ปรากฏการณ์ ‘ความคาดหวังสร้างความจริง’ (Self-fulfilling Prophecy) เมื่อความเชื่อเป็นพลังทำให้เราลงมือทำตามความเชื่อนั้นจนเกิดเป็นความจริงขึ้นมา มีความเป็นมาจากตำนานกรีกที่กล่าวถึง พีกมาเลี่ยน (Pygmalion) ซึ่งเป็นปฏิมากรที่หลงรักรูปปั้นหญิงสาวของตนเองมาก จนปฏิบัติต่อรูปปั้นเช่นคนคนๆ หนึ่ง ความรักและความหวังอย่างเหลือล้นทำให้พีกมาเลี่ยนไปอธิษฐานขอพรจากเทพวีนัสให้รูปปั้นนั้นมีชีวิต และได้รับคำพรสมปรารถนา รูปปั้นเกิดมีเลือดเนื้อและลมหายใจกลายเป็นหญิงสาว และพิกมาเลี่ยนได้แต่งงานกับหญิงสาวสมปรารถนา
ปรากฏการณ์ ‘ความคาดหวังสร้างความจริง’ (Self-fulfilling Prophecy) หรือ Pygmalion Effect คือปรากฎการณ์ที่ความคาดหวังหรือการปักใจเชื่อในสิ่งใด จะนำไปสู่การกระทำที่ผลักดันให้ความคิดหรือความคาดหวังนั้นเป็นจริงขึ้นมา เหมือนคำพูดที่ว่า “คิดอย่างไร ก็จะได้อย่างนั้น” หรือในอีกทางคือ Pygmalion Effect เป็นคำที่ใช้อธิบายว่า หากเราต้องการสิ่งใดมากพอ เราจะขวนขวาย และได้สิ่งที่เราต้องการ
จากตำนานกรีกปรำปรานี้ ‘โรเบิร์ต โรเซนธาล’ (Robert Rosenthal) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of California และ ‘เลนอร์ จาค็อบสัน’ (Lenore Jacobson) ได้ทำการทดลองในโรงเรียนแห่งหนึ่ง บนสมมุติฐานว่า “ความคาดหวังจากคนอื่น อาจมีอิทธิพลทางบวกหรือทางลบต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างไร”
การทดลองเริ่มต้นจากการทดสอบวัดระดับ IQ เด็กประถมห้องหนึ่งของโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย แล้วระบุเด็กออกมา 20 เปอร์เซนต์ว่าได้คะแนนทดสอบระดับไอคิวสูง (ในความเป็นจริงเด็กกลุ่มนี้ได้รายชื่อมาจากการสุ่มเลือก ไม่ใช่มาจากผลการทดสอบจริง) แล้วให้ครูทำการเรียนการสอนเด็กห้องดังกล่าวตามปกติจนหมดเทอม เมื่อทำการทดสอบกันอีกครั้ง ผลปรากฏว่า เด็กกลุ่มที่(ถูกสุ่ม)เป็น ‘เด็กหัวกะทิ’ มีคะแนนในแบบทดสอบเชาวน์ปัญญาสูงขึ้นจริง ทั้งยังมีพฤติกรรมทางการเรียนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โรเซนธาลและจาค็อบสัน ได้ข้อสรุปจากการทดลองทำนองนี้อีกหลายครั้งว่า ความเชื่อของครูและนักเรียนที่ถูกทำให้เชื่อด้วยข้อมูลว่า นักเรียน 20 เปอร์เซ็นต์เป็น “หัวกะทิ” เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง’ (Self-fulfilling prophecy) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘Pygmalion Effect’ ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ‘ความคาดหวัง’ ของครูที่คิดว่าตนกำลังสอนเด็กไอคิวสูง ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของครูเองโดยไม่รู้ตัว
ในการทดลองนี้พบว่า ขณะที่เด็กทุกคนได้เรียนร่วมกันในห้องเรียนเดียวกัน ได้เรียนวิชาต่างๆไปเหมือนกันทุกชั่วโมง ครูกลับได้ปฏิบัติต่อข้อมูลที่ได้รับมาไม่เหมือนกัน รวมทั้งตัวเด็กเองก็เช่นกัน การได้รับข้อมูลต่อตนเองที่ต่างกันส่งผลต่อการมองตนเองของเด็ก ในงานวิจัยพบว่า ครูได้สร้างสภาพแวดล้อมที่คอยผลักดันเด็กที่ได้รับการบอกว่าเป็นหัวกะทิมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตอบคำถาม การให้โจทย์ยากๆ หรือทำกิจกรรมทางวิชาการมากกว่า อีกทั้งเด็กก็มีความเชื่อมั่นว่าตนหัวดี แสดงออกถึงความมั่นใจและมานะพยายามที่จะพิสูจน์ตนเองตามที่ตนเองเชื่อ
โรเซนธานสรุปการทดลองนี้ว่า “เมื่อเราคาดหวังพฤติกรรมบางอย่างจากผู้อื่น เรามีแนวโน้มที่จะปฏิบัติในทิศทางที่จะทำให้พฤติกรรมที่คาดหวังไว้ เป็นความจริงขึ้นมา” (Rosenthal และ Babad, 1985)
ต่อมามีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “Pygmalion Effect” โดย โบรฟี Brophy พบว่าความคาดหวังที่ต่ำ ทำให้ครูปฏิบัติต่อนักเรียนแย่ลง เช่น ครูยอมแพ้ง่ายๆในการพัฒนานักเรียนที่ตนคิดว่าไม่เก่ง วิจารณ์หรือตำหนิเด็กบ่อยขึ้นเมื่อเด็กล้มเหลว แต่เมื่อเด็กทำอะไรสำเร็จกลับชมเชยเด็กน้อยลง ละเลยที่จะตอบสนองหรือให้คำแนะนำเมื่อนักเรียนส่งงานหรือตอบคำถาม ให้นั่งหลังห้อง แสดงความอบอุ่นหรือสนใจเด็กในฐานะปัจเจกน้อยลง
