนแบบนี้รับได้หรือไม่ ถ้ารับได้จะเซ็นสัญญา 1 ปี เป็นครูผู้ฝึก
2. เรียนรู้จากครูพี่เลี้ยงและ PLC ในระหว่างฝึกจะมีครู Mentor ที่เก่งคอยเป็นพี่เลี้ยง คอยสอนให้ใช้นวัตกรรมการศึกษา ให้เข้าใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ที่แท้ กระบวนการ PBL (Project Based Learning) จิตศึกษา ให้เข้าร่วมวง PLC (Professional Learning Community) หรือชุมชนการเรียนรู้ของครู ทุกครั้ง เมื่อครบ 1 ปีถ้าครูสามารถผ่านกระบวนการต่างๆ ได้ดี ก็จะให้ทำงานและฝึกฝนต่อไปจนครบ 3 ปีจึงจะได้เป็นครูผู้สอน แล้วขยับไปเป็นโค้ช เป็นเทรนเนอร์ให้ครูใหม่
3. ปรับ Mindset ครูที่นี่จะต้องผ่านกระบวนการปรับ Mindset ในเรื่องการศึกษาแบบเดิมๆ ไปเป็นอีกแบบหนึ่ง ฝึกทักษะการสนทนาซึ่งเป็นพื้นฐานของ PLC ฝึกทักษะในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเด็กตามแนวทางของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ทั้งจิตศึกษาและกระบวน PBL (Project Based Learning) การจัดทำแผนการเรียนการสอนหน่วย PBL ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที
4. เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร ในระหว่างที่อบรม ครูยังจะพูดคุยกันถึงวัฒนธรรมองค์กร ที่สามารถเสนอการปรับเปลี่ยนวิถีวัฒนธรรม ข้อปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคและขัดขวางต่อการเรียนรู้ร่วมกันได้ และวิธีการจัดการแก้ปัญหาอุปสรรค
5. ทดลองใช้แผนการสอนและ Site Visit หลังจาก PLC แล้วครูนำแผนการเรียนการสอนมาใช้ สัปดาห์แรกอาจทำผิดบ้าง ไม่ราบรื่นบ้าง แต่สัปดาห์ที่ 2-3 ก็ดีขึ้น ประมาณ 1 เดือนต่อมา จะมีการออกเยี่ยม หรือ Site Visit ที่มีความหมายมาก เป็นการออกเยี่ยมเพื่อวิพากษ์ เพื่อ Empower ครู ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดี เพราะครูได้ทดลองใช้แผนการสอนมา 1 เดือนแล้ว ครูกำลังสับสนวุ่นวาย ผู้ที่ออกเยี่ยมจะทั้งสาธิตการสอน และให้ครูของโรงเรียนนั้นๆ สอนให้ดู ตามด้วย PLC ซึ่งจะทำให้เห็นว่าครูทำผิดทำพลาดตรงไหน ดูระบบ ดูวิถีว่าเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร การออกเยี่ยมครั้งแรกนี้จะทำให้โรงเรียนก้าวกระโดด และคลี่คลายปัญหาที่ทับถมอยู่ในเดือนที่ผ่านมา นอกจากจะช่วยคลี่คลายในหลายประเด็นแล้ว ยังทำให้สนามพลังในโรงเรียนเชื่อมกันได้ดี ครูที่ออกไป Site Visit ด้วยกันก็จะได้เห็น เกิดความภูมิใจ เกิดทักษะขึ้นมาอีกระดับ
6. เรียนรู้ขาออก พอสิ้นภาคการศึกษา โรงเรียนจะจัดงานเปิดบ้าน เพื่อให้ผู้ปกครองเข้ามาดู ให้ออกแบบว่าผู้เรียนควรจะทำอะไรได้ เป็นการเรียนรู้ขาออกของครู
7. Super PLC ก่อนเปิดภาคการศึกษาที่ 2 มีการจัด Super PLC ครูทั้งโรงเรียนต้องมารีวิวหน่วยการสอนที่จะใช้ในภาคการเรียนถัดไป เพื่อให้เข้าใจ ใช้ได้แม่นยำ ลดทอนบางอย่างที่ไม่เหมาะ หรือเติมบางอย่างเข้าไป
8. PLN (Professional Learning Network) พอจบภาคการศึกษาที่ 2 ก็มี PLN ที่โรงเรียนเครือข่ายจะมารวมตัวกัน ร่วมกันถอดบทเรียน ถอดความสำเร็จ ปัญหาที่พบ รวมทั้งวิพากษ์แผนที่จะสอนในภาคการศึกษาที่ 3 ด้วย
จะเห็นได้ว่า เหล่านี้เป็นกระบวนการช่วยเหลือครูให้ได้เรียนรู้ เติบโตแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากจะเป็นการฝึกครูใหม่ให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว ครูทั้งหมดก็ได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน รวมทั้งโรงเรียนในเครือข่าย และผลพลอยได้ที่ยิ่งใหญ่เป็นการสร้างสนามพลังบวกให้เกิดขึ้นในโรงเรียนได้เป็นอย่างดีด้วย
ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
เนื้อหาจากการประชุมจัดการความรู้: การพัฒนาทักษะสมอง EF กับการเรียนรู้ของเด็กระดับชั้นประถมศึกษา ครั้งที่ 6 กรณีศึกษาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