Benjamin Bloom นักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้นำเสนอทฤษฎีการเรียนรู้ที่รู้จักกันในชื่อ Bloom’s Taxonomy ได้จัดอันดับ “ความคิดสร้างสรรค์” ให้เป็นทักษะขั้นสูงสุดของการเรียนรู้ เพราะบุคคลต้องใช้ทักษะความรู้ความเข้าใจอื่นๆ ตั้งแต่ขั้นต้น เริ่มจาก

1) การจดจำข้อมูลและคอนเซ็ปต์
2) การเข้าใจและอธิบายความคิดและคอนเซ็ปต์
3) การประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่
4) การวิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยงความคิด
5) การประเมินและตัดสินใจ กว่าจะไปจนถึงขั้นสูงสุด คือ…
6) การคิดสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่

ความคิดสร้างสรรค์มักเริ่มต้นด้วยจินตนาการ และจากข้อมูลในอดีตก็ยืนยันให้เห็นว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์เราเคยจินตนาการไว้ กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นได้ในภายหลัง ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 1800 นักคณิตศาสตร์หญิงชาวอังกฤษ Augusta Ada King ได้จินตนาการถึงเครื่องจักรที่ใช้ในการวิเคราะห์คณิตศาสตร์ (ซึ่งต่อมาก็กลายมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเอง) และเธอเป็นคนที่นำเสนอ Algorithm ชุดแรกของโลก และวันนี้ โลกของเราก็ถูกครอบครองโดยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ล้อมรอบตัว บางคนจึงยกย่องเธอ ให้เป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก

หรือในปี พ.ศ. 2509 Gene Roddenberry จินตนาการถึงเครื่องสื่อสารแบบไร้สาย อีก 30 ปีต่อมา Motorola ก็ได้ผลิตเครื่องสื่อสารไร้สายนั้นขึ้นในปี 2539 ได้จริงๆ 

สำคัญ เมื่อเข้าสู่โลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนคลุมเครือที่สุด ความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นคุณลักษณะที่ต้องการมากที่สุด เพราะวิธีการเก่าๆที่มนุษย์เราเคยใช้แก้ปัญหามาตลอดหลายร้อยปี อาจจะใช้แก้ปัญหายากๆในศตวรรษนี้ไม่ได้แล้ว  

ถ้าพิจารณาในมุมของส่วนบุคคล ความคิดสร้างสรรค์ก็มักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ มนุษย์เราให้คุณค่ากับดนตรี ความบันเทิง เทคโนโลยี เราซาบซึ้งและต้องการมัน ก็เพราะมันช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆชัดเจนขึ้น  และทำให้ชีวิตดูง่ายขึ้น

สำหรับเด็ก ไม่มีอะไรที่จะพอใจและเติมเต็มความรู้สึกอิ่มใจได้ เท่ากับการได้แสดงตัวตนอย่างเปิดกว้างและไม่ถูกตัดสิน ความสามารถในการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างขึ้น จากความรู้สึกและประสบการณ์ที่ตนเองได้รับในช่วงปฐมวัย เป็นทั้งการสะท้อนสุขภาพทางจิตใจที่เข้มแข็งของเด็ก และเสริมสร้างพลังความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไปด้วย แล้วความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นใหม่ ก็จะกลับไปหล่อเลี้ยงการเติบโตทางจิตใจของเด็กๆอีก ทำให้พวกเขามีความพยายามที่จะทดลองความคิดใหม่ๆ วิธีคิดใหม่ๆ การแก้ปัญหาใหม่ๆต่อไป จนเกิดเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวของเด็กๆ ผลงานของความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ก็จะช่วยให้ผู้ใหญ่ พ่อแม่ หรือครูเรียนรู้ว่าเด็กกำลังคิด หรือรู้สึกอย่างไร

ให้โอกาสแก่ความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

จัดกิจกรรมที่เด็กสนใจ  พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูต้องเรียนรู้ที่จะรับฟัง สังเกต อย่างตั้งใจว่า เด็กๆ พูดอะไร สนใจอะไร  เพื่อที่เราจะได้คิดออกแบบหรือจัดกิจกรรมให้ตอบสนองความสนใจของเด็กๆได้

จัดกิจกรรมที่ใช้วัสดุอุปกรณ์และประสบการณ์ที่หลากหลาย เพราะการสร้างสรรค์นั้น ไม่ได้หมายถึงเพียงการวาดรูปหรือเล่นดนตรีเท่านั้น  แต่หมายถึงการคิดค้นสร้างสรรค์ได้ในกิจกรรมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่า การถ่ายภาพ งานประดิษฐ์ งานวิทยาศาสตร์ งานครัว งานซ่อมแซม ฯลฯ เพราะความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์นั้นไม่มีข้อจำกัด

ต้องให้เวลาแก่การสร้างสรรค์เพียงพอ เพราะเด็กต้องการเวลาที่จะคิด วางแผน ออกแบบ ลงมือทำ ทดลอง รวมถึงการทบทวนความคิดของพวกเขา  ดังนั้น หากอยากเห็นความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้น ต้องไม่เร่งเด็กจนเกินไป  ให้เวลาแก่ความคิดและความรู้สึกของเขาได้เติบโตงอกงาม และเมื่อเด็กๆทำงานเสร็จ ก็ควรมีเวลาให้เด็กๆได้นำเสนอ และแลกเปลี่ยนความคิดกัน 

ให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่แตกต่าง เด็กๆควรได้รับโอกาสที่จะร่วมงานสร้างสรรค์กับคนต่างวัฒนธรรม ต่างชาติพันธุ์ เพื่อจะเรียนรู้และนำเอาความหลากหลายมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งได้โอกาสสัมผัสคนหรือประสบการณ์ที่แตกต่างมากเท่าใด การนำเอาความแตกต่าง มาพัฒนาสร้างสรรค์และแสดงออกซึ่งความคิดของตน  ก็จะยิ่งมีพื้นที่ที่เปิดกว้างเท่านั้น  

ให้ความสำคัญกับกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์ เด็กอาจจะต้องใช้เวลานานในการสำรวจ การเลือกวิธีการหรืออุปกรณ์ อาจคิดกลับไปกลับมา อาจทดลองหลายครั้ง ซึ่งในทุกกระบวนการนั้นเด็กกำลังสะสมการเรียนรู้และการค้นพบตนเอง ผู้ใหญ่ควรชื่นชมและสนับสนุนความพยายามของพวกเขา อย่าเร่งเอาแต่ผลลัพธ์จนละเลยกระบวนการ

ความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ต้องไม่ถูกนำมาล้อเลียน ไม่ว่าเด็กๆจะแสดงออกความคิดและความรู้สึกของตนเองออกมาอย่างไร  พวกเขาก็ควรได้รับการยอมรับ ชื่นชม และเคารพทั้งสิ้น ไม่ควรมีการตัดสินถูก-ผิดทั้งสิ้น เพื่อหล่อเลี้ยงความอยากสร้างสรรค์ให้คงอยู่ต่อไป


อ้างอิง

  • BEN JOHNSON, 4 Ways to Develop Creativity in Students, HTTPS://WWW.EDUTOPIA.ORG/ARTICLE/4-WAYS-DEVELOP-CREATIVITY-STUDENTS), 2019
  • SIR KEN ROBINSON AND LOU ARONICA, CREATIVE SCHOOLS: THE GRASSROOTS REVOLUTION THAT’S TRANSFORMING EDUCATION, 2016
  • POWER OF CREATIVE PLAY | IMAGINATION.ORG