แม่ที่มีอยู่จริง

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียนชี้ว่า “แม่ที่มีอยู่จริง” เป็นต้นทางของพัฒนาการที่ก้าวหน้าของลูก และสร้างอาวุธลับที่พ่อแม่ใช้พิชิตลูกวัยรุ่น

ใน 12 เดือนแรกของชีวิต ทารกมีหน้าที่ “ไว้ใจโลก” และ “ไว้ใจพ่อแม่” ก่อนจะเติบโตแยกออกไปจากอกพ่อแม่  ถ้าเด็กไม่ไว้ใจโลกหรือรู้สึกว่าโลกไม่น่าไว้ใจ พัฒนาการจะหยุดพัฒนา ไม่ก้าวต่อไป เช่น ถ้าทารกคลาน นั่ง ยืน แล้วล้ม ร้องไห้ แล้วไม่มีคนสนใจมาปลอบมาอุ้ม ทารกจะเกิดความรู้สึกไม่ไว้ใจ เมื่อไม่ไว้ใจก็จะไม่กล้าพัฒนาก้าวต่อไป ไม่ยืน ไม่เดิน ตามมาด้วยไม่พูด เรียกว่าพัฒนาการล่าช้า ซึ่งเกิดจากขาด “ความไว้ใจ” หรือ Trust ซึ่งเป็นพัฒนาการขั้นแรกของชีวิตมนุษย์

        ใน 12 เดือนแรก แม่จึงมีหน้าที่ดูแลลูกเพื่อทำให้เกิดความไว้ใจ 2 ขั้นตอนคือ ไว้ใจแม่ และไว้ใจโลก

การทำให้ลูกไว้ใจแม่ ไว้ใจโลก ทำได้โดยสร้างแม่ที่อยู่จริง เพื่อให้เด็กรู้ว่าอย่างน้อยมีคนๆ หนึ่งที่รู้ใจ ที่จะมาหาอย่างรวดเร็วทันทีที่ได้ยินเสียงเขาร้อง 

การสร้างแม่ที่มีอยู่จริง อยู่บนหลักการว่า “ผู้คลอดมิใช่แม่ ผู้เลี้ยงจึงเป็นแม่” คือ แม่ ในที่นี้หมายถึงใครก็ตามที่เป็นผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดเด็ก

ใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด แม่ต้องเลี้ยงลูกเองให้ได้มากที่สุด ท่อนแขน ทรวงอก เต้านม เสียงหัวใจ นี่คือแม่ เสียงร้องเพลง แล้วเห็นใบหน้า นี่คือแม่ แล้วในที่สุดเด็กจะสร้างใบหน้าขึ้นมาใบหนึ่ง เรียกว่า แม่ ทารกจะสร้างแม่ที่มีอยู่จริงในเวลาประมาณ 6 เดือน

เรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องกับการที่มีข้อห้ามไม่ให้เด็กดูจออิเล็กโทรนิกส์ทุกชนิดก่อน 2 ขวบ เพราะสมองเด็กเปลี่ยนแปลงพัฒนาเร็วมากในทุกวันทุกคืน (สมองมนุษย์สร้างจุดเชื่อมต่อประสาท หรือ Synapses 40,000 จุดต่อวินาที) การดูหน้าจอก่อนอายุ 2 ขวบ จะทำสมองเด็กพัฒนาขึ้นมาเพื่อเตรียมคุยกับจอเท่านั้น  เด็กจะไม่ว่ารู้ว่าวงกลมสองวง และรอยยิ้มวงพระจันทร์ที่เห็น เรียกว่า ใบหน้ามนุษย์ และใบหน้าที่สำคัญที่สุดคือใบหน้าแม่ พอเด็กพบแม่ ก็จะมองผ่านเลยดวงตาแม่ไป แม่ยิ้มให้ก็ไม่ยิ้มตอบ อาการไม่ยิ้มตอบแบบนี้ เรียกกันว่าเป็นอาการของ ออทิสติกเทียม   

ถ้าทารกเริ่มสร้างแม่ที่มีอยู่จริงได้ตอนอายุ 6 เดือน ตอนอายุ 8 เดือนจะสร้างวัตถุที่มีอยู่จริงได้ แม่เป็นวัตถุชิ้นที่ 1 วัตถุที่มีอยู่จริงอื่นๆ เป็นวัตถุชิ้นที่ 2
       เด็กวัยก่อน 8 เดือน ถ้าเอาผ้าคลุมของเล่นที่กำลังเล่นอยู่ เด็กจะไม่เล่นต่อ เพราะสำหรับเด็ก “ไม่เห็นคือไม่มี” แต่เด็กวัยหลัง 8 เดือนจะเปิดผ้าออก เล่นต่อ เพราะรำลึกได้ว่าของเล่นมีอยู่จริง อยู่ใต้ผ้านั่นเอง เช่นเดียวกับที่รู้ว่า แม่มีอยู่จริง แต่มองไม่เห็น (เพราะแม่ทำอย่างอื่นอยู่)
        เด็กแต่ละคนหาของเล่นใต้ผ้าได้เร็วช้าต่างกัน เพราะสำนึก “วัตถุมีอยู่จริง” ไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจาก “แม่มีอยู่จริงไม่เท่ากัน”

