พัฒนา EF ด้วยการเล่นอย่างเป็นระบบ

สมองส่วนหน้าบริเวณหลังหน้าผาก เป็นสมองส่วนของการคิดขั้นสูงที่มีทักษะเชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) ที่ทำงานกำกับการวางแผนและกำกับการกระทำของเราเกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีทักษะพื้นฐานของสมองส่วนนี้อยู่ 3 ทักษะคือ 1. ทักษะจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) 2. ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) และ 3. ทักษะยืดหยุ่นความคิด (Cognitive Flexibility)

         ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) เป็นสมรรถนะในการจำและใช้ความจำจากความรู้และประสบการณ์เดิมเชื่อมเข้ากับความรู้และประสบการณ์ใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจหรือแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมตอบสนองกับเรื่องที่เกิดขึ้นตรงหน้า ส่วนทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control)  เป็นทักษะที่คอยกำกับความตั้งใจในการทำงาน ที่ช่วยควบคุมความคิด นิสัย อารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ และทักษะยืดหยุ่นความคิด (Cognitive Flexibility) คือความสามารถที่ช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับความสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มีมุมมองใหม่ สร้างทางเลือกใหม่ๆขึ้นมาที่แตกต่างไปจากเดิม สามารถเข้าใจวิธีการและแนวทางของคนอื่นที่ต่างไปจากที่เราคิด นำไปสู่ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งเป็นทักษะที่โลกในศตวรรษนี้ต้องการ

          ดังเป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) ซึ่งอยู่ในเนื้อสมองหลังบริเวณหน้าผากของเรานั้นพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงชีวิตปฐมวัย และไปทะยานขึ้นอีกครั้งในวัยรุ่นก่อนที่จะสมบูรณ์เต็มที่ในราววัยเบญจเพส ทักษะสมองส่วนหน้าอันเป็นทักษะเชิงบริการจัดการสามารถจำแนกออกมาได้หลากหลายทักษะ ซึ่งมนุษย์คนหนึ่งต้องอาศัยและใช้ในการดำเนินชีวิต ทำงาน อยู่ร่วมกับคนอื่นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการกำกับตนเอง จดจ่อใส่ใจ ควบคุมอารมณ์ ประเมินตนเอง หรือทักษะในหมวดปฏิบัติ เช่น ริเริ่มลงมือทำ วางแผน มุ่งเป้าหมาย ล้วนมีรากฐานมาจากทักษะพื้นฐานทั้งสามทักษะ คือ ทักษะความจำเพื่อใช้งาน ยั้งคิดไตร่ตรอง และยืดหยุ่นความคิด การพัฒนาทักษะ EF พื้นฐานโดยเฉพาะทักษะยั้งคิดไตร่ตรองเป็นสิ่งสำคัญ เป็นพื้นฐานในการพัฒนา EF อื่นๆ ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองที่ทำงานได้ดี จะเปิดให้ทักษะจำเพื่อใช้งานทำงานได้ดีขึ้น เมื่อคนยั้งตัวเองได้ จะสามารถดึงเอาความจำเพื่อใช้งานมาใช้ และเมื่อทักษะพื้นฐานสองทักษะคือ ยั้งคิดไตร่ตรองและความจำเพื่อใช้งานทำงานในตัวคนๆหนึ่งได้ดี จะไปเพิ่มพูนทักษะยืดหยุ่นความคิด ในตัวคนๆ นั้นขึ้น

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทักษะสมองส่วนหน้าจะเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่ขวบแรกของชีวิต แต่เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ต่างกัน ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองของเด็กส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงอายุ 3-5 ปี ต่อจากนั้นการพัฒนาด้วยเส้นกราฟที่ชันลาดลงหลังอายุห้าขวบจนถึงอายุ 8 ปี จนไปคงที่ที่อายุ 12 ปี และค่อยๆ เสถียรขึ้นเมื่อถึงช่วงวัยรุ่น ส่วนทักษะยืดหยุ่นความคิดนั้นค่อยๆ พัฒนาตามมา จนถึงจุดสูงสุดในราวอายุ 15 ปี ทักษะสมองส่วนหน้าเหล่านี้ทำให้เด็กที่เติบโตเข้าสู่วัยรุ่นมีความสามารถในการใช้เหตุผล วางแผน และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เผชิญในการเรียน เป็นการการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเองต่อไป

