อย่าหวังพัฒนา EF แบบสำเร็จรูป
อย่าพัฒนา EF เด็กในห้องทดลอง ต้องฝึกในบริบทจริง

สมองอยู่ในศีรษะของมนุษย์เรามาตลอด ช่วยให้มนุษยชาติพัฒนาอารยธรรมมาหลายพันปี แต่เราเพิ่งมารู้จักธรรมชาติของสมองกันไม่นานนี้เอง ที่สำคัญและน่าทึ่งที่สุดก็คือทักษะสมอง EF – Executive Functions นี่เอง มันเป็นความสามารถที่สุดยอดที่สุดของเราเมื่อเทียบกับบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย  เพราะ EF ช่วยให้เรากำกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของเราได้อย่างมีสติรู้ตัว เพื่อให้เราไปถึงจุดหมายที่เราต้องการ

ไม่ใช่แค่กับเป้าหมายใหญ่ของชีวิต แต่เราใช้ EF กับเป้าหมายทุกอย่างแม้เล็กๆน้อยๆ ในชีวิตประจำวัน จะกินข้าว จะไปธุระ จะประชุมกับหัวหน้า จะไปรับลูก จะสอนลูกทำการบ้าน จะถกปัญหากับสามีภรรยา หรือจะตักเตือนลูกฯลฯ เรียกได้ว่าตลอดทั้งวันเราต้องใช้ EF ซึ่งเป็นเสมือนคนขับรถที่พาเราเดินทางชีวิตไปสู่จุดหมายให้ราบรื่น

ในประเทศไทยเวลานี้ จากการขับเคลื่อนขยายความรู้ความเข้าใจโดยสถาบันรักลูก เรื่อง EF ในกลุ่มพ่อแม่ ครูอาจารย์ และโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน กลายเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจมากขึ้น เราต่างตระหนักว่า ที่เรากำลังเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งนั้น ไม่ใช่เพียงให้กินอิ่มนอนหลับ  การที่เราอยากให้เขาเป็นมนุษย์ที่เติบโตสมบูรณ์พร้อมทั้งกาย ใจ สังคมและสติปัญญานั้น เราต่างกำลังทำงานกับสมองส่วนหน้าของเด็ก เพื่อให้เกิดทักษะสมอง EF นั่นเอง  

แต่ด้วยความรวดเร็วและต้องการความสำเร็จรูปของยุคสมัย ก็เลยทำให้คนจำนวนมากหลงเข้าใจไปว่า ถ้าเช่นนั้นเราก็จับเด็กมาเข้าคอร์ส ทำแบบฝึกหัดฝึกสมองกันสิ ดาวน์โหลดโปรแกรมเกมฝึกสมองในมือถือหรือคอมพิวเตอร์เกมมาให้เล่นมากๆ เพื่อฝึกการยับยั้ง ฝึกการยืดหยุ่น ฝึกความจดจ่อ ฝึกการจดจำ แล้วก็มาวัดกันว่าสมองของเด็กๆมีความสามารถเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

แน่นอน มีงานวิจัยที่รวบรวมได้ว่า กิจกรรมต่างๆหลายอย่างช่วยส่งเสริมพัฒนา EF ของเด็ก เช่น กีฬา ศิลปะป้องกันตัว การเล่นบอร์ดเกม การทำงานศิลปะ การเล่นดนตรี การเล่นเกมต่างๆ การเล่นบทบาทสมมติ การเรียนรู้ที่เป็นแบบ Active Learning ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่และคุณครูจำเป็นต้องส่งเสริม เพื่อให้โอกาสแก่สมองส่วนหน้าได้ทำงานพัฒนา EF ต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้เด็กเอาแต่เรียนด้วยการท่องจำตำราหรือเขียนแบบฝึกหัด แก้โจทย์วิชาการตะพึดตะพือเพียงอย่างเดียว 

แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่จัดทำได้ในห้องเรียน หรืออาจจะเป็นเสมือน “ห้องทดลอง” แต่หากต้องการให้เกิดผลดีต่อสมองส่วนหน้า ให้ทักษะสมอง EF สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตจริง เราต้องไม่ให้เด็กแค่ฝึกเล่นเกม เปลี่ยนรูป เปลี่ยนสี หรือทำกิจกรรมในห้องเรียนเท่านั้น แต่จะต้องให้เขาได้ฝึกฝน EF พัฒนาท่ามกลางบริบทของชีวิตจริง เช่น ถ้าอยากกินอาหารมื้อเย็น อยากจะกินอะไร (ตั้งเป้า) ต้องเตรียมอะไร (วางแผน) ถ้าขาดวัตถุดิบนั้นนี้จะทำอย่างไร (แก้ปัญหา จัดการ) ทำอย่างไรไม่ให้ข้าวไหม้หรือดิบ (จดจ่อ) ถ้ารสชาติไม่ได้อย่างต้องการ(ยับยั้งอารมณ์) จะแก้ไขปัญหาอย่างไร(ยืดหยุ่น พลิกแพลง ปรับปรุง) ทำจนเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารให้พ่อแม่ทานได้ (มุ่งเป้าหมาย)

