เป็นธรรมชาติของเด็กที่ชอบการเรียนรู้ แต่ทําไมเด็กหลายคนจึงกลัวการไปโรงเรียน?
เซอร์เคน โรบินสัน นักการศึกษาชื่อดังระดับโลก ชวนให้เราคิดย้อนกลับไปยังช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่ระบบการศึกษา เขาบอกว่า โรงเรียนไม่เคยเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ หรือเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ที่สนุกสนาน สำหรับเด็กๆเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กๆ จึงไม่ชอบการไปโรงเรียน
เป็นธรรมชาติของเด็กที่ชอบการเรียนรู้ แต่ทําไมเด็กหลายคนจึงกลัวการไปโรงเรียน?
เขานำเสนอว่า ปัจจุบันมีคนพยายามคิดค้นทางเลือกที่แตกต่างไปจากแนวทางการศึกษาแบบดั้งเดิม ซึ่งเขาเรียกว่า “โรงเรียนสร้างสรรค์” ซึ่งไม่ได้หมายถึง โรงเรียนที่จัดให้มีการเรียนการสอนศิลปะในชั้นเรียน แต่หมายถึงโรงเรียนที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากแนวทางเดิมโดยสิ้นเชิง เช่น ไม่มีตารางเวลาที่เข้มงวด ไม่มีการประเมินผลในรูปแบบที่เคร่งคัดตายตัว และมีวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีให้แก่ผู้เรียน และครูผู้สอน เป็นโรงเรียนในฝันของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งครู ผู้ปกครอง และโรงเรียนเอง
การจัดการศึกษาในระบบ คือ ระบบการศึกษาที่ตอบสนองโลกในยุคอุตสาหกรรม
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า โรงเรียนสมัยใหม่มีการพัฒนาในช่วงเริ่มต้นอย่างไรบ้าง? เซอร์เคนอธิบายว่า ในช่วงเริ่มต้นโรงเรียนไม่ได้มีการจัดการส่งเสริมพัฒนาด้านบุคลิกภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และพรสวรรค์เฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน แต่เป็นการศึกษาตามแบบแผน หรือตามเกณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงๆ เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นเยาวชนหรือแรงงานตอบสนองการทำงานในโรงงาน เพราะโรงเรียนสมัยใหม่เหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในศตวรรษที่ 18-19
ความจริงก่อนหน้านี้ จะมีเพียงผู้มีสิทธิพิเศษหรือชนชั้นสูงเท่านั้น จึงจะได้รับการศึกษาในระบบ แต่เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น อภิสิทธิ์แบบนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องการพนักงานจำนวนมากมายมหาศาล ที่ต้องมีทักษะพื้นฐาน เช่น ความสามารถในการอ่าน การคำนวณอย่างง่าย และเข้าใจข้อมูลทางเทคนิค ดังนั้น รัฐในซีกโลกตะวันตกจึงเริ่มจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนวงกว้างมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพียงประการเดียว คือ เพื่อผลิตแรงงานตอบสนองการทำงานในโรงงาน และเนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องอาศัยความสอดคล้องของการทำงาน ระบบการศึกษาจึงถูกขีดให้เป็นไปตามความต้องการเหล่านี้ ดังนั้น ในความเป็นจริง ต้องพูดว่า โรงเรียนได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับการทำงานในโรงงานนั่นเอง
ปัจจุบันวิถีแบบดั้งเดิมนี้ก็ยังคงมีอยู่ พูดได้ว่ารัฐมีความพยายามที่จะทำให้แรงงานในประเทศของตนเอง มีความสามารถหรือสมรรถนะที่จะแข่งขันในระดับสากลได้ โดยจัดการให้ระบบการศึกษาเป็นไปตามแนวทาง และมาตรฐานที่ได้วางไว้ คือ ให้ผู้เรียนหรือเด็กๆ เลือกเรียนวิชา STEM หรือวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์เท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงจุดแข็งและความสนใจของผู้เรียน เป็นที่ตั้งแต่อย่างใด
แล้วขบวนการปฏิรูปการศึกษามาจากไหน?
ที่จริงมีคนตั้งคำถามกับการจัดการศึกษาแบบที่กล่าวมาข้างต้น ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 แต่มาได้รับความสนใจในปี 2000 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของสหัสวรรษใหม่ เมื่อประเทศโลกตะวันตกอย่าง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ได้ริเริ่มดำเนินการทดสอบ PISA ซึ่งก็คือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับของนานาชาติเป็นครั้งแรก PISA เป็นชื่อย่อมาจาก Programmed for International Student Assessment ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษา ในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนในช่วงอายุ 15 ปี เกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริง เน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ปัจจุบันนี้มีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ประเทศ
ผลปรากฏว่า หลายประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบครั้งนั้น ต่างตกอกตกใจกับผลลัพธ์ของนักเรียนของตนเองที่ไม่ไม่เป็นไปตามคาด ประเทศต่างๆ เหล่านั้นจึงพากันค้นหาสารพัดวิธี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนของตนเสียใหม่ แต่เซอร์เคน โรบินสัน วิจารณ์ว่า แทนที่ประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่จะมุ่งตอบสนองความต้องการของนักเรียนแต่ละคน กลับหันไปจัดวางระบบการศึกษา ให้เป็นไปอย่างเดิมอีกครั้ง กล่าวคือการออกแบบระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับการทำงานในโรงงาน โดยมีการกำหนดสิ่งที่นักเรียนในระดับชั้นหนึ่งๆ ควรเรียนรู้ และวิธีที่พวกเขาควรเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็มีการประเมินความสามารถผ่านการทดสอบเช่นเคย ซึ่งหมายความว่าในระดับมัธยมปลาย (อายุ 14–15 ปี) นักเรียนทุกคนก็จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องพีชคณิตพื้นฐาน แล้วก็จะถูกทดสอบความสามารถของตนเองอีก ด้วยการทดสอบมาตรฐานที่เหมือนกันทั้งประเทศ
การศึกษาที่มีระบบเป็นมาตรฐานมากจนเกินไป มักสร้างปัญหา!
