การพัฒนา Executive Functions (EF) จะทำให้คนเราเกิดทักษะความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต ซึ่งจะสอดคล้องกับคุณลักษณะพึงประสงค์ของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21
สถาบัน RLG ได้จัดการความรู้และเสนอ “คุณลักษณะพึงประสงค์ของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21” เมื่อปี พ.ศ. 2553 ว่าได้แก่
Self-Realization = รู้จักตนเองรู้จุดแข็งจุดอ่อน รู้จักอารมณ์ตนเองและสาเหตุของการเกิด
อารมณ์นั้นๆ รู้ศักยภาพของตนเอง รู้วิธีจัดการตนเอง
Humanity = เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ เคารพเพื่อนมนุษย์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา
Social Connections = มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่น ไม่ว่าคนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนในสังคมชุมชน
Creativity = คิดสร้างสรรค์ ไม่ติดกรอบเดิมๆ กล้าคิดในสิ่งที่ท้าทายและนำไปสู่การแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์
Resilience = มีความสามารถในการล้มแล้วลุก ผิดพลาดแล้วแก้ไขปรับปรุงได้ มีกำลังใจที่จะฝ่าฟัน ทำให้ก้าวผ่านอุปสรรคจนไปสู่ความสำเร็จได้
Learning Person = ใฝ่เรียนใฝ่รู้ มีกระบวนการ วิธีการในการเรียนรู้ที่ดี สามารถวิเคราะห์-สังเคราะห์สิ่งต่างๆได้ ทำให้ปรับตัวไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไม่เหยุดได้
Respect to Nature = เห็นความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามดูแลรักษาและอยู่กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์
เมื่อนำมาประสานกับความรู้เรื่อง EF-Executive Functions จะเห็นว่า ทุกคุณลักษณะข้างต้น ล้วนต้องมี EF เป็นพื้นฐาน เช่น คนที่จะรู้จักตนเองได้นั้น ต้องมี EF ด้าน Self-Monitoring ซึ่งเป็นทักษะในการติดตามประเมินตนเอง สะท้อนการกระทำของตนเองได้
คุณครูลองพิจารณาคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 ดูทีละข้อๆ แล้วเอา EF ทั้ง 3×3 ด้านไปวิเคราะห์เปรียบเทียบดู ก็จะพบว่าทั้ง EF และทั้งคุณลักษณะพึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 นั้นมุ่งสู่เป้าหมายและกระบวนการที่ตรงกัน ใช้องค์ประกอบชุดเดียวกันนั่นเอง
“ความเข้าใจเรื่อง EF จะทำให้คุณครูพัฒนาเด็กได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เด็กมีคุณลักษณะพึงประสงค์ที่จะสอดคล้องกับยุคสมัยในอนาคตได้ดี”