จะสร้าง Passion ให้เด็กอยากเรียนรู้ เป็นผู้สร้างสรรค์ได้อย่างไร

ไม่ใช่เฉพาะครูศิลปะ หรือครูวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่จะจัดการเรียนการสอนให้เด็กเป็นผู้สร้างสรรค์ได้ ครูทุกวิชาสามารถทำให้เด็กคิดค้นสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน โดยเปิดโอกาส ตั้งคำถาม เชิญชวน ท้าทายให้เด็กๆ ได้คิดสร้างสรรค์ ให้คิดยืดหยุ่น คิดนอกกรอบ

เช่นการสอนวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง อาจจะตั้งคำถาม เช่น ถ้าเจ้าเงาะเดินเข้ามาในห้อง เด็กๆ จะตั้งคำถามอะไรกับเจ้าเงาะบ้าง หรือถ้าจะสอนในเรื่องการเขียนจดหมาย ครูนำด้วยการเล่าเรื่องซินเดอเรลล่า แล้วถามว่า ตอนนี้เวลาผ่านไป 20 ปีแล้ว จะเขียนถึงซินเดอเรลล่าว่าอย่างไร แล้วแลกกันอ่าน ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าสามารถทำได้กับทุกวิชา โดยเด็กยังอยู่ในเนื้อหาวิชานั้นๆ แต่สามารถคิดนอกกรอบ ยืดหยุ่นได้

ครูอาจจะใช้การจัดการเรียนรู้แบบ Problem-Based Learning ในวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย อังกฤษ คณิตศาสตร์ ส่วนศาสตร์อื่นๆ นำมาบูรณาการ วิธีนี้จะทำให้เด็กได้พัฒนา ได้สร้างสรรค์งาน จากการมีเวลาเรียน เวลาสร้างสรรค์งานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ติดปัญหาเรื่องเวลาเรียน

ครูต้องเปลี่ยน Mindset เปลี่ยนวิธีการสอน Coach เด็กให้มากขึ้น อดทนให้มากขึ้น เพิ่มทักษะในการใช้คำถามที่ท้าทายเด็กให้คิดต่อ เปิดโอกาสให้เด็กทำงาน ได้คิด ค้นคว้า เมื่อเด็กเรียนไปแล้วเกิดปัญหา อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไม่ควรเรียนเรื่องนี้ แต่ควรโฟกัสไปที่ปัญหา แล้วหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีครูคอยช่วยเหลือ ชี้แนะ

Passion อาจจะยังไม่เกิดทันทีในวัยประถม แต่พ่อแม่หรือครูควรให้เด็กวัยนี้ได้รับโอกาสฝึกฝน ให้ได้ทำสิ่งต่างๆ ให้มาก ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เด็กชอบเท่านั้น เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ที่กว้าง เป็นการฝึกสมรรถนะของจิตไปด้วย ที่ต้องฝืนทำสิ่งที่ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นเด็กควรจะต้องทำต้องฝึกหลากหลาย แล้วอาจจะพบว่าสิ่งที่ไม่ชอบ ก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ชอบก็ได้ กลายเป็นสิ่งที่มี Passion ได้

ครูต้องเป็นผู้สร้างความอยากรู้อยากเห็น จุดประกาย กระตุ้นให้เด็กอยากทำอะไรสักอย่างให้เกิดขึ้น โดยให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองแล้วนำมาถ่ายทอดสิ่งที่เรียนรู้ออกสู่สังคม ตัวอย่างเช่น ครูสอนให้เด็กทำของเล่นเอง จากความคิดว่าไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่นให้เสียเงินหรือราคาแพงๆ แต่สามารถทำเองได้ โดยให้เด็กนำวัสดุต่างๆ ที่มีอยู่มาสร้างสรรค์เป็นของเล่น ให้เด็กได้คิด ได้เลือกวัสดุ ได้ทดลองทำด้วยตัวเอง เด็กอาจทำรถมีล้อ แต่ทำไมรถวิ่งไม่ได้ เด็กจะหาทางทำให้ล้อหมุนได้ ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการทำ การลอง การสรุปบทเรียน จากนั้นให้นำเสนอ อธิบายให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งเด็กๆ จะเกิดความภาคภูมิใจ

ต้องได้รับการสนับสนุนจากทางบ้าน การจะทำให้เด็กเกิด Passion ได้ ครูต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ว่า Passion สำคัญอย่างไร จะทำให้เด็กรู้จักตัวเอง เกิด Self ได้พัฒนาทักษะสมอง EF ส่งเสริมพัฒนาการ นำไปสู่ความสำเร็จ เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองให้ความร่วมมือสนับสนุนลูกในการทำกิจกรรมต่างๆ         

TIPS ข้อแนะนำในการสร้างเสริมให้เด็กเกิด Passion

  • เด็กควรได้เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสนใจก่อน พอทำแล้วเจออุปสรรค ก็ต้องฝึกฝืนทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
  • ไม่ควรด่วนสรุปว่าการที่เด็กทำหรือไม่ทำอะไร เป็นเพราะเด็กชอบ-ไม่ชอบ เพราะจะพาเด็กไปสู่การไม่พร้อมที่จะอดทน 
  • ต้องให้เด็กได้พบเจอทั้งเรื่องบวก-ลบ สิ่งที่ชอบ – ไม่ชอบ แล้วให้ลงลึกไปเรื่อยๆ งานบางอย่างเด็กไม่อยากทำ ก็ต้องฝึกฝืน เพราะเป็นการฝึกตน ฝึกอดทน สู้สิ่งที่ยาก เมื่อทำเรื่องยากได้แล้ว เด็กจะภูมิใจ รู้สึกดีกับตัวเอง แล้วความรู้สึกทัศนคติจะเปลี่ยนไป 
  • ก่อนเข้าสู่กิจกรรม กำหนดกติกากับเด็กว่าต้องทำให้สำเร็จ 
  • ป้อนคำถามจุดประเด็น กระตุ้นให้สร้างวิธีใหม่ในการแก้ปัญหา ถามความรู้สึกของเด็กก่อนที่จะทำ ขณะทำเป็นอย่างไร หลังทำเป็นอย่างไร ทำแล้วได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง 
  • การเรียนรู้เรื่องที่ยาก หรือเด็กไม่รู้สึกสนุกที่จะเรียน อาจใช้วิธีเรียนรู้ผ่านการแสดงละคร ผ่านสิ่งประดิษฐ์จากฝีมือของเด็กเอง จะทำให้เด็กสนุกขึ้นและเรียนรู้เข้าใจได้
  • ครูและพ่อแม่เป็นผู้คอยสนับสนุน ให้กำลังใจ ให้ข้อคิด เป็นที่ปรึกษา เป็นกัลยาณมิตรพาก้าวข้ามอุปสรรค ปัญหา ช่วยเด็กมองปัญหาว่าทำไมถึงทำไม่ได้ แล้วช่วยกันหาทางแก้ปัญหา โดยใช้หลัก

ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