สืบเนื่องจากคู่มือพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับครูปฐมวัย ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)ส่งมาให้กลุ่มงานส่งเสริมการศึกษาแจกตามโรงเรียนและศน.วิริยาร่วมดำเนินการแจกด้วย ทำให้ศน.วิริยาเกิดความสนใจเรื่อง EF รวมทั้งผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาได้อ่านหนังสือคู่มือนี้แล้วมีวิสัยทัศน์ว่า EF เป็นเรื่องดีที่ศึกษานิเทศน์ควรนำไปเป็นแนวทางพัฒนาครูและโรงเรียน ต่อมาศน.วิริยาได้เข้าอบรมเรื่อง EF ที่สำนักศึกษาธิการจังหวัดจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร แล้วนำความรู้ EF มาเป็นพื้นฐานจัดทำโครงการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนการสอนในระดับปฐมวัย ให้กับครูโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบที่เปิดการสอนระดับปฐมวัย และครูผู้ดูแลเด็กในสังกัด อปท. โดยใช้หนังสือคู่มือพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับครูปฐมวัยเป็นคู่มือให้ความรู้ EF แก่ครู แม้ว่าจะพบอุปสรรคในการขับเคลื่อนจากปัญหา “ผู้บริหารเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน” ศน.วิริยาก็ยังเห็นว่าสามารถที่จะสอดแทรกบูรณาการเรื่อง EF เข้าไปในโครงการพัฒนาครูและงานในความรับผิดชอบของศน.ได้

การขับเคลื่อน EF ที่เป็นรูปธรรม

  • สร้างพื้นฐานความรู้ EF ให้กับครูปฐมวัย โดยจัดทำโครงการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนการสอนในระดับปฐมวัย ซึ่งสอดแทรกกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนา EF สำหรับเด็กปฐมวัยให้กับครูโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาที่เปิดการสอนระดับปฐมวัย และครูผู้ดูแลเด็กในสังกัด อปท.และใช้หนังสือคู่มือพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับครูปฐมวัย ที่ได้รับจากสำนักงาน ป.ป.ส เป็นคู่มือให้ความรู้ EF แก่ครู

การสร้าง/ประสานเครือข่าย

  • สื่อสารประสานกับครูปฐมวัยในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 3

การติดตาม/นิเทศ/coaching

  • ดำเนินการนิเทศและพัฒนาทั้งแบบ face to face และผ่านระบบออนไลน์ ด้วยรูปแบบการนิเทศ “แบบบันได 6 ขั้น สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” คือ 1.ทำให้ครูตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย 2. เสริมสร้างความรู้และความสามารถให้ครูได้มีแนวทางหรือวิธีการพัฒนา EF ที่ถูกต้อง 3. วางแผนการนิเทศ  4. นิเทศโดยสังเกตการจัดการเรียนรู้ หลักฐานร่องรอยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริม EF 5. ร่วมกันสรุปผลการจัดการเรียนรู้ ดูว่าครูนำ EF ไปใช้อย่างไร มีปัญหาอะไร แล้วให้คำชี้แนะเพื่อการพัฒนา 6. ประเมินและสะท้อนผลเพื่อพัฒนา

การต่อยอด/นวัตกรรม/ วิจัย

  • จะดำเนินการขยายผลให้กับครูผู้สอนระดับปฐมวัยโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด และโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนระดับปฐมวัยต่อไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • จะส่งเสริมให้ครูสร้างนวัตกรรมและทำการวิจัยในชั้นเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัย

การแก้ปัญหา

  • “ผู้บริหารเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน” ผู้บริหารใหม่เปลี่ยนงบประมาณไปส่งเสริมเรื่องมอนเตสซอรี่ แก้ปัญหาโดยสอดแทรกบูรณาการเรื่อง EF ไปด้วยกัน เชื่อมโยงให้ครูเห็นว่ากิจกรรมการเรียนการสอนนั้นนอกจากเสริมสร้างพัฒนาการแล้วยังสร้างเสริมพัฒนาสมอง EF ด้วย และเสริมสร้าง EF ด้านใดอย่างไร 

ผลสัมฤทธิ์ / การเปลี่ยนแปลง

  • ครูผู้สอนระดับปฐมวัยในสังกัดมีความรู้ความเข้าใจ มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับเด็กปฐมวัย และสามารถจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและ EF สำหรับเด็กปฐมวัยได้