แนวทางสร้างเสริมเด็กประถมที่มีความสุข

สำหรับพ่อแม่ส่วนใหญ่แล้วคิดว่า ความสุขของลูกคือการที่ลูกได้มีชีวิตสุขสบาย มีสิ่งของเครื่องใช้อำนวยความสะดวกสบาย ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขภายนอก ที่ไม่ได้รับประกันว่าหากลูกเผชิญความเปลี่ยนแปลงผันผวนในชีวิต ขาดสิ่งเหล่านี้ แล้วลูกยังจะสามารถมีความสุขอยู่ได้ ความสุขที่แท้ซึ่งเป็นความสุขภายในต่างหากที่จะทำให้เด็กผ่านความยากลำบากที่อาจเผชิญไปได้ เป็นคนที่ล้มแล้วลุกได้ด้วยตัวเอง สามารถมีความสุขได้ง่ายๆ จากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว

จากการจัดการความรู้โดยสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กและนักการศึกษา ว่าเด็กวัยประถมควรได้รับการดูแลให้มีความสุขทั้งภายนอกภายในอย่างไร ไว้ดังนี้ 

สร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทั้งกายและใจ

  • สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนจะต้องปลอดภัย เมื่อเด็กเข้ามาในโรงเรียนต้องไม่มีความกลัว รู้สึกมั่นคง สบายใจ ทางกายภาพต้องปลอดภัย ไม่มีจุดที่เป็นอันตราย
  • เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีวิถีการปฏิบัติต่อกันอย่างปลอดภัย นั่นคือให้โอกาส เคารพกัน ให้เกียรติกัน ผู้ใหญ่ปฏิบัติต่อเด็กอย่างยุติธรรม ไม่มีการเปรียบเทียบ ไม่มีการกลั่นแกล้งกัน ยอมรับความแตกต่างของแต่ะคน สัมพันธภาพของคนในโรงเรียน ทั้งผู้บริหารกับครู ครูกับครู ครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียนต้องดี เด็กจึงจะรู้สึกปลอดภัย อบอุ่น มีความรู้สึกว่ามีพวกมีเพื่อน มีคนรับฟัง มีคนให้โอกาส
  • สิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อเด็กประถมมากที่สุดคือคือตัวบุคคล ในวัยประถมต้น คนที่แวดล้อมรอบตัวจะมีผลมากต่อการชี้นำว่าควรทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ส่วนในวัยประถมปลาย ผู้มีอิทธิพลคือกลุ่มเพื่อน ดังนั้น ครูและพ่อแม่จึงควรเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับเด็กให้มากที่สุด เพื่อที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาอย่างเป็นคนที่มีความสุข เป็นคนที่ทำให้ Self หรือตัวตนของเด็กเป็นไปในทางบวก

ส่งเสริม“ตัวตน”ของเด็กแต่ละคน สร้างการยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน

  • รากฐานที่สำคัญที่สุดคือทำให้เด็กได้รู้ตัวตนว่าตัวเองเป็นอย่างไร มีความสามารถอะไร อย่างไร สุขให้เป็น พึงพอใจกับตัวเองกับสิ่งที่มีอยู่ มองโลกในแง่ดี คิดบวก แก้ปัญหาอย่างถูกต้อง รากฐานสำคัญนี้จะทำให้เด็กมีเกราะกำบังที่เข้มแข็งและเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ก็สามารถที่จะลุกขึ้นแล้วก้าวเดินต่อไปจนพบกับความสำเร็จได้
  • ผู้ใหญ่จะต้องทำให้เด็กได้รับรู้ถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เช่น ให้เด็กมีโอกาสได้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองเพื่อให้ได้สะสมความสำเร็จ ได้รับการยอมรับ หากล้มเหลวก็ให้มีโอกาสที่จะลุกขึ้นทำใหม่ และไม่ถูกประณามเมื่อล้มเหลว

ส่งเสริมการสร้างสัมพันธภาพในหมู่เพื่อน

  • เพื่อนมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กวัยประถม เด็กหลายคนไม่อยากมาโรงเรียนเพราะเพื่อนไม่เล่นด้วย ไม่กินข้าวด้วย มีความสุขที่อิงอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่เริ่มจะก่อความสัมพันธ์  ถ้าได้รับการยอมรับจากเพื่อน เช่น ให้กินข้าวด้วย เล่นด้วย ยอมให้เข้ากลุ่มด้วย เด็กจะมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมกลุ่มนั้น (sense of belonging) และมีความสุข อยากมาโรงเรียน แม้บางคนจะไม่ชอบเรียนหนังสือหรือถูกครูดุว่าก็ตาม
  • ครูควรระวัง หมั่นสังเกต เพื่อไม่ให้มีการกีดกันในหมู่เพื่อนเมื่อมีการแบ่งกลุ่มการทำงาน โดยเฉพาะถ้าครูเน้นการแข่งขันระหว่างกลุ่ม เด็กที่อาจจะทำสิ่งต่างๆ ช้ากว่าเพื่อน โดยสภาพทางร่างกาย หรือไม่ถนัดในเรื่องที่จะแข่งขันกัน อาจจะถูกกีดกัน ไม่มีใครรับเข้ากลุ่ม เด็กจะรู้สึกว่าถูกรังเกียจ แล้วรู้สึกไปว่าตัวเองไม่ดี ไม่ประสบความสำเร็จ

สร้างเสริมทักษะสมอง EF

  • หากเด็กตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นปัญหา หรือเห็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม เห็นเพื่อนถูกรังแก แต่ไม่มีทักษะในการจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้า จะเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยทันที  หากสามารถจัดการกับสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปหรือเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนได้ เด็กจะมีความสุข  ดังนั้น การส่งเสริมทักษะสมอง EF จึงมีความสำคัญควบคู่ไปกับการดูแลอารมณ์ – สังคมด้วย
  • การรู้เท่าทันสถานการณ์รอบตัว รู้ว่ารอบตัวเกิดอะไรขึ้นบ้าง และควรจะต้องจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ อย่างไร เป็นสมรรถนะหนึ่งที่เด็กจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน ซึ่งวิธีหนึ่งที่สามารถจะช่วยฝึกฝนได้คือ การสร้างสถานการณ์จำลองเป็นประจำเพื่อให้เด็กได้ลองตัดสินใจ ให้ได้ใคร่ครวญกับตัวเองว่าคิดอย่างไรกับสถานการณ์เหล่านี้ นอกจากจะเป็นการฝึกตัดสินใจ เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ยังจะทำให้เด็กได้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของตัวเองด้วย

พ่อแม่ปรับทัศนคติ

  • พ่อแม่ปรับทัศนคติที่ยึดติดว่า “ลูกคือหน้าตาของพ่อแม่” หรือ “มีลูกเพียงคนเดียว พ่อแม่จึงทำให้ทุกอย่างได้” มาเป็นยอมให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้มาก ยอมให้ลูกผิดพลาด ล้มเหลว ไม่มุ่งเอาชนะอย่างเดียว และไม่เปรียบเทียบทั้งลูกตัวเองกับลูกคนอื่น หรือแม้แต่พี่กับน้อง

ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