          การให้โอกาส หรือหาโอกาส ให้เด็กได้ทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ในบ้าน กับเพื่อนในห้องเรียน หรือกับคนอื่นๆ ในสังคมรอบตัว จะเป็นพื้นที่ฝึกฝนพัฒนาทักษะสมอง EF ที่ดียิ่งกว่า 

เช่น ให้โอกาสเด็กได้ “ช่วยเหลือ ดูแลตนเอง” ตามวัย ในการจัดการข้าวของ เล่นเองเก็บเอง กินเองล้างเอง ดูแลเสื้อผ้าหรือห้องนอนของตนเอง นอนเองเก็บที่นอนเอง จัดกระเป๋านักเรียนเอง ออมเงินใส่กระปุก เป็นต้น อย่าให้พ่อแม่หรือมีพี่เลี้ยงบริการมากเกินไป จนทำอะไรไม่เป็น เพราะ “การทำอะไรไม่เป็น” นั้น คือผลลัพธ์ของการเสียโอกาสพัฒนาทักษะสมอง EF ที่น่าเสียดายที่สุด 

การที่เด็กได้สิ่งใดๆ มาง่ายจนเกินไป ก็เป็นการขัดขวางการพัฒนา EF เพราะมนุษย์นั้นใช้สมองในการแก้ปัญหาในชีวิตที่ซับซ้อน สัตว์ทั้งหลายไม่ต้องใช้สมองซับซ้อนเท่ามนุษย์ ดังนั้น การที่เขาได้สิ่งต่างๆมาโดยไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องแก้ปัญหา ทุกอย่างก็มาวางอยู่ตรงหน้า สมองเขาก็ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ฝึกฝน

          การหาโอกาสให้เด็กได้ทำงานบ้านตามวัย มีภารกิจที่ต้องช่วย จะเป็นภารกิจเฉพาะประจำตัวก็ดี เช่น มีหน้าที่ล้างจานหลังทานอาหารร่วมกันเสร็จแล้ว มีหน้าที่รดน้ำต้นไม้ นำขยะไปทิ้ง ฯลฯ หรือจะเป็นภารกิจที่ช่วยเหลือ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ทำร่วมกันคนอื่น เช่น ช่วยพ่อล้างรถ ช่วยแม่ทำกับข้าว ช่วยกันปลูกผัก ฯลฯ 

จะเห็นว่า ในระหว่างที่เด็กต้องช่วยเหลือตนเอง หรือช่วยทำงานบ้านตามวัยนั้น เด็กต้องเตือนใจตนเอง กำกับตนเอง อยากไปเล่นก็ยังไปไม่ได้ ให้งานเสร็จก่อน ต้องมีวินัย ทำตามเวลาตามเงื่อนไขที่ตกลงกันหรือที่ตั้งใจไว้กับตนเอง ต้องวางแผนถ้าอยากเล่นด้วยต้องรับผิดชอบหน้าที่ด้วย จะจัดสรรเวลาอย่างไร จะจัดการเรื่องต่างๆ อย่างไร ต้องแก้ปัญหา ต้องใส่ใจจดจ่อ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นกระบวนการพัฒนา EF ที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับบริบทจริง และจะเป็นประสบการณ์ที่ฝังแน่นเป็นโครงสร้างในสมองของเขาตลอดไป

ที่สำคัญที่ได้ตามมาด้วยคือ การชื่นชมในความสำเร็จของตนเอง “เราทำได้” การงานเป็นของขวัญให้เขามีกำลังที่จะพัฒนาต่อไป นั่นคือ Self – Esteem พัฒนาพร้อมไปกับการพัฒนา EF นั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม ในโลกที่เป็นจริง ไม่ได้มีปัจจัยที่ง่ายๆ ตื้นๆ ล้อมรอบตัวเรา แต่โลกนั้นซับซ้อน มีอิทธิพลของสิ่งต่างๆ ที่พร้อมที่จะเข้ามารบกวนหรือกระตุ้นความคิด จิตใจอารมณ์ของเราอยู่มากมายตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อ ค่านิยมสังคม ความรู้ ข่าวสารข้อมูลจากสื่อ ฯลฯ  

ซาบีน โดเบล (Sabine Doebel) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยจอร์ชเมสัน สหรัฐอเมริกา ได้เล่าถึงงานวิจัยของเธอที่ทำต่อ จาก Marshmallow Test ซึ่งเป็นงานวิจัยที่โด่งดังของ ศาสตราจารย์ ดร. วอลเทอร์ มิทเชล แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ชี้ว่า เด็ก 4 ขวบที่สามารถชะลอความต้องการ (Delay Gratification) ได้ เมื่อโตขึ้น (วัย 18 ปีและ 40 ปี) พบว่าจะมีพฤติกรรมต่างๆ ดีกว่า ยับยั้งการเข้าหาสารเสพติดได้มากกว่า ทำผิดกฎหมายได้น้อยกว่า

