กระบวนการสร้างพลเมืองเข้มแข็ง

ความเป็นพลเมืองเข้มแข็งคือเป้าหมายปลายทางของการศึกษาที่เราอยากให้เกิดขึ้นในเด็กเมื่อเติบโตขึ้น  ความหมายของคำว่า “เข้มแข็ง” อย่างแรกหมายถึง เข้มแข็งทางกาย  แต่ไม่ได้หมายถึงสมรรถภาพร่างกายอย่างเดียว แต่รวมถึงองค์ประกอบที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงคือ “กินเป็นอยู่เป็น” ต้องรู้จักที่จะกิน รู้จักที่จะรู้ว่าอะไรที่จะเป็นประโยชน์ อะไรที่จะไม่เป็นประโยชน์แล้วเลือกที่จะกินให้เป็น

อีกอย่าง เข้มแข็งทางจิตใจ มีสมรรถภาพจิตที่เข้มแข็ง และมีสุขภาพจิตที่ดี  การทำให้เด็กมีความสุขอย่างเดียวไม่พอ เด็กจะต้องมีสมรรถภาพจิตคือมีความอดทน ใจสู้ มีสติ มีสมาธิ และ สุขภาพจิตที่ดีต้องมีเมตตากรุณา (sympathy / empathy)  มีหลักของสังคหวัตถุสี่ คือ ทาน-เมตตา เกื้อกูล-ปิยวาจา อัตถจริยา-ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น สมานัตตา-มีความสม่ำเสมอ ประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย โดยพัฒนาด้านนอกกับด้านในไปพร้อมๆ กัน คือพัฒนาข้างในตนไปพร้อมๆ กับพัฒนาการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น สื่อสารเป็น รู้จักการมีปฎิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างเหมาะสม ร่วมไปกับความเข้มแข็งทางปัญญา คือ “คิดได้ คิดเป็น”  

พลเมืองเข้มแข็งเริ่มจากรู้จักตัวเอง กำกับควบคุมตัวเองได้     

เด็กที่เข้มแข็งเป็นเด็กที่รู้จักตัวเองดี และ “เพราะรู้จักตัวเอง จึงรักตัวเอง” เห็นคุณค่าในตัวเอง  เมื่อรู้จักตัวเอง ไม่ว่าในแง่บวกหรือแง่ลบ  self หรือตัวตนจะแข็งแรง  ถ้าเด็กไม่มี self-awareness หรือรู้จักตัวเองมาตั้งแต่ปฐมวัย เมื่อมาถึงชั้นประถม จะไม่สามารถสร้าง self-esteem ให้เกิดขึ้นได้ เพราะเด็กยังไม่รู้จัก ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง ไม่ศรัทธา ไม่เคารพตัวเอง

self-awareness กับ social-awareness หรือจิตสำนึกทางสังคม จะพัฒนาไปด้วยกัน เพราะถ้า self แข็งแรง ก็จะมีสามัญสำนึกหรือรู้ผิดชอบ เมื่อเคารพตัวเองก็จะเคารพผู้อื่น อยู่กับคนอื่นได้ จะพัฒนาขึ้นเป็น relationship ที่ดีในสังคม  เด็กคนใดมี self แข็งแรงหรือไม่ ดูได้จากว่ามีสุขภาพจิต (mental health)ดีหรือไม่ และมีการแสดงออกทางอารมณ์ในสังคมอย่างไร

พลเมืองเข้มแข็งจะกำกับตนเองได้ รู้ว่าควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร เป็นคนที่รู้เวลา รู้หน้าที่ จัดการตัวเองเป็น เมื่อจัดการตัวเองเป็น ก็จะเคารพกฎกติกามารยาท รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์

สรุปว่า เมื่อเด็กกำกับจัดการตัวเองได้ดี มีตัวตนที่เข้มแข็ง มีสุขภาพดี ไม่เป็นภาระของสังคม จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือสังคมได้

