โลกเปลี่ยน บทบาทพ่อแม่ ครูประถมต้องเปลี่ยนด้วย

ปัจจุบันเราตระหนักแล้วว่า การเรียนรู้วิชาการอย่างเดียวไม่ทำให้เด็กมีความเข้มแข็งยืนอยู่ในโลกยุคใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้อีกต่อไป เด็กๆ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่ทำให้ปรับตัวอยู่ในโลกที่ผันผวน อยู่ได้ด้วยตัวเอง และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี เติบโตเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ร่วมสร้างนวัตกรรมและสร้างสังคมคุณภาพ

นักวิชาการทางด้านพัฒนาการเด็กและนักการศึกษาเห็นว่า เด็กในศตวรรษที่ 21 นอกจากจะได้รับการดูแลให้มีพัฒนาการ 4 ด้าน (กาย ใจ อารมณ์-สังคม สติปัญญา) ที่ดีแล้ว ควรได้รับการพัฒนาทักษะสมอง EF พัฒนา Self (ตัวตน) และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอารมณ์-สังคม (SEL – Social & Emotional Learning) เป็นพิเศษด้วย

ดังนั้น บทบาทของครูประถมจึงต้องเปลี่ยนไป การเรียนการสอนในชั้นเรียนประถมจะไม่ใช่ให้เด็กนั่งนิ่งอยู่กับโต๊ะเรียนแล้วครูบอกความรู้อีกต่อไป พ่อแม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการศึกษาของลูก ไม่มุ่งเน้นเฉพาะการเรียนรู้วิชาการอย่างเดียว จะต้องเน้นทั้งพัฒนาการ 4 ด้านซึ่งเป็นพื้นฐาน การเรียนรู้ทางอารมณ์ สังคม และการพัฒนาทักษะสมอง EF ด้วย

จากการจัดการความรู้โดยสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) นักวิชาการ นักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กได้มีความเห็นว่าพ่อแม่และครูประถมในศตวรรษที่ 21 ควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นดังนี้

เป็นผู้ส่งเสริมทักษะอารมณ์ สังคม และ Self

  • พ่อแม่ ครู จำเป็นต้องเรียนรู้ เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการ ทักษะสมอง EF และเรื่อง Self
  • ใช้เทคนิควินัยเชิงบวก ให้เด็กได้เรียนรู้การกำกับตัวเอง มีวินัยในตัวเองจากภายใน โดยไม่ต้องใช้การบังคับจากภายนอก
  • สอนเรื่องอารมณ์ การจัดการอารมณ์ ให้เด็กเข้าใจตัวเอง รู้จักจัดการอารมณ์ กำกับตัวเองอย่างเหมาะสม เข้าใจอารมณ์ผู้อื่น
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองและช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง เรียนรู้ว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้บ้าง การตระหนักรู้ตัวเองว่าทำอะไรได้แค่ไหน จะทำให้เด็กภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง เป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่อย่างพึ่งตัวเองได้ต่อไป
  • ไม่ด่วนตัดสิน ไม่ตีตราเด็กถ้าเด็กยังทำอะไรไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดี เพราะเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ มีจังหวะการเติบโตพัฒนาการไม่เท่ากัน เรียนรู้ได้เร็วช้าต่างกัน

เป็นผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อเด็ก

  • ใช้การเรียนแบบ Project-Based Learning / Problem-Based Learning  เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสได้ลงมือทำ ได้คิด ได้ตัดสินใจ ได้วางแผน ได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์-สังคม กับเพื่อนได้มากขึ้น
  • เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ ให้เด็กเรียนรู้ ได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างหลากหลาย เพื่อให้เด็กได้รู้จักตัวเอง ได้ค้นพบตัวเองว่ามีความถนัดความชอบ หรือมีความสนใจในเรื่องใด
  • ให้เด็กได้ลองทำ ได้พยายาม ได้ทำสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่อยาก ให้ได้ฝึกความอดทน ฝึกฝืนทำ เพื่อจะได้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะอะไร และได้อดทนทำสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง เมื่อได้ลองทำลองพยายามแล้วอาจค้นพบตัวเอง อาจเกิดความชอบในสิ่งนั้นๆ ได้
  • ชื่นชมให้กำลังใจในกระบวนการ ในความพยายาม  ไม่เปรียบเทียบกัน ไม่ทำให้เด็กเสีย self
  • ให้เด็กได้ Reflect การเรียนรู้หลังจบกิจกรรม สำรวจทบทวนตัวเองในแต่ละวัน จะช่วยให้เด็กได้รับรู้ตัวตน และฟังเสียงสะท้อนจากผู้อื่นที่มีต่อตนจนเป็นนิสัย
  • ให้เด็กได้อยู่กับเพื่อนวัยเดียวกัน ให้ได้ทำงานด้วยกันเป็นทีม เพื่อให้ได้ร่วมกันคิด วางแผน ตัดสินใจ ทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน เจรจาต่อรองกันหาทางประนีประนอมกัน

หากอยากทราบว่า ทักษะสมอง EF และการพัฒนาทักษะอารมณ์-สังคม (SEL – Social & Emotional Learning) สำคัญอย่างไร ติดตามอ่านรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง “ทักษะสมอง EF” และ  “New Normal ส่งเสริมการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมควบคู่ไปกับวิชาการ”  “เทคนิควิธีส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้พัฒนาทักษะอารมณ์ สังคม” “สัมพันธภาพครู-เด็ก ต้องมาก่อนการเรียนการสอน”


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