มนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติที่รักเสียงดนตรี การเคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรีก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกเชื้อชาติวัฒนธรรมตลอดมา
ช่วงวัย 3 ขวบ เด็กจะร้องเพลงได้บางเพลงง่ายๆ ร้องกับคนอื่นได้ เล่นเครื่องเคาะจังหวะง่ายๆ ได้ ทำเสียงดนตรีตามจินตนาการได้ เต้นหรือทำท่าทางตามจังหวะได้
ช่วงวัย 4 ขวบ บอกความแตกต่างของจังหวะเพลงอย่างง่ายๆ ได้ เช่น ช้า หรือเร็ว ร้องเพลงกับกลุ่มได้สอดคล้องพร้อมเพรียงกันมากขึ้น
ช่วงวัย 5 ขวบ สร้างทำนองหรือเนื้อเพลงเองได้ หรือใช้ทำนองเพลงเก่าใส่เนื้อใหม่ได้
เสียงเพลง ดนตรี การเคลื่อนไหวเข้าจังหวะ เป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาความจำ (Working Memory) และความคิดยืดหยุ่นสร้างสรรค์ได้อย่างดี คุณครูลองนำวิธีต่างๆ ต่อไปนี้มาปรับใช้กับเด็กๆ ได้ดังนี้
– ให้เด็กได้มีโอกาสฟังเพลงและดนตรีที่หลากหลายประเภท
– ร้องเพลงกับเด็ก กระตุ้นให้เด็กได้ร้องเพลง เต้นตามจังหวะดนตรี
– เปิดเพลงให้เด็กฟังซ้ำๆ จนจำได้ และร้องได้
– พาเด็กไปชมดนตรี แนะนำให้เด็กได้รู้จักดนตรีชนิดต่างๆ และเสียงของดนตรีชนิดนั้นๆ
ส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสร้องเพลง เต้นเข้าจังหวะต่อหน้าคนอื่น ชื่นชม ให้กำลังใจ และเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการออกแบบท่าเต้นเองด้วย
– หาเครื่องดนตรี หรือทำเครื่องดนตรีง่ายๆ ให้เด็กเล่น เช่นเครื่องเขย่าที่ทำจากกระป๋องน้ำอัดลมแล้วใส่ถั่วเขียวเข้าไป ให้เด็กได้ฝึกเล่นดนตรีง่ายเช่นไซโลโฟนสำหรับเด็ก ให้เด็กได้ลองแต่งเพลง เล่นด้วยตัวเอง
– ให้เด็กได้คิดท่าเต้นประกอบเพลงด้วยตัวเอง
การฟังเพลงทำให้เด็กได้ฝึกใช้ความจำ Working Memory จนจำเนื้อเพลงได้และร้องได้ การเต้นเข้าจังหวะก็เช่นกัน เด็กต้องใช้ความจำ Working Memory และความคิดยืดหยุ่นที่จะคิดค้นเล่นเพลงและคิดท่าเต้นประกอบเพลงเอง
Ref : สำนักงานมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงการศึกษาธิการ (2552) สมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย 3-5 ปี : แนะแนวสำหรับผู้ดูแลเด็ก ครู และอาจารย์,กรุงเทพฯ, แปลนฟอร์คิดส์.
“ให้ลูกได้มีโอกาสฟังเพลงและดนตรีที่หลากหลายประเภท เพื่อพัฒนา working Memory และความคิดยืดหยุ่นสร้างสรรค์”