          จากการที่ทักษะเชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) ในสมองส่วนหน้า พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงเด็กปฐมวัย การเตรียมความพร้อมของทักษะสมองส่วนหน้า EF ในช่วงนี้ จะเป็นพื้นฐานที่แข็งแรงของพฤติกรรมการปรับตัวที่นำไปสู่นิสัยในการรู้จักควบคุมตนเอง ยั้งใจจากสิ่งเร้าที่เข้ามา มีสมาธิ พากเพียร และมีทักษะในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม วงจรประสาทในสมองส่วนหน้าที่ได้รับการฝึกฝนจากประสบการณ์ดีๆ ที่ท้าทายทีละเล็กทีละน้อย สอดคล้องกับวัยและทำอย่างต่อเนื่องจะสานต่อวงจรประสาทให้หนาแน่นแข็งแรง เป็นการเตรียมพร้อมกระบวนการคิดขั้นสูงในสมองให้แข็งแรง เป็นการวางรากฐานของการจัดระเบียบความคิด ทักษะการอ่าน และทักษะคณิตศาสตร์ ให้ช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เรียนหนังสือได้ดีขึ้นเมื่อก้าวขึ้นสู่การเรียนในระดับประถมศึกษา

           จากการวิจัยศึกษาด้านประสาทวิทยามีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ความเครียดโดยเฉพาะความเครียดเรื้อรัง ส่งผลให้แขนงของเซลล์ประสาทไม่เติบโต หรือบางทีกลับหดสั้นลง นั่นหมายความว่า ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า

          ดังนั้น การให้เด็กเล็กนั่งเรียนหนังสืออยู่กับที่เป็นเวลานาน นอกจากไม่สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย ยังสร้างความเครียดให้เด็ก การเร่งเรียนทำให้เด็กไม่อยากมาโรงเรียน ไม่ชอบการเรียนหนังสือ ในขณะที่การส่งเสริมการพัฒนา EF จะทำได้ผลต้องลดความเครียดในห้องเรียน สร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้มีความเพลิดเพลิน ให้เด็กได้เรียนรู้และประสบความสำเร็จในทุกๆวัน เกิดความมั่นใจในตนเอง และได้พัฒนาทักษะสังคมผ่านการเรียนรู้ในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งบรรยากาศแบบนี้จะไม่เกิดในห้องเรียนที่มุ่งหัด คัด อ่าน เขียนให้ถูกต้อง

          การส่งเสริมพัฒนาทักษะ EF ในเด็กปฐมวัย จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เรียนรู้ผ่านการเล่น ได้ออกกำลังให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว กระฉับกระเฉง แต่ไม่ใช่การออกกำลังกายตามคำสั่ง แต่เป็นการเล่นหรือการออกกำลังกายที่เด็กได้ตั้งเป้าหมายด้วยตนเอง ขบคิด แก้ปัญหา และสนุก ซึ่งจะมีความหมายว่า เด็กได้รู้สึกพึงพอใจกับชีวิตในแต่ละวันของตนเอง อยากจะให้พรุ่งนี้มาถึงเพื่อได้เล่นอีก ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และเก่งขึ้นกว่าวันนี้ ดังนั้น สนามเด็กเล่น ที่มีพื้นที่กว้างขวาง ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้อากาศบริสุทธิ์ ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีทักษะสมองส่วนหน้าที่พัฒนาได้อย่างเต็มที่ และเด็กมีความสุข

          นอกจากการเล่นในสนามเด็กเล่น ในโรงเรียนที่มีงบประมาณอาจใช้วิดีโอเกมที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาความจำเด็กผ่านการเรียนรู้จดจำภาพ ช่วยให้ทักษะความจำของเด็กดีขึ้น การได้ร่วมทำกิจกรรมหรือการละเล่นที่เน้นการออกกำลังแบบแอโรบิก รวมทั้งกีฬา เช่น คาราเต้ หรือเทควนโดนั้นมีหลักฐานงานวิจัยว่าสามารถช่วยพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) ได้ดีเช่นกัน กิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าอีกประเภทหนึ่งคือ การเล่นบทบาทสมมุติ การเล่นเลียนแบบเป็นคนอื่น ช่วยพัฒนาความสามารถด้านภาษาและความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง ซึ่งเป็นส่วนประกอบเบื้องต้นที่สำคัญในการพัฒนาทักษะเชิงบริหาร (Executive Function) ของสมองส่วนหน้า การเล่นไม่มีความเครียดเหมือนการเรียน เด็กไม่มีความกังวลเรื่องต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ถูกต้องทั้งหมด ทำให้มีแรงจูงใจ กล้าลองถูกลองผิดในการฝึกฝนและแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า เป็นโอกาสของการส่งเสริมสติปัญญาในการเรียนรู้สิ่งที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ

