Self – Esteem เป็น ประเด็นที่มีความสำคัญในการพัฒนามนุษย์ และเป็นคอนเซ็ปต์ทางจิตวิทยาที่ได้รับการศึกษาค้นคว้ามากในโลกปัจจุบัน

Nathaniel Branden นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ The Six Pillars of Self – Esteem ให้ความสำคัญว่า “Self-esteem คือระบบภูมิคุ้มกันของจิตสำนึก ที่จะช่วยสร้างพลังชีวิตที่เข้มแข็ง ให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ และความสามารถในการพลิกฟื้นจิตใจตนเอง เหมือนกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่จะช่วยเรารับมือกับความยากลำบากในชีวิต เช่น แคลเซียมช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูก ฟัน เป็นสารที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง  Self – Esteem ก็สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาความเข้มแข็งทางจิตใจ เราอาจจะไม่ตายจากการขาดแคลเซียม แต่มันก็จะทำให้ความสามารถของร่างกายเรามีจำกัด ถ้าไม่มี Self – Esteem เราก็ไม่ตาย แต่เราจะไม่สามารถมีชีวิตที่สมบูรณ์”

           พ่อแม่ชาวตะวันตกจะให้ความสำคัญในเรื่อง “ตัวตน” มาก คำว่า “Believe in Yourself – จงเชื่อมั่นในตนเอง” เป็นคำสอนที่ชาวตะวันตกพูดกับลูกเสมอๆ เพื่อบอกว่า เราสามารถทำทุกอย่างให้สำเร็จได้ ถ้าเรามีความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งที่จริงก็อาจพูดได้ว่า ถูกต้อง แต่ก็คงถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะทุกคนรู้ดีว่า ไม่ใช่แค่มีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างเดียวแล้ว ทุกอย่างจะสำเร็จได้โดยง่าย เพราะมีปัจจัยอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสิ่งใดให้สำเร็จ

          แต่แน่นอน การเชื่อมั่นในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง ยอมรับตนเอง เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการเริ่มต้นของการทำสิ่งใดๆ ให้สำเร็จ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในตนเอง มันจะแสดงออกถึงความคลางแคลงใจในตนเอง …ฉันจะทำได้จริงหรือ …ฉันไม่น่าจะทำงานแบบนี้ได้ …ฉันเป็นคนที่ทำอะไรไม่สำเร็จหรอก…  ซึ่งก็จะบั่นทอนความมั่นใจที่จะลงไปฝ่าฟัน หรือหากพบกับอุปสรรค ความคิดที่โผล่ขึ้นมาก็คือ …นั่นไง ฉันรู้อยู่แล้วว่าฉันทำไม่ได้หรอก… แล้วก็จะขาดพลังใจที่จะเอาชนะแก้ปัญหาอย่างพากเพียร

ตรงกันข้าม หากเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตนเอง ความรู้สึกก็จะต่างออกไป เขาจะบอกตนเองว่า “ลองดูน่า ฉันน่าจะทำได้…ถ้ามันยากเกินไปก็ยังอาจจะขอความรู้จากคนอื่นได้  …ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นยังไง  …อย่างมากก็แค่ไม่สำเร็จแต่ก็ได้ความรู้หรือประสบการณ์ น่าลอง…”  

Self -Esteem สำคัญในทุกเรื่อง โดยเฉพาะในการสร้างสัมพันธภาพ และในการได้มาซึ่งความสุข เราจะมั่นใจที่จะเปิดเผยกับผู้อื่น รู้สึกมีศักดิ์ศรี เห็นว่าเรามีความสามารถและมีแรงจูงใจเพียงพอที่จะเดินหน้า มั่นใจที่จะแลกเปลี่ยนสนทนาหรือจัดความสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างเสมอหน้า ไม่รู้สึกต้องหลบหน้าหลบตาใคร เมื่อมีโอกาสที่จะมีความสุขก็รู้สึกได้ว่า เรามีคุณค่า สมควรที่จะได้รับความสุขนั้น กล้ามองหาอนาคตที่เราจะเป็นผู้สร้างขึ้นเอง พูดได้ว่า Self – Esteem ทำให้เรามีชีวิตที่เติบโตเบิกบาน เพราะเราเชื่อในความสามารถของตนเอง และมีแรงจูงใจที่จะสร้างสรรค์หรือทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จ

Self- Esteem ทำให้เราสร้างความคาดหวังได้ในความสามารถที่เรามี  …เพราะฉันเป็นคนที่ทำอะไรทำจริง ฉันจึงเชื่อว่าฉันจะทำให้เขาเห็นด้วยกับความคิดของฉันได้… ฉันเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี เพื่อนมักจะวางใจให้ฉันเป็นคนประสานงานกับทีมอื่นให้สำเร็จ แล้วมันก็สำเร็จจริงๆ … ความคาดหวังนี้จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเรา และทำให้เราเปลี่ยนความคาดหวังไปเป็นความจริงได้ จึงอาจพูดได้ว่า Self- Esteem คือผู้พยากรณ์ที่อยู่ในตัวของเรานั่นเอง

ในขณะที่คนที่มี Self-Esteem ขาดพร่อง เมื่อได้รับโอกาส บ่อยครั้งอาจจะเครียดกังวลมาก แทนที่จะตื่นเต้นกับโอกาสที่ได้รับ กลับคิดแต่ว่าตัวเองไม่สมควรที่จะได้รับโอกาสนี้ ก็อาจจะรวนเรเกินเหตุ เครียดเกินเหตุ สับสนเกินเหตุ “ฉันทำไม่ได้หรอก มันยากเกินไป…ฉันไม่คู่ควร…” ในที่สุดก็เสียโอกาสนั้นไปจริงๆ 