เซอร์เคนเห็นว่า หากเรามอบอุปกรณ์ดิจิทัลใหม่ๆที่ไม่รู้จักให้กับเพื่อนๆ เราจะพบว่าพวกเขาแต่ละคนมีวิธีการทำความเข้าใจอุปกรณ์แตกต่างกัน บางคนจะเริ่มต้นด้วยการอ่านคู่มือ ในขณะที่บางคนจะค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และบางคนก็เพียงแค่เปิดและเล่นกับมันไปเลย ท้ายที่สุด จากการทดลองนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่า เพื่อนของเราไม่ได้เรียนรู้แบบเดียวกัน
เด็กนักเรียนก็เช่นกัน โรงเรียนไม่สามารถสร้างมาตรฐานแบบเดียวมาวัดความหลากหลายของมนุษย์ได้ และการศึกษาก็ไม่ควรเป็นเช่นนั้น แต่เรื่องใหญ่ที่น่าเศร้าก็คือ โรงเรียนยังคงปฏิบัติต่อเด็กนักเรียนด้วยความคิดว่า เด็กทุกคนมีการเรียนรู้แบบเดียวกันเช่นเดิม ตัวอย่างเช่น เด็กถูกคนยังถูกคาดหวังให้เรียนรู้โดยการนั่งนิ่งๆ ในชั้นเรียน และฟังแค่ครูอธิบาย แม้ว่าสิ่งนี้อาจไม่เหมาะกับรูปแบบการเรียนรู้แบบปัจเจกของพวกเขาก็ตาม
ไม่เพียงแค่นี้ ในแต่ละระดับชั้น เราจะจัดให้นักเรียนที่มีอายุเท่าๆ กัน เรียนในชั้นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริง เด็กบางคนอาจเก่งวิชาคณิตศาสตร์ แต่ยังมีปัญหาในการอ่าน ในขณะที่คนอื่น ๆ ก็อาจจะตรงกันข้าม แต่แล้วนักเรียนทั้งหมดก็ถูกจัดให้เรียนตามช่วงอายุเป็นหลัก ไม่ใช่การจัดตามระดับทักษะที่แต่ละคนมี ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ขบวนการปฏิรูปมาตรฐานการศึกษา จะไม่สามารถปรับปรุงผลการศึกษาได้ ท้ายที่สุด การศึกษาที่มีพื้นฐานมาจากแบบฝึกหัดและแบบทดสอบเกือบทั้งหมด ก็จะทำลายความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน และทำให้พวกเขาออกจากโรงเรียนกลางคัน ส่วนนักเรียนที่ยังพอเรียนได้ ก็จะเรียนต่อไป โดยไม่ได้ดีอะไร
การเรียนในโรงเรียน ทำไมจึงน่าเศร้าอย่างนี้
ทำไมคนจำนวนมาก เรียนหนังสือมาเป็นเวลากว่าสิบปีตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก จนถึงมัธยมปลายจึงไม่สามารถสร้างสมรรถนะให้นักเรียน พร้อมที่จะนำไปใช้กับชีวิตจริงได้ ในสหรัฐอเมริกา ในปี 2012 มีการวิจัยพบว่า 17 % ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้คล่อง และ 21 % ของทั้งหมดที่อายุระหว่าง 18 – 24 ปี ไม่สามารถชี้มหาสมุทรแปซิฟิกบนแผนที่ได้ถูกต้อง เช่นเดียวกับ เด็กระดับมัธยมของไทยที่ไม่สามารถใช้การคิดวิเคราะห์ แยกแยะได้ว่า ข่าวใดเป็นเฟกนิวส์ ข่าวใดเป็นข้อเท็จจริง
คำถามถัดไป ทำไมเด็กจำนวนมากถึงเบื่อการเรียน ในห้องเรียนหนึ่งห้องที่มีจำนวนเด็ก 40 คน จะมีเด็กเพียงไม่กี่คนที่นั่งหน้าห้องซึ่งสนุกกับการเรียนกับคุณครู แต่เด็กที่เหลือ ไม่มีความสนใจในการเรียน ซึ่งอาจมีได้ตั้งแต่เด็กนักเรียนที่มีทักษะนอกสาขาวิชาที่กำหนดในระบบการศึกษา อย่างเช่น นักเรียนที่มีพรสวรรค์ด้านร้องเพลง ด้านยิมนาสติก ด้านการออกแบบกราฟฟิค ฯลฯ อาจรู้สึกท้อแท้กับการมาเรียนที่ไม่สนุก ไม่ชอบ และต้องถูกประเมินผลต่อเนื่องที่วัดผลทีไร ตนเองก็ไม่สามารถผ่านวิชาหลักได้สักที
อ้างอิง
- SIR KEN ROBINSON AND LOU ARONICA, CREATIVE SCHOOLS: THE GRASSROOTS REVOLUTION THAT’S TRANSFORMING EDUCATION, 2016