ทุกวันนี้โรงเรียนทั่วไปในประเทศไทยถูกกำหนดให้สอนหลักสูตรที่ประกอบด้วย 8 กลุ่มสาระวิชา ตั้งแต่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี  สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษา และพลศึกษา  ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ เรียกว่าการเรียนทั้งหมดนี้ อัดแน่นวันละ 8 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นที่รู้กันว่า ที่ผ่านมาเด็กไทยนั้นจำนวนชั่วโมงเรียนมากที่สุดในโลก

แล้วได้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูง  ตามที่จัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบนี้ไหม

     เปล่าเลย  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยนั้นลดลงเรื่อยๆ รู้กันทั่วไปว่า แม้แต่คะแนนสอบมาตรฐานของระดับช่วงชั้น (O-Net) ที่วัดเปรียบเทียบกันในระดับประเทศ เฉลี่ยคะแนนที่นักเรียนทำได้ก็ต่ำกว่า 50% ในทุกวิชา และทุกระดับชั้นที่มีการวัด

ถ้าเช่นนั้น ครูไทยน่าจะทำอย่างไร 

เซอร์เคน โรบินสัน นักคิดที่ชักชวนให้นักการศึกษาทั้งโลกหันหลังให้กับการศึกษาแบบสายพานอุตสาหกรรม   ได้แนะนำให้ครูหันไปศึกษาแนวทางของเกษตรอินทรีย์ที่มีพื้นฐานอยู่บนหลักการ 4 ข้อ ได้แก่ ความใส่ใจต่อ; สุขภาพ นิเวศวิทยา ความเป็นธรรม และระบบการดูแล ที่มุ่งปรับปรุงชีวิตของทุกคนทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงระบบนิเวศ และใส่ใจทั้งผลระยะสั้นต่อคนรุ่นปัจจุบัน และผลระยะยาวต่อคนรุ่นอนาคตด้วย 

เขาบอกว่า  ถ้าครูต้องการหันมาพัฒนาการศึกษาที่เป็นแบบเกษตรอินทรีย์ก็ไม่ยากอะไร

เพียงครูตระหนักถึงความสำคัญของการให้นักเรียนมีส่วนร่วม  โดยใช้ประโยชน์จากความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และความกระตือรือร้นของเด็กในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ วิธีหนึ่งที่ครูสามารถทำได้คือการส่งเสริมในสิ่งที่เป็นความสนใจของนักเรียน ตัวอย่างเช่น คนที่คลั่งไคล้เบสบอล จะชอบวิชาฟิสิกส์ ถ้าเขาสามารถใช้มันเพื่อคำนวณวิธีที่ดีที่สุดในการตีลูกโค้งได้สำเร็จ

แต่การสร้างความสนใจให้นักเรียนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดเพียงเรื่องเดียว  ความคาดหวัง และ–ความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนก็สำคัญมาก  เราทุกคนต่างตอบได้ว่า สมัยที่เราเป็นเด็ก วิชาที่เราชอบเรียน มักจะเป็นวิชาที่เรารักครู ชอบครู ครูท่านนั้นใจดี ทำให้เราตั้งใจเรียนมากเป็นพิเศษ  ข้อเท็จจริงที่ว่านักเรียนจะตั้งใจเรียนหนักขึ้น จริงจังขึ้นได้ ถ้าครูที่เขารักเป็นผู้คาดหวังให้เขาหรือเธอทำ จึงเป็นเรื่องจริงของทุกคน ดังนั้น การทำตัวครูให้เป็นที่รักของนักเรียน จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กตั้งใจ สนใจเรียน และไปถึงความสำเร็จได้

นอกจากนั้น ครูที่ดียังเข้าใจด้วยว่านักเรียนแต่ละคนต้องการวิธีการสอนที่แตกต่างกัน  เพราะเด็กแต่ละคนมีวิธีเรียนรู้ (Learning Style) จังหวะการเรียนรู้  (Learning Rhythm) ที่แตกต่างกัน ซึ่งคุณครูที่ใส่ใจพัฒนาการสอนของตนให้เข้ากับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน ก็จะช่วยเหลือเด็กๆ ได้ดีกว่า

และสุดท้าย ความเชื่อมั่นในตนเองของนักเรียนก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง คุณครูต้องเป็นหลังพิงทางจิตใจของเด็กๆ แสดงให้พวกเขาเห็นว่า พวกเขาสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและไม่แน่นอนได้แน่นอน ตราบเท่าที่เด็กๆ ยังคงมีความมั่นใจ และมีความสร้างสรรค์ในตนเอง

โรงเรียนจึงควรให้ความสามารถหลัก 8 ข้อแก่นักเรียนมากกว่าจะให้ 8 กลุ่มสาระวิชา

เมื่อครูทำงานเกี่ยวกับระบบการศึกษา สิ่งสำคัญที่ครูต้องไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ คือ เราต้องการให้ลูกศิษย์ของเราได้ “เกิดการเรียนรู้” อย่างแท้จริง

เพื่อเป็นแนวทางให้พวกเด็กๆ อยู่ได้ในโลกอนาคต ครูต้องสอนความสามารถ ไม่ใช่วิชาการเพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และเราไม่มีทางรู้ได้ว่าวิชาที่เราสอนนักเรียนในวันนี้ จะช่วยพวกเขาในโลกแห่งความเป็นจริงในวันพรุ่งนี้ได้หรือไม่ ดังนั้น กลยุทธ์ที่ดีกว่าคือการสอนทักษะที่จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งที่พวกเขาต้องการ ในขณะที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ทางสังคม หรือเศรษฐกิจที่พวกเขาอาจเผชิญ