ซาบีน โดเบลเล่าว่า ในการวิจัยของเธอ เธอก็ให้เด็ก 4 ขวบชะลอการกินขนม Marshmallow เหมือนงานวิจัยของ ดร.มิทเชลเช่นกัน คือถ้าเด็กๆชะลอการกิน 1 ชิ้นแรกได้ตามเวลาที่กำหนด ตอนท้ายก็จะได้กิน 2 ชิ้น แต่เธอเพิ่มข้อมูลให้เด็กว่า “เพื่อนกลุ่มของหนูคนอื่นๆ รอกิน 2 ก้อนกันทั้งนั้น แต่อีกกลุ่มหนึ่ง พวกกลุ่มสีส้มน่ะ ไม่ยอมรอ” หรืออาจจะให้ข้อมูลแบบตรงข้ามว่า “เพื่อนกลุ่มของหนูไม่มีใครยอมรอเลย แต่กลุ่มสีส้มเขารอกันหมดเลย”

สิ่งที่ ซาบีนพบก็คือ เด็กที่เชื่อตามคำที่เธอบอกว่า เพื่อนในกลุ่มยอมรอกิน 2 ชิ้น ก็มีแนวโน้มที่จะไม่กิน แต่จะชะลอตามเพื่อน ส่วนเด็กที่ได้ข้อมูลว่าเพื่อนในกลุ่มของตนไม่รอ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่รอ ตามเพื่อนในกลุ่มไปด้วย

นอกจากนี้ เธอยังทำการศึกษาต่อหลังจากนั้นอีกว่า เมื่อเอารูปเด็กอื่นเป็นคู่ๆ ให้เด็กที่ทำการวิจัยดู แล้วให้ข้อมูลว่า “เด็กสองคนนี้ คนนี้กินขนมทันทีไม่ยอมรอ และคนนั้นไม่ยอมกิน แต่จะยอมรอให้ได้ 2 ชิ้น…..หนูชอบเด็กคนไหนใน 2 คนนี้มากกว่ากัน และอยากเล่นกับคนไหนมากกว่า” 

สิ่งที่ซาบีนพบก็คือ เด็กที่เชื่อว่ากลุ่มของตนเองรอ นอกเหนือจากตนเองก็มีแนวโน้มที่จะรอตามเพื่อนแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะชอบเด็กที่รอเหมือนกับตนเองและเหมือนกับกลุ่มของตนด้วย นอกจากนี้เธอยังพบอีกว่า เด็กกลุ่มนี้ใช้ EF ในการหากลยุทธที่จะทำให้ตนเองสามารถรอได้นานตามเงื่อนไขด้วย

(ตรงข้าม เด็กที่เชื่อว่ากลุ่มตนเองไม่รอกิน 2 ชิ้นแต่จะกิน 1 ชิ้นเดี๋ยวนั้นเลย ตนเองก็มีแนวโน้มที่จะไม่รอตามเพื่อน และก็มีแนวโน้มที่จะชอบเด็กในรูป ที่ครูบอกว่าเป็นคนที่ไม่รอกิน 2 ชิ้นด้วย)

ซาบีน โดเบล สรุปว่า เรื่องของการทำงานของ EF ที่มีความซับซ้อน อาจมีปัจจัยมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจหรือเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจึงไม่ควรพัฒนา EF เด็กด้วยวิธีง่ายๆ เร็วๆ เช่นทำตาม “สภาพแบบฝึกหัด” หรือเหมือนอยู่ในห้องทดลองเท่านั้น จริงอยู่การฝึกฝนในห้องเรียน จะทำให้เด็กได้ EF ที่แข็งแรงขึ้น

แต่เราต้องคำนึงถึงบริบทในชีวิตจริง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการทำงานของ EF ในการตัดสินใจ วางแผน หรือกำกับตนเองด้วย เด็กที่ EF ดีในห้องเรียน ก็ยังอาจจะแก้ปัญหาในชีวิตจริงไม่คล่องแคล่วหรือเก่งเท่าเด็กที่มีประสบการณ์จริงในชีวิต ดังนั้น การให้เด็กๆมีโอกาสได้ฝึก EF บนความซับซ้อนของชีวิตจริง เมื่อมีโจทย์สถานการณ์หรือปัญหาจริงๆ เด็กๆ จะทำอย่างไรดี มันมาขัดขวางเป้าหมายของเรา เราจะเดินต่ออย่างไร จะทำไข่เจียวแต่น้ำปลาหมดพอดี จะแก้ยังไงดี…..

ให้เขาฝึกฝน EF ทีละน้อยๆ ในชีวิตจริง ตามวัยของเขา จึงจะเป็นการปลูกฝังโครงสร้างทักษะสมอง EF ที่ใช้ได้จริงในชีวิตข้างหน้าอย่างแน่นอน  


อ้างอิง ;

Sabine Doebel; How your brain’s executive function works — and how to improve it