เมื่อได้รับการอบรมความรู้เรื่อง EF แล้วศน.สุภัคร พุทธานุ ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องการศึกษาปฐมวัย เห็นว่าความรู้ EF เป็นแนวทางที่สอดรับกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยมากที่สุด และยังสอดคล้องเข้ากับแนวนโยบายหลักจากกระทรวงฯ รวมถึงหลักสูตรปฐมวัย และหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นความรู้ที่ควรนำมาพัฒนาครูปฐมวัยเพื่อครูจะได้นำความรู้ไปพัฒนาเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้นศน.สุภัครจึงได้ขยายความรู้ EF โดยจัดอบรมครูในเขตพื้นที่การศึกษาที่ดูแลรับผิดชอบ 5 อำเภอ แล้วให้แต่ละอำเภอขยายความรู้ EF สู่เครือข่ายโรงเรียนปฐมวัย รวมทั้งมีแผนจะดำเนินโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียน EF ต้นแบบ”

การขับเคลื่อน EF ที่เป็นรูปธรรม

  • ขยายความรู้ EF สู่ครูโรงเรียนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ 5 อำเภอ โดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง  “กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะสมอง (Executive  Function) สำหรับเด็กปฐมวัยสู่ชีวิตที่ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21” ผ่าน Zoomและ Cloud Meetings รวมทั้ง Facebook Live ให้กับครูในสังกัด สพป.สุรินทร์ เขต 2 โดยร่วมกับทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มีโรงเรียนเข้าร่วมอบรมทั้งหมด 218 โรงเรียน แบ่งเป็นสองรุ่น รุ่นแรกโรงเรียนในอำเภอรัตนบุรี อำเภอสนม อำเภอโนนนารายณ์ รุ่นสอง โรงเรียนในอำเภอท่าตูม อำเภอชุมพลบุรี
  • เสนอความคิดต่อผู้บริหารที่จะร่วมมือกับศน.ในเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ในจ.สุรินทร์ ขับเคลื่อนเรื่อง EF ไปด้วยกัน

การสร้าง/ประสานเครือข่าย

  • ประสานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ในการจัดอบรมให้ความรู้ EF แก่ครูในเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบ
  • ประสานกับเครือข่ายครูปฐมวัยในแต่ละอำเภอเพื่อขยายความรู้ EF

การติดตาม/นิเทศ/coaching

  • สืบเนื่องจากการอบรม กำหนดให้ครูที่เข้ารับการอบรมคิดกิจกรรมเรียนรู้ที่ส่งเสริม EF เด็กปฐมวัย แล้วส่งผลงานเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในไลน์กลุ่มและเฟซบุ๊ก
  • ใช้ไลน์กลุ่มและเฟซบุ๊กในการสื่อสารเผยแพร่ความรู้และข่าวสารเกี่ยวกับเรื่อง EF รวมทั้งเป็นคลังตัวอย่างกิจกรรมเรียนรู้ที่ส่งเสริม EF เด็กปฐมวัย ทำให้ครูเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
  • มีแผนนิเทศการเรียนการสอนที่ส่งเสริม EF เด็กปฐมวัยในช่วงต้นปี 2565

การต่อยอด/นวัตกรรม/ วิจัย

  • ในปีงบประมาณ 2565 สพป.สุรินทร์เขต 2 จะดำเนินโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียน EF ต้นแบบ” โดยมีประธานชมรมปฐมวัยในทุกอำเภอเป็นผู้ช่วยในการขยายองค์ความรู้และพัฒนาโรงเรียน EF 1 อำเภอ 1 โรงเรียน EF ต้นแบบ
  • จะต่อยอดอบรมความรู้ EF ในเรื่องการออกแบบแผนการเรียนการสอนที่ส่งเสริม EF เด็กปฐมวัย แก่ครูในเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบ

การแก้ปัญหา

  • งบประมาณไม่เพียงพอ แก้ปัญหาโดยทำ MOU กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อร่วมมือกันจัดการอบรมครูเรื่อง EF ในปีงบประมาณหน้า
  • ปัญหาสถานการณ์โควิด ใช้การสื่อสารและอบรมผ่านทางออนไลน์หลายรูปแบบ

ผลสัมฤทธิ์ / การเปลี่ยนแปลง

  • ครูสามารถคิดสร้างสรรค์กิจกรรมเรียนรู้ EFและนำมาใช้เป็นกิจกรรม Home-Based Learning ในช่วงสถานการณ์โควิดที่เด็กต้องเรียนที่บ้าน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
  • ตนเองได้ต่อยอดความรู้ มีความมั่นใจที่จะถ่ายทอดความรู้สู่ครู
  • ได้นำความรู้ EF มาประเมินตนเอง ใช้ในการเลี้ยงลูก เข้าใจธรรมชาติเด็กมากขึ้น