ปรากฎการณ์ “Pygmalion Effect” สะท้อนธรรมชาติการทำงานของสมองที่ทำหน้าที่เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือความคาดหวัง แล้วกำหนดพฤติกรรมตอบสนองต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อตั้งเป้าหมายสูงจะทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เมื่อตั้งเป้าหมายต่ำก็ทำแค่ผ่าน หรือละเลยไม่สนใจ
ในช่วงชีวิตวัยรุ่นที่พลุ่งพล่าน เด็กวัยรุ่นหลายคนก้าวพลาด จนบางคนเหมือนไม่มีทางไปต่อ แต่ในความเป็นจริง เมื่อเราเข้าใจว่า Eco-system ส่งผลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นเช่นไร ก็จะเข้าใจได้มากขึ้นว่า คนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนร้าย คนโง่ แต่เงื่อนไขของระบบนิเวศมีผลอย่างมากในการหล่อหลอมการเรียนรู้ของสมองให้แสดงออกถึงพฤติกรรมร้ายๆ และประสิทธิภาพการเรียนรู้ นั่นหมายถึงว่า แม้คนที่มียีนส์ร้ายอยู่ในตัว เมื่อระบบนิเวศไม่ส่งเสริมให้ยีนส์นี้ได้ทำงาน คนร้ายก็ไม่เกิด รวมถึงคนที่สติปัญญาไม่ดีเท่าคนอื่นก็พัฒนาได้ในระบบนิเวศที่ส่งเสริมและสนับสนุน
ครอบครัว โรงเรียนและสังคมเป็นระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดของคน ความคาดหวังและการตีตราทำให้วัยรุ่นมองเห็นตนเองเป็นไปตามที่ครอบครัว โรงเรียน และสังคมวาดวางไว้ และใช้เป็นพลังในการขับเคลื่อนชีวิตในทุกๆวัน โดยภายในสมองมีการทำงานขับเคี่ยวกันตลอดเวลา ระหว่างสมองส่วนกลางที่ต้องการความพึงพอใจเฉพาะหน้า ต้องการความรัก ความปลอดภัยเดี๋ยวนี้ เวลานี้ ตัดสินอะไรด้วยอารมณ์ เป็นเจ้าตัวเล็กภายในที่งอแงเอาแต่ใจตัว กับสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่กำกับอารมณ์ ความคิด การกระทำ คิดเหตุคิดผล มองการณ์ไกล มุ่งสู่เป้าหมายที่สูงกว่า ไกลกว่า ดีงามกว่า
หากเราใช้พลังแห่งความคาดหวัง และความเชื่อว่า คนทุกคนดีขึ้นกว่านี้ได้ ศรัทธาในตัวมนุษย์ทุกคน ศรัทธาในเด็กแต่ละคนให้มากพอ ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นแบบอย่างในการใช้สมองส่วนหน้า ใส่ใจ ปฏิบัติต่อวัยรุ่นด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา เปิดโอกาสให้วัยรุ่นทำความดีได้ง่ายๆ ใช้พลังแห่งวัยไปสร้างสรรค์ ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ทุกวัน ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ เช่นเดียวกับหลักคิดและประสบการณ์ของ “ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก” กระทรวงยุติธรรม ที่คุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการได้หล่อหลอม สร้างวัฒนธรรมการดูแลวัยรุ่นกว่าพันคนซึ่งเป็นเยาวชนผู้ก้าวพลาด ตกหล่มระหว่างทาง ได้ลุกขึ้นมาเดินหน้าชีวิตใหม่ได้อย่างสง่างาม ด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทบทวน วิเคราะห์ชีวิต เพิ่มเติมประสบการณ์บวกใหม่ๆ ด้วยการสร้างความคาดหวังใหม่ให้แก่ตนเอง และทำความคาดหวังนั้นให้เกิดปรากฏเป็นจริงด้วยตนเอง รวมทั้งพลังของความหวังจากคนรอบข้าง ก็ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมใหม่ ที่ทำให้ผู้ก้าวพลาดมองเห็นศักยภาพ คุณค่าและสร้างศรัทธาในตนเอง จนเด็กๆพากันพูดว่า
“ทำไมอยู่ที่นี่ ทำความดีง่ายจัง”
หากเราต้องการให้ลูกหลานของเรา มีความสุข ประสบความสำเร็จ และเป็นคนที่ดีต่อตนเองและผู้อื่นมากพอจริงๆ เราจะขวนขวาย เราจะพยายาม เราจะลงมือทำ และเราจะได้ในสิ่งที่เราต้องการ
ปฏิบัติต่อวัยรุ่นด้วยความรู้และความรัก
อ้างอิง:
– ตำนาน pygmalion ชายผู้หลงรักรูปปั้น สู่ข้อพิสูจน์ “คิดอย่างไร ได้อย่างนั้น”, https://thepeople.co/pygmalion-and-galatea/, post 23/02/2021
–https://www.greekmyths-greekmythology.com/myth-of-pygmalion-and-galatea/สืบค้น 15/12/2021
– ถอดบทเรียนและความรู้ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก, สถาบันรักลูก, 2021