โรงเรียนต้องสอนความสามารถหลัก 8 ข้อแก่นักเรียน ไม่ใช่สอน 8 กลุ่มสาระวิชา
  1. ความอยากรู้ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าเด็กๆ มีความอยากรู้มาแต่กำเนิด และยังมีโอกาสพัฒนาต่อได้อยู่เสมอ หน้าที่ของโรงเรียนคือ การรักษาและพัฒนาความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของเด็กๆ โดยกระตุ้นให้พวกเขาให้ความสนใจกับโลกภายนอก และตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาพบเสมอๆ
  2. ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โรงเรียนต้องเสริมสร้างความสามารถในการหาแนวคิดใหม่ๆ และนำไปสู่การฝึกปฏิบัติ ตั้งแต่การฝึกเขียน ไปจนถึงการส่งเสริมให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ในโลกสมัยใหม่ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ ความคิดสร้างสรรค์ได้กลายเป็นศูนย์กลางของความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมทั้งหมด และต่อจากนี้ไปก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนักเรียนในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น พวกเขาจะต้องสามารถแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์ จึงจะสามารถอยู่รอดได้ในอนาคต
  3. ความสามารถในการประมวลข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง เด็กๆต้องสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงมากมายมหาศาลให้ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสอนนักเรียนวิเคราะห์วิจารณ์ มีความสนใจที่จะตั้งคำถามกับข้อมูลที่พวกเขาพบ ฝึกการสังเกต ค้นคว้า และหาข้อสรุปด้วยตนเอง
  4. ส่งเสริมความสามารถส่วนบุคคล เด็กแต่ละคนมีศักยภาพ ความสามารถ จุดแข็งจุดอ่อน ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของพวกเขา ไม่มีใครเหมือนกันเลย ดังนั้นโรงเรียนต้องตอบสนองต่อประโยชน์ของนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้พัฒนาความสามารถส่วนบุคคลของพวกเขาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าเขาจะไปทางไหน
  5. ส่งเสริมทักษะความสามารถในการสร้างนวัตกรรม เพราะสังคมเศรษฐกิจในอนาคตต้องการแรงงานใหม่ที่มีนวัตกรรม ไม่ใช่การทำงานซ้ำตามที่สานพานกำหนด การมองเห็นความต้องการจำเป็นที่เกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มต่างๆ และมีความสามารถที่จะประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์ หาทางออกใหม่ๆ ให้แก่ประชากรเหล่านั้น ให้แก่โลกและสังคมรวมทั้งตนเองและครอบครัวได้ จึงเป็นความสามารถที่ทุกคนต้องได้รับโอกาสฝึกฝน
  6. ความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนเองและชื่นชมวัฒนธรรมของผู้อื่น ครูและโรงเรียนต้องตระหนักในการอยู่ร่วมกันบนความเคารพซึ่งกันและกัน ในวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ที่แตกต่าง เด็กๆ ต้องเรียนรู้รากเหง้าที่ไปที่มาของตนเองอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง แต่ก็ไม่เอาความชอบ ความเชื่อ หรือความภาคภูมิใจของตนเองไปกีดกันแบ่งข้างกับวัฒนธรรมของคนอื่น การเคารพและเปิดพื้นที่แก่กันและกันคือความสามารถที่จำเป็นอย่างยิ่ง
  7. การมีส่วนร่วมทางสังคม การเมืองและการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โรงเรียนต้องสามารถผลิตสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมทางการเมือง มีสำนึกส่วนรวม มีความกล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะปฏิเสธความอยุติธรรม และใช้การเมืองเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม   รวมทั้งฝึกฝนให้เด็กๆมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นซึ่งเป็นความสามารถที่สำคัญ  และมีความหมายต่อการดำรงชีวิตอย่างยิ่ง   เพราะเด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจ จะไม่รังแกคนอื่น เพราะเขารู้ว่าการถูกรังแกเป็นอย่างไร และความรู้สึกที่ไม่อยากเจ็บปวดนั้นเป็นอย่างไร
  8. ความสามารถในการแสดงออกและการสื่อสาร เพื่อสามารถสะท้อนความคิดอ่าน ความรู้ของตน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น และต้องพัฒนาให้ก้าวไปไกลกว่าเพียงทักษะการเขียน นอกจากนี้ ยังรวมถึงความสามารถในการพูดอย่างชัดเจน และพูดอย่างมั่นใจในที่สาธารณะ รวมถึงการถ่ายทอดข้อมูลผ่านสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ศิลปะ และดนตรี ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนยังต้องได้ฝึกฝนการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ไม่ใช่เอาแต่แข่งขันกัน นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมโรงเรียนที่ดี จึงควรจัดให้มีการเรียนการสอนแบบโครงการ (Project) ก็เพื่อฝึกฝนการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นทีม เรียนรู้ที่จะจัดระเบียบ ประนีประนอม และแก้ไขข้อขัดแย้งของกลุ่ม  

นั่นคือแนวคิดที่โรงเรียนประถมศึกษา Grange ซึ่งให้นักเรียนประถมศึกษาบริหารสภาของตนเอง

อ้างอิง

  • Grange Primary School, https://www.grangeton.uk
  • SIR KEN ROBINSON AND LOU ARONICA, CREATIVE SCHOOLS: THE GRASSROOTS REVOLUTION THAT’S TRANSFORMING EDUCATION, 2016