สร้าง Self ที่ดีให้เด็กประถม

ปกนิตยสารไทม์เมื่อ 3 ปีก่อน มีภาพเด็กผู้หญิงนอนแล้วถ่ายภาพเซลฟี่ตัวเอง พร้อมแคปชั่น “Me and My Generation” หมายความว่าเด็กในรุ่นนี้ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และการปรากฏตัวต่อคนรอบข้าง นับว่าเป็นเรื่องดีที่เด็กยุคนี้มีแนวโน้มมุ่งความสนใจที่ตัวตน เป็นต้นทุนที่ดีมากในการที่จะฟูมฟักเรื่อง Self ให้เข้มแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ว่า “เป้าหมายของประถมศึกษาที่ควรจะเป็นในยุคหลัง 2015 คือต้องให้เด็กได้พึ่งพาตัวเอง ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง” ซึ่งมีฐานมาจาก Self ที่เข้มแข็งนั่นเอง

Self คืออะไร

เด็กทุกคนเติบโตขึ้นมาโดยควรต้องรู้จักตัวตนของตัวเอง รู้ว่าตัวเองคือใครและจะไปยืนอยู่ตรงไหนในโลก เด็กจึงจำเป็นต้องรู้จัก Self ของตน รู้จักภายใน ความรู้สึก ความคิด ศักยภาพ อารมณ์ ทักษะความสามารถ ข้อดี ข้อด้อย จนในที่สุดสามารถรู้ได้ว่าเขาจะเป็นใครในโลกนี้ เป็นผู้แก้ไขปัญหา เป็นผู้นำ หรือเป็นผู้สร้างนวัตกรรม ฯลฯ  เด็กต้องพาตัวเองไปค้นเจอตัวเองให้ได้

การที่เด็กคนหนึ่งจะรู้จักตัวเองได้ต้องมี Self-Awareness หรือตระหนักรู้ตัวเอง ในเรื่องความคิด ความรู้สึก การกระทำ และรู้ว่าตัวตนของตัวเองจะไปส่งผลกับคนอื่นอย่างไร

ในสหรัฐอเมริกา มีข้อกำหนดของรัฐในเรื่องสมรรถนะที่เกี่ยวกับ Self-Awareness ของเด็ก คือเมื่อเด็กอายุครบ 6 ขวบ เด็กจะต้องรู้ว่าตัวเองคิดอะไร และคิดได้ด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจะทำให้คนอื่นคิดอย่างไร คือรู้ว่ามีตัวเอง มีคนอื่น  สมรรถนะนี้เริ่มมาจากการที่เด็กสามารถบอกความรู้สึกตัวเองได้ก่อน

สำหรับเด็กในวัยประถมศึกษา Self เป็นฐานในการพัฒนาด้านต่างๆ  ถ้าเด็กรู้จักตัวตน มีตัวตนที่เข้มแข็ง เด็กจะเติบโตไปเป็นผู้เรียนรู้ที่ดี ไปเป็นผู้สร้างนวัตกรรม พัฒนาไปสู่ทักษะอื่นๆ มีฐานคิดที่ดี เป็นวัยรุ่นที่เข้มแข็ง

Self เด็กประถม เครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้

ในอดีต เป้าหมายของประถมศึกษาคือการสอนให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลขได้ บวกลบได้ สอนเรื่องค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม แต่ปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว ต้องให้เด็ก Survive ในสังคมได้ด้วยตัวของเด็กเอง  การจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ Disruption ได้ การเรียนวิชาการ การหาความรู้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญมากนักอีกต่อไป เพราะมีเครื่องมือให้ค้นคว้า ให้เรียนรู้ได้อย่างมากมาย รวดเร็ว และสอนกันได้ แต่เรื่องของทักษะด้านอารมณ์-สังคม Social Emotional ความหนักแน่นทางอารมณ์ EQ ดี ปรับตัวได้ การสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นกว่า ซึ่งถ้าเด็กมี Self ที่ดีเป็นเครื่องมือ จะสามารถเรียนรู้ต่อยอดเพื่อนำไปในชีวิตประจำวันได้  พึ่งพาตนเองได้  จากการมี Self Esteem และมี Self-Perception มองว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร 

ยังมี Self อื่นๆ อีกที่เด็กประถมศึกษาควรต้องได้รับการพัฒนา เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาเติบโตและเรียนรู้ที่ดี  ได้แก่

Self-Directed หรือ Self-Regulation หรือ Self-Control จะทำให้เด็กกำกับตัวเองที่ดี สามารถควบคุมตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆ ลุล่วง ไปสู่เป้าหมาย มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ปล่อยตัวเองให้ไปตกอยู่ในกระแสต่างๆ เช่น่ ติดเกม เป็นเหยื่อโฆษณา ทำตามเพื่อน ฯลฯ