สภาพแวดล้อมที่สร้างพลเมืองเข้มแข็ง

การจะพัฒนาไปสู่ความเป็นพลเมืองเข้มแข็งได้ ต้องมีกระบวนการไปสู่ปลายทาง ได้แก่ การพัฒนาทางด้านร่างกายให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง  การพัฒนาทางด้านจิตใจและอารมณ์ คือรู้จัก เข้าใจอารมณ์ตัวเองและผู้อื่น สามารถจัดการตัวเองได้และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้  การพัฒนาทางด้านสังคม การเรียนรู้ การปรับตัวในการใช้ชีวิตในสังคม การอยู่ร่วมกับเพื่อนหรือกับสถานการณ์ต่างๆ  โดยการพัฒนาเหล่านี้อาศัยสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นตัวกระตุ้น เป็นต้นแบบในด้านต่างๆ ให้เด็ก เช่น การส่งเสริมคุณธรรมด้านวินัย การเคารพผู้อื่น เคารพกฎกติกา ฯลฯ

สภาพแวดล้อมที่ดี คือ…

สภาพแวดล้อมที่เป็นกัลยาณมิตร ปรารถนาดีต่อกัน ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งพ่อแม่มักเข้าใจผิด คิดว่าการเป็นกัลยาณมิตรกับลูกคือการต้องพยายามให้สิ่งที่ดีสำหรับลูก ช่วยเหลือลูกทุกอย่าง ในความเป็นจริงแล้วเป็นการทำร้ายลูกมากกว่า เพราะทำให้เด็กไม่รู้จักตัวเอง  พ่อแม่และครูควรเป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้รู้จักตัวเอง รู้จักกำกับควบคุมตัวเอง ให้เด็กได้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย สอนเรื่องอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ อย่างเข้าใจและมีเมตตา ไม่ใช่ด้วยการบังคับเคี่ยวเข็ญ หรือทำให้ลูกทุกอย่าง

สภาพแวดล้อมที่เป็นวิถี คงเส้นคงวา ทำซ้ำๆ ทำทุกวัน จึงจะหล่อหลอมคุณลักษณะที่ดีต่างๆ  และมีผลทางด้านความมั่นคงทางจิตใจของเด็ก เพราะเด็กคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ไม่ใช่ด้วยการบังคับ อีกเช่นกัน

พ่อแม่ ครู โรงเรียนต้องปรับบทบาท

  • พ่อแม่ต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มุ่งให้ลูกเรียนหนังสืออย่างเดียว เพราะพลเมืองที่เข้มแข็งไม่ใช่เด็กที่เรียนดีเพียงอย่างเดียว
  • พ่อแม่และครูต้องให้เด็กได้รู้หน้าที่ในฐานะสมาชิกของหน่วยย่อยต่างๆ และมอบหมายงาน หน้าที่ให้รับผิดชอบ เช่น เมื่ออยู่ในครอบครัว เด็กมีหน้าที่เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ช่วยทำงานบ้าน เมื่ออยู่ในโรงเรียน มีหน้าที่เป็นสมาชิกที่ดีของโรงเรียน ช่วยเหลือครู ช่วยเหลือเพื่อน  การช่วยทำงานบ้าน ช่วยเหลือผู้อื่นเป็นพื้นฐานของการฝึกให้เด็กนึกถึงคนอื่น นึกถึงส่วนรวม
  • โรงเรียนลดเรื่องการส่งเด็กเข้าแข่งขัน ยกเลิกการจัดลำดับคะแนน การยกย่องเด็กที่เรียนเก่ง เพราะทำให้เด็กมุ่งเรื่องการเอาชนะ เมื่อต้องการชัยชนะ เด็กจะขาดความเสียสละ ไม่มีน้ำใจ ไม่อยากที่จะช่วยเหลือใคร
  • ระบบการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนของครูต้องเอื้อให้เด็กสามารถรับมือกับปัญหากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นได้ เช่นสถานการณ์การระบาดของโรค การหย่าร้าง การเกิด การเจ็บ การตาย การเสียของรัก ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น เช่น เพื่อนที่สูญเสียของรัก ครูควรนำขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาให้เด็กได้พูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อให้เด็กได้เตรียมรับมือ รู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ต่างๆ จะจัดการตัวเองได้อย่างไร หรือช่วยเหลือเพื่อนๆ หรือคนอื่นได้อย่างไรบ้าง

ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