บ่อยครั้งคนที่ขาดความภาคภูมิใจหรือไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ก็ไม่สามารถอธิบายได้อย่างมีเหตุมีผลว่า เพราะอะไร อย่างไร ทำไมเขาจึงไม่เชื่อมั่นตนเองแบบนี้ มันเป็นเสมือนจิตสำนึกที่เฝ้าบอกหลอกหลอนตนเองว่า …ไม่ใช่เรา …เราทำไม่ได้หรอก ทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหรือปัญหา คนบางคนที่ไม่เห็นคุณค่าตนเอง ก็จะไม่สามารถเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นได้ หรือไม่สามารถต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะประสบความสำเร็จ หรือสิทธิของตนที่จะมีความสุขได้

ประเด็นเรื่องสิทธิที่จะมีความสุขก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก มนุษย์เราทุกคนมีสิทธิที่จะมีความสุข แต่คนบางคนด้วยความรู้สึกว่าเราไม่ดีพอที่จะมีความสุข เราไม่เก่งพอที่จะได้รับความสำเร็จ เราไม่สมควรได้รับความรักความอบอุ่น ฯลฯ ทั้งนี้อาจจะเพราะว่าเราไม่เคยได้รับความรู้สึกดีๆ หรือคำชื่นชมที่สร้างสรรค์มาก่อน หรือเพราะใครบางคนคอยกรอกหูเรามาตั้งแต่เล็กว่า เพราะเราเป็นอย่างนี้นี่เอง เราจึงไม่สมควรได้รับโน่นนี่นั่น ทั้งที่จริงแล้ว ในวันนี้เรามีคุณค่าในตนเองมากมาย แต่เสียงจากอดีตเหล่านั้นก็ยังดังก้องก่อกวนอยู่ในหู และกระชากเราออกจากสิทธิที่เราควรจะได้รับเหล่านั้น

เราจึงต้องส่งเสริมเพิ่มพูนให้เด็กๆ มี  Self-Esteem สูง เห็นคุณค่าต่างๆ ในตนเอง …หนูทำสิ่งนี้ได้ หนูทำสิ่งนั้นได้ หนูประพฤติตัวน่ารัก หนูมีน้ำใจ… ตามพฤติกรรมที่เด็กได้ทำ การชื่นชมในความสำเร็จ ความพยายาม แม้จะเล็กน้อย แต่จะทำให้เด็กๆสะสมเก็บออมคุณค่าเล็กๆ เหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องทีละเล็กทีละน้อย ไว้ในหัวใจของพวกเขา และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เด็กๆก็จะมีจิตสำนึกที่เข้มแข็งนี้ซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในสมองและในจิตใจ เพื่อจะออกมานำการต่อสู้กับปัญหา ท้าทายอุปสรรค หรือเพื่อยืนยันสิทธิที่สมควรจะได้รับ และพยายามเพื่อให้ได้สิทธินั้นมาให้จงได้

มีตัวอย่างจากหนังสือ The Six Pillars of Self Esteem ซึ่ง Nathaniel Branden เขียนเล่าว่า ผู้หญิงคนหนึ่งตั้งคำถามกับจิตแพทย์ว่า ทำไมเธอจึงมักจะหลงรักผู้ชายที่แต่งงานแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้คิดใส่ใจจริงจังกับเธอ ครั้งแล้วครั้งเล่า หลังการพูดคุยกับจิตแพทย์ เธอก็เปิดเผยว่า เพราะพ่อของเธอเองทอดทิ้งครอบครัวตั้งแต่เมื่อเธอเป็นเด็ก และแม่ก็โทษเธอว่าเป็นต้นเหตุ เธอจึงรู้สึกแย่กับตัวเองมาตลอด การจากไปของพ่อและการที่เธอถูกแม่โทษว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อจากไป ทำให้เธอมองตนเองว่า ไม่มีคุณค่า ไม่คู่ควรกับการเป็นที่รักของใครๆ  พอโตขึ้นเธอก็ประพฤติตนในทางที่ทำให้ตัวเธอเองก็เชื่อไปกับความเชื่อที่ว่าตัวเองเป็นสาเหตุของปัญหาครอบครัว โดยไม่รู้ตัว เธอก็จะไปตกหลุมรักกับผู้ชายที่แต่งงานแล้ว ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็จะทิ้งเธอไป ซึ่งประสบการณ์แบบนี้ก็ย้อนกลับมาเป็นการตอกย้ำกับตัวเธอเองอีกว่า “…เห็นไหมล่ะ เธอไม่คู่ควรกับความรักจริงๆ”   

งานวิจัยทางจิตวิทยามากมายยืนยันว่า คนที่มี Self -Esteem สูงจะมีความมุ่งมั่นมานะอดทน ที่จะแก้ปัญหายาวนานกว่าคนที่มี Self -Esteem ต่ำ เพราะทัศนะที่เรามีต่อตนเองจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสูง ว่าเราจะตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตอย่างไร 

งานวิจัยอีกจำนวนมากยืนยันว่า Self-Esteem มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่ดีมีสุขโดยรวมของเราทุกคน และเราต้องตระหนักไว้ในใจเสมอว่า การเห็นคุณค่าในตนเองจะส่งผลกระทบต่อตั้งตัวเราเองและผู้คนที่อยู่รอบข้างเรา โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่กำลังเติบโตด้วย


อ้างอิง;

  • Courtney E. Ackerman, What is Self-Esteem? A Psychologist Explains, https://positivepsychology.com/, 2021
  • Nathaniel Branden, The Six Pillars of Self – Esteem, Bantam, 1995