Self-Resilience มีความมานะ บากบั่น อึดฮึดสู้ ล้มแล้วลุกได้ เจอความยากลำบากก็ปรับตัว เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าทางบวกทางลบก็เผชิญได้ ฟื้นตัวได้ดี เยียวยาจิตใจด้วยตัวเองเป็น จัดการอารมณ์ตัวเองได้ ไม่เก็บกด อยู่ด้วยตนเองได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด  

Self-Identity ช่วงวัยประถมเป็นช่วงที่เด็กกำลังเริ่มฟอร์มอัตลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งจะปรากฏชัดเจนเมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่น ดังนั้น การจะปลูกฝังให้เด็กเติบโตไปเป็นคนดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วงวัยประถมศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับที่เปียเจต์นักจิตวิทยาบอกไว้ว่า ตามพัฒนาการวัย 6-12 ปี เป็นวัยที่สามารถเข้าใจเหตุผลได้ดี       แม้ว่าการสร้างอัตลักษณ์จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นก็ตาม แต่ถ้าได้ส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ตั้งแต่ในวัยนี้ จะทำให้เด็กค้นพบตัวตนได้เร็ว โดยต้องอาศัยกระบวนการบ่มเพาะ สร้างสภาพแวดล้อม เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติพัฒนาการนี้จะช้ามาก ถึงขนาดที่เด็กบางคนเมื่อจบปริญญาตรีแล้วยังไม่รู้เลยว่าตัวเองต้องการทำอะไร

เด็กที่มี Self ที่ดี จะมีความมั่นใจ จะกล้าทำสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น จะเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ การพัฒนาตัวเองก็จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

Self ดี ชีวิตดี ไม่นอกลู่นอกทาง

เด็กที่ Self แข็งแรง จะไม่เอาตัวเองไปผูกติดกับเพื่อน มีความมั่นใจว่าถึงจะคิดเห็นไม่เหมือนเพื่อน (หากเพื่อนทำไม่ถูกระเบียบและมาชวนให้ทำตาม) ก็ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องทำผิดระเบียบไปด้วย มีสามัญสำนึกว่าถึงแม้ฉันทำตามระเบียบโรงเรียน แต่ฉันก็ยังมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนต่อไปได้ เด็กที่มี Self เข้มแข็ง จะรู้ว่าบรรทัดฐานทางสังคม (Social norms) ค่านิยมทางสังคม (Social Value) หรือกฎระเบียบคืออะไร อย่างไร ทำไมเราต้องปฏิบัติตาม เมื่อเด็กเติบโตไปเป็นวัยรุ่นจะมีปัญหาน้อย จะไม่ฝ่าฝืนกฎหมายเพียงเพราะรักเพื่อน ทำตามเพื่อน กลัวเพื่อนไม่ยอมรับ เด็กที่ Self ไม่แข็งแรง จะทำตามเพื่อน กลุ่มแก๊ง มากกว่าจะปฏิบัติตาม Norms ที่ถูกต้อง         

ปัจจุบันพบว่า เด็กวัยประถมศึกษาของเรายังมี Self ที่ไม่เข้มแข็ง เด็กเรียนไปเพื่อสอบให้ผ่าน ให้ได้คะแนนดีๆ ยังไม่รู้จักคำนึงถึงสังคมรอบข้าง ผลกระทบจากการกระทำของตน ซึ่งต่อไปอาจจะนำมาสู่ปัญหาสังคมได้ 

ส่งเสริม Self ก่อนสอนคุณธรรม จริยธรรม

ในอดีตการสอนคุณธรรม จริยธรรม เป็นการสอนทางตรงให้เด็กทำตามคำสั่งผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันผู้ใหญ่ไม่สามารถสั่งเด็กให้ทำตาม Norms ของผู้ใหญ่ได้อีกแล้ว เด็กมีความคิดเป็นของตัวเอง มีเพื่อน โดยเฉพาะมีสื่อโซเชียลที่ทำให้บรรทัดฐาน หรือ Norms ของสังคมเปลี่ยนไป ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงควรช่วยเด็กให้เกิดการพัฒนา Self ที่ดีในตัวเองก่อน เพื่อปูพื้นฐานให้เด็กมีความคิดเป็นของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง กำกับควบคุมตัวเองเป็น รู้เท่าทัน รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยไม่ต้องตามกระแสที่ไม่ดี ไม่ตกเป็นเหยื่อของการชักจูงไปในทางไม่ดี


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ปรารถนา หาญเมธี เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