          ในปี 2015 ทราเวอร์โซและคณะ ได้ทำการทดลองพัฒนาทักษะความจำเพื่อใช้งาน ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองและ ยืดหยุ่นความคิดในเด็กอนุบาลอายุ 3-5 ปี จำนวน 75 คน โดยการให้เล่นนาน ครั้งละ 30 นาที รวม 12 ครั้ง ติดต่อกันในเวลาหนึ่งเดือน โดยเด็กๆ ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ละ 5 คน เด็กเหล่านี้ได้เล่นเกมที่ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทั้ง 3 คือ ทักษะความจำเพื่อใช้งาน ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง และทักษะยืดหยุ่นความคิดในระดับที่มากกว่าการเล่นโดยปกติ จากการทดลองพบว่า นอกจากทักษะพื้นฐานของเด็กเหล่านี้จะดีขึ้นแล้ว ยังพบว่าทักษะ EF อื่นที่ซับซ้อนยังมีการพัฒนาขึ้นอีกด้วย เด็กที่เข้าร่วมในการทดลองเมื่อเทียบกับเด็กที่อยู่ในกลุ่มควบคุม สามารถใช้ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

          การทดลองแสดงให้เห็นว่า ยิ่งได้รับการฝึกมากและมีความต่อเนื่องมากเท่าไหร่ EF ก็จะดีมากเท่านั้น ครูที่มีความเข้าใจและมุ่งมั่นสร้างโอกาสให้สมองเด็กได้ฝึกมากเท่าไหร่ เด็กก็จะได้รับประโยชน์มากเท่านั้น ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะทำให้การฝึกฝนทักษะสมองส่วนหน้าในเด็กปฐมวัย ซึ่งใช้เวลาอยู่กับครูเต็มที่ในช่วงเวลากลางวัน  การฝึกฝน EF ส่วนใหญ่ในช่วงปฐมวัยของเด็กเป็นเรื่องของการฝึกฝนความสามารถในการจำ เปรียบเทียบ จับคู่ เชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการ “รู้คิด” ในระดับสูงต่อไป และเด็กที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเล่นที่ถูกออกแบบมาอย่างเป็นระบบในการพัฒนาทักษะพื้นฐานทั้ง 3 ตัวนี้ คือเด็กที่มี EF ในด้านใดด้านหนึ่งน้อย ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเช่นไร

          แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปทักษะ EF ที่ฝึกฝนไปก็จะมีผลสัมฤทธิ์น้อยลงเรื่อยๆ  หากเด็กไม่ได้รับการฝึกต่อไปอีก เหมือนคนที่เล่นกีฬาจนแข็งแรง เมื่อเลิกเล่นไปร่างกายก็ไม่แข็งแรงเช่นช่วงที่เล่นกีฬาอย่างจริงจัง และถ้าไม่ออกกำลังกายเลย ร่างกายก็อ่อนปวกเปียกได้ การค้นพบนี้กำลังบอกว่า หากเด็กปฐมวัยได้รับการฝึกฝน EF มาดี แต่สภาพแวดล้อมและการเรียนในระดับประถมศึกษาไม่ได้ต่อยอดการฝึกฝน EF หรือขัดขวางการพัฒนา EF ทักษะนี้ของเด็กที่เคยมีมาแต่เดิมก็จะลดลงได้

          ดังนั้น การฝึกฝนทักษสมองส่วนหน้าหรือ EF ในเด็กนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรู้ ความเข้าใจของครู พ่อแม่ คนในชุมชนและสังคม โดยไม่เพียงทำแค่การเรียนในระดับใดระดับหนึ่ง หรือทำช่วงใดช่วงหนึ่ง ทำในวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ “เสียของ” ไม่เกิดผลอะไรจริงจังขึ้นมา


อ้างอิง
• Ricardo Rosas and team, Executive Functions Can Be Improved in Preschoolers Through Systematic Playing in Educational Settings: Evidence From a Longitudinal Study, https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2019.02024/full, 03 September 2019