“แม่ที่มีอยู่จริง”สร้างสายสัมพันธ์ (Attachment) อาวุธลับดึงลูกวัยรุ่น

        แม่เป็นต้นทางของสิ่งที่เรียกว่า “สายสัมพันธ์”
       ในวัยประมาณ 13 เดือน เด็กเดินได้เป็นครั้งแรก เดินได้สัก 5 ก้าวแล้วหันมาหาแม่ ถ้าแม่ยังอยู่จะเดินต่อ แล้วหันกลับมาดูอีก เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เป็นพัฒนาการของสายสัมพันธ์ (Attachment) อาวุธอย่างเดียวที่พ่อแม่ทุกบ้านสามารถมีไว้ใช้เพื่อรับมือลูกในช่วงที่สมอง EF ของลูกยังพัฒนาไม่เต็มรูปแบบ เปรียบเสมือนเส้นเชือกที่ติดตัวลูกไปได้ทั่วโลกและตลอดกาลนาน…
       สายสัมพันธ์มีไว้ดึงลูกกลับบ้าน กลับมากินข้าวตอนหกโมงเย็นกับพ่อแม่ 

ในต่างจังหวัด พ่อแม่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกเมื่ออยู่ชั้นมัธยม 3 เด็กจะสตาร์ทรถออกจากบ้าน โดยไม่หันกลับมามองแม่ ทุกๆ ก้าวที่ออกจากบ้าน เด็กจะหันมาดูพ่อแม่น้อยลงทุกวัน ด้วยระยะทางที่ไกลขึ้นทุกวัน แต่เพราะสายสัมพันธ์ที่แม่สถาปนาลงในลูก แม่ก็ยังอยู่ในใจ แล้วแต่ว่าจะได้สถาปนาลงไปมากน้อยแค่ไหน เช่นครอบครัวหนึ่ง ถึงจะขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกไป ลูกก็จะทำตามที่ตกลงกัน ลูกจะฟังพ่อแม่ เช่น กลับถึงบ้านหกโมงเย็น ไม่ไปค้างคืนบ้านเพื่อน เจอไฟแดงแล้วแตะเบรกหยุด ถ้าออกไปดื่มเหล้ากับเพื่อน จะหยุดได้ที่แก้วที่สาม เพราะรู้ว่าวันรุ่งขึ้นมีสอบ ขณะที่อีกครอบครัวที่สายสัมพันธ์ไม่ดี เด็กไม่กลับบ้าน ไปนอนบ้านเพื่อน ขับรถฝ่าไฟแดง กินเหล้าไปเรื่อยๆ  ดังนั้นอาวุธเดียวที่แต่ละบ้านจะมีไว้รับมือวัยรุ่นได้คือสายสัมพันธ์ สายสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตลอดไป 

        แม่ที่ไม่มีอยู่จริงจะทำให้แม่ปลีกตัวไปเข้าห้องน้ำยาก ส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลยาก เด็กจะร้องไห้หน้าโรงเรียนหลายเดือน สายสัมพันธ์ที่ไม่มีอยู่จริงจะทำให้เด็กเข้าสู่อบายมุขง่ายและออกยาก โดยเฉพาะปัจจุบันที่อบายมุขเข้าถึงเด็กง่าย เมื่อมี “Wi-fi เด็กสามารถเข้าถึง Website โป๊ หรือการพนันได้ง่ายมาก ไม่ใช่แค่เพียงเด็กมัธยม แต่เด็กประถมด้วย

        ดังนั้นเราจึงต้องการแม่ที่มีอยู่จริง สายสัมพันธ์ที่มีอยู่จริง เพื่อเอาไว้ให้ลูกประถม มัธยมหันกลับมาหาแม่

สร้าง “แม่ที่มีอยู่จริง”  

        การให้แม่อ่านนิทานกับลูกทุกคืน คือการสร้าง “แม่ที่มีอยู่จริง” ที่ง่ายที่สุดในโลก และเป็นการประกันว่าแม่จะเข้าห้องนอนตอน 3 ทุ่มตรงทุกคืนเป็นเวลา 3 ปี  “แม่” จะชัดมากในความรู้สึกของลูก

       การอ่านหนังสือกับลูก ไม่ใช่อ่านเพื่อให้ลูกฉลาด เพื่อให้รักการอ่าน แต่เป็นการสร้าง “ต้นทาง” ทางหนึ่งเพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ก้าวไปข้างหน้า อีกทาง สร้างสายสัมพันธ์

      การอ่านนิทานยังเป็นการสร้างคลังคำ งานวิจัยบอกว่าถ้าพ่อแม่อ่านนิทานให้ฟัง เด็กจะได้คำศัพท์เยอะมาก ยิ่งมากยิ่งต่อยอด ดังนั้นบ้านไหนอ่านนิทานก่อนชนะ เหมือนม้าที่วิ่งไม่หยุด แต่ยิ่งไปกว่านั้น คลังคำเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของความจำใช้งาน (Working Memory) ด้วย

       ความจำใช้งานดีสร้างได้จากการอ่านนิทาน เล่น ทำงานบ้าน เด็กที่มีความจำใช้งานดี ปากถังของความจำใช้งานจะกว้างกว่า จะ Process ข้อมูลได้หลายๆ ข้อมูลพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าสั่งให้เด็กถูบ้าน เด็กคนหนึ่งจะทำด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ขณะที่อีกคนต้องบอกให้ไปหยิบถัง ไปรองน้ำ ไปหาผ้า บิดผ้า แล้วจึงถู เด็กคนหลังไม่ใช่ “นิสัยไม่ดี” หรือ “โง่” แต่เป็นเพราะความจำใช้งานไม่ดี  Processing ข้อมูลไม่ได้ ทำได้แค่ทีละขั้น เด็กบางคนทำการบ้านล่วงหน้าสามวันเจ็ดวันได้ เด็กบางคนพรุ่งนี้มีการบ้านอะไรยังนึกไม่ออก


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เรียบเรียงจากการบรรยายของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จากการประชุมจัดการความรู้ “การพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กวัยประถม-มัธยมศึกษา”
ณ ห้องประชุม สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