สอนเด็กรู้จักอารมณ์ตัวเอง สร้าง Self และทักษะสังคม
การที่ผู้ใหญ่สะท้อนอารมณ์ของเด็ก บอกให้เด็กรู้ว่าตัวเด็กกำลังรู้สึกอย่างไร จะทำให้เด็กรู้สึกมี Self มีตัวตน เพราะความรู้สึกนึกคิดและสิ่งที่เขาแสดงออกมานั้น ผู้ใหญ่เห็น ได้ยิน ให้ความสนใจ และการที่ผู้ใหญ่บอกว่าอารมณ์นั้นเรียกว่าอะไร เป็นการสอนให้เด็กรู้จักอารมณ์
อย่างเช่นที่สถาบัน 101 Educare Center ในวันเปิดเทอมแรกๆ เมื่อเด็กมาเรียนแล้วร้องไห้ ครูจะสะท้อนอารมณ์เด็ก โดยพูดว่า “หนูร้องไห้ เพราะคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ อยากไปหาคุณพ่อคุณแม่ใช่ไหม” และแนะนำวิธีจัดการอารมณ์ไปด้วย “ครูรู้ว่าหนูคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ แต่ไปนอนก่อน พอตื่นมาจะเจอคุณพ่อคุณแม่เลย” ทั้งนี้ในระหว่างที่เด็กกำลังจัดการอารมณ์ตัวเอง ไม่ว่าเรื่องใด ครูจะอยู่กับเด็กด้วยเพื่อให้เด็กไม่รู้สึกโดดเดี่ยว รอจนกว่าเด็กจะจัดการอารมณ์ตัวเองได้ (ซึ่งไม่นาน เพราะตามธรรมชาติ ตามพัฒนาการของเด็ก เด็กจะอยากเล่น)
ไม่ใช่เพียงอารมณ์เศร้า เสียใจ โกรธ อารมณ์แย่ๆ เท่านั้นที่ครูจะสะท้อนให้เด็กรู้ เวลาเด็กดีใจ ตื่นเต้น ฯลฯ ครูก็จะบอกให้เด็กรู้และควรจะต้องจัดการอย่างไรด้วยเช่นกัน และยังบอกให้เด็กรู้จักระดับอารมณ์ของตัวเองเพื่อจะได้รู้จักประเมินตัวเอง จัดการตัวเอง ปรับตัวเอง และท้าทายตัวเองได้ เช่น หกล้มเจ็บแผล มีความเจ็บในระดับใด โดยบอกระดับ จาก 1-5
เข้าใจอารมณ์ตัวเอง จึงเข้าใจอารมณ์คนอื่น
มนุษย์มีอารมณ์หลากหลายมากมาย เมื่อยังเล็กอารมณ์ยังไม่ซับซ้อน เป็นอารมณ์พื้นฐานโดยทั่วไป ซึ่งถ้าฝึกฝนให้เด็กมีทักษะทางอารมณ์ ได้รู้จักได้เข้าใจอารมณ์พื้นฐาน เมื่อเติบโตขึ้นจะเข้าใจอารมณ์ที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น เมื่อเด็กเข้าใจตัวเองก็จะเข้าใจอารมณ์คนอื่นได้ ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งในการเข้าสังคม
แล้วทักษะอารมณ์ก็ไม่ใช่แค่เป็นคนอารมณ์ดี การเปิดเพลงให้เด็กปฐมวัยเต้นตอนเช้าแล้วครูบอกว่าเพื่อพัฒนาให้เด็กมีอารมณ์ดี มีทักษะทางอารมณ์ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะทักษะอารมณ์ไม่ใช่แค่เพียงมีอารมณ์ดี แต่ต้องรู้จักอารมณ์ตัวเอง บอกได้ ตามอารมณ์ตัวเองได้ จัดการตัวเองได้ เข้าใจคนอื่น และคาดเดาอารมณ์คนอื่นได้ เช่นถ้าทำแบบนี้กับคนอื่น คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร หรือหากเพื่อนพูดว่ากำลังรู้สึกแบบนี้ เด็กก็ต้องเข้าใจว่าเพื่อนรู้สึกอย่างไร เรื่องนี้จะส่งผลซึ่งกันและกันระหว่างทักษะอารมณ์และทักษะสังคม
เด็กในวัย 3 ขวบ ตามพัฒนาการจะอยากเล่นกับเพื่อน ถ้าเพื่อนบอกว่ายังไม่อยากแบ่งของเล่น เด็กที่พ่อแม่สอนเรื่องทักษะอารมณ์ จะเข้าใจว่าต้องรอ เคารพความรู้สึกซึ่งกันและกัน แต่ถ้าไม่มีใครสอนมา เด็กจะรอไม่เป็น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็จะแย่งของเล่นจากเพื่อน
พบว่าเด็กที่สอนทักษะสังคมได้ง่ายจะมาจากบ้านที่พ่อแม่สอนลูกเรื่องอารมณ์ หรืออย่างน้อยปล่อยให้ลูกได้แสดงหรือมีอารมณ์ เช่นเมื่อร้องไห้ไม่ได้ห้ามหรือบอกให้เงียบทันที แต่ปล่อยให้ร้องให้ ให้อยู่กับอารมณ์ของตัวเอง แล้วค่อยปลอบ
ทำไมครูเข้าไม่ถึงอารมณ์ของเด็ก
ก่อนที่ครูจะส่งเสริมพัฒนาเด็กในเรื่องของทักษะอารมณ์ ครูจะต้องแยกให้ได้ก่อนระหว่างอารมณ์ ความรู้สึกและความคิด จึงจะมองเด็กอย่างเข้าใจว่าเด็กก็มีอารมณ์ความรู้สึก มีความคิดเช่นกัน
ครูส่วนใหญ่จะแยกไม่ออกว่าอะไรคืออารมณ์ความรู้สึกหรือความคิด เนื่องจากตัวครูเองก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องอารมณ์ เวลาพูดถึงอารมณ์จะข้ามไปที่ความคิด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูจากทางบ้านและการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่ไม่อนุญาตให้แสดงอารมณ์ ให้เก็บงำอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ทางด้านลบ แต่ให้ข้ามไปที่ความคิดเลย
บ่อยครั้งที่ครูคาดการณ์หรือบอกอารมณ์เด็กผิด เพราะครูไม่มีคลังคำศัพท์อารมณ์มากพอ ทำให้สื่อสารไม่ตรงใจเด็ก ปัญหาของเด็กหรืออารมณ์ของเด็กขณะนั้นจึงไม่ถูกคลี่คลาย เด็กก็เช่นเดียวกันเมื่อไม่มีคลังคำศัพท์เกี่ยวกับอารมณ์ก็ไม่สามารถเล่าให้ครูฟังได้ เกิดความคับข้องใจ ครูจึงต้องพยายามที่จะเรียนรู้คำศัพท์ให้มาก และต้องบอกเด็กว่าอารมณ์นั้นๆ เรียกว่าอะไร หรือถ้าครูเองก็ยังไม่รู้ ให้พูดออกไปก่อน เข้าหาเด็กก่อน ไม่ต้องกลัวผิด เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าครูใส่ใจ แล้วค่อยๆ พูดคุยกับเด็ก
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