สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริม “จุดแข็ง” ของลูก

เด็กทุกคนมีพัฒนาการที่สังเกตเห็นได้ เมื่อเด็กมีอายุราว 2-3 ขวบ พ่อแม่ผู้ปกครองและครู จะเริ่มมองเห็นว่าเด็กแต่ละคนมีจุดเด่น หรือมี “จุดแข็ง” เฉพาะตัวในเรื่องใดบ้าง เช่น เป็นเด็กที่จับจังหวะได้ดี ร้องเพลงถูกทำนอง ชอบตัวเลข ชอบเล่นของที่เป็นกลไก เข้ากับผู้อื่นง่าย ช่างพูด หรือมีบุคลิกที่สุขุม เอาใจใส่ผู้อื่น ฯลฯ แม้แต่เด็กที่เป็นฝาแฝดกันก็มี “จุดแข็ง”ที่แตกต่างกันไป อะไรทำให้เด็กแต่ละคนมีความเฉพาะตัว และเราจะพัฒนาเด็กที่มีความแตกต่างกันเหล่านี้ ให้พัฒนาเต็มศักยภาพของตนได้อย่างไรเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจศึกษามาตลอด และผลจากการวิจัยจำนวนมากทำให้เรารู้ว่า ความเก่ง บุคลิกภาพ และทักษะพิเศษนั้นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง คือ ยีนที่แต่ละคนได้รับไม่เหมือนกันนั้นทำให้เรามีความแตกต่างกัน จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัย Western Ontario ในปี 2529 โดย ดร.เจ ฟิลิป รัชตัน (J. Phillippe Rushton) พบว่า แม้แต่ “จุดแข็ง” ของฝาแฝดในเรื่องเดียว เช่น เรื่องความสามารถในการเอาใจใส่ผู้อื่น ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในแฝดพี่แฝดน้องนั้น เกิดมาจากการที่ทั้งสองคนมียีนที่แตกต่างกันมากกว่า50% ขึ้นไป ข้อค้นพบนี้มีการศึกษาเพิ่มเติมในปี 2550 โดย ดร.ไมเคิล สเตเกอร์ (Michael Steger) จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด แสดงให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน ความสามารถในการควบคุมตนเอง และความแข็งแกร่งทางกายของแต่ละคนนั้นมีระดับมากน้อยแค่ไหน ยีนส์มีส่วนสำคัญอยู่ถึงประมาณ 50% เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่งของความรู้ที่ค้นพบเหล่านี้ชี้อีกมุมมองให้เราเห็นว่า แม้ยีนส์มีส่วนสำคัญถึงประมาณครึ่งหนึ่งในการกำหนดคุณลักษณะและสมรรถนะต่างๆของเรา แต่การพัฒนาปรับปรุงยีนส์นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยาวนานกินเวลาหลายช่วงชีวิตคนมาก สิ่งที่มีความพยายามต่อมาคือการค้นคว้าทดลองและพบว่า ยังมีพื้นที่อื่นที่คนเราสามารถจัดการทำให้มรดกทางพันธุกรรมที่เราได้รับมาพัฒนาต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่เรามีชีวิต และเป็นข้อมูลเพิ่มลงในพันธุกรรมของเราส่งต่อไปยังลูกหลานในอนาคตได้ นั่นคือ “การสร้างสภาพแวดล้อม” ที่ส่งเสริมการพัฒนาจุดแข็งที่เด็กแต่ละคนมีอยู่ หากเรามีความเข้าใจมากพอ

สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ชุมชนและสังคมที่แวดล้อมเด็กต้องทำความเข้าใจคือ สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมจะช่วยให้ความสามารถที่อยู่ในสายเลือดของเด็กแต่ละคนได้มีโอกาสฝึกฝน พัฒนา ยิ่งเด็กมีโอกาสมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความพยายามที่จะเอาความสามารถที่มีอยู่ออกมาใช้มากเท่าไหร่ เด็กๆจะก้าวขึ้นสู่จุดที่เรียกได้ว่า “เป็นเลิศ” ในจุดแข็งของตนเองอย่างทวีคูณ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และการให้โอกาสแก่ “จุดแข็ง”ของลูก จะเป็นกำไรที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมได้กลับคืนมาอย่างมหาศาล จากการลงแรงที่น้อยกว่า และมีความสุขมากกว่าการพยายามพัฒนาเด็กด้วยการมุ่งไปตำหนิ เคี่ยวเข็ญเด็กให้ “ขจัดจุดอ่อน” ของตนเองเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้

ดร.ลี วอเตอร์ส (Lea Waters) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวกชาวออสเตรเลียที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Strength Switch  ได้ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า หากเด็กที่มีจุดเด่นตรงที่มีนิสัยชอบเข้าสังคม เข้าคนง่าย แล้วมีผู้ใหญ่รอบข้างโดยเฉพาะ พ่อแม่และครูคอยสนับสนุน หล่อเลี้ยง “จุดแข็ง” ของเด็กให้ได้มีโอกาส ได้รับบทบาทที่ความสามารถนี้ได้ถูกนำมาใช้ ฝึกฝนพัฒนา ก็จะกลายเป็นสมรรถนะที่โดดเด่น นำไปสู่คุณลักษณะของการเป็นผู้นำ หรือความสามารถในการทำงานเป็นทีม อันเป็นทักษะที่เป็นที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 ได้ หรือหากเด็กที่ว่ายน้ำได้เป็นธรรมชาติราวกับเป็นปลามาเกิดและชอบว่ายน้ำ หากได้รับโอกาสฝึกฝน ได้รับการโค้ชอย่างเอาจริงเอาจัง ก็สามารถเลือกนำเอาความสามารถนี้ไปประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จได้

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เด็กที่ได้รับการพัฒนา “จุดแข็ง” ที่ตนมีอยู่ จะตระหนักใน “ตัวตน” ของตน เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมีมาแต่กำเนิด คือ ความสามารถ ว่าเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของตนและผู้อื่น คนที่เห็นคุณค่าใน “ตัวตน”ของตนจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง มีความสุข มีพลังชีวิตที่จะก้าวหน้าต่อไปเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของตนเองและผู้อื่นมากกว่าคนที่เติบโตขึ้นมาแล้วต้องเป็น “คนอื่น” เป็นอย่างที่ “คนอื่น” ต้องการ

ในช่วงอายุราว 6-12 ขวบ เป็นวัยที่เซลล์สมองของเด็กกำลังเชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็วก่อนการตัดต่อ (Pruning) โดยธรรมชาติ เด็กวัยนี้มีพัฒนาการทางด้านสมองที่สามารถคิดและเข้าใจเรื่องนามธรรม พัฒนาการทางด้านร่างกายมีความสามารถในการกำกับควบคุมกล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่และเล็กของตนเองได้ดีมากกว่าตอนเป็นเด็กเล็กมาก พัฒนาการทางด้านสังคมรู้จักเข้าคู่กับเพื่อน ออกห่างจากแม่ พัฒนาการต่างๆเหล่านี้ส่งเสริมให้เด็กวัยนี้อยากรู้อยากเห็น อยากลอง ขยันขันแข็ง จึงเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เด็กต้องการจะทำและทดลองในเรื่องต่างๆมากมายและเปลี่ยนงานอดิเรกตลอดเวลา วันหนึ่งอยากทำตุ๊กตาผ้า อีกวันอยากทำขนมเค้ก อีกคราวอยากดำน้ำ อีกครั้งอยากวาดรูป แล้วก็อยากทำงานไม้ ฯลฯ เด็กไม่ได้เป็นคนจับจด แต่เป็นวัยที่ต้องการรู้จักและเรียนรู้ว่าโลกรอบตัวคืออะไร เป็นอย่างไร และตนเองสามารถทำอะไรได้บ้าง จึงเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องน่ายินดีที่เด็กได้ใช้ช่วงบานหน้าต่างแห่งโอกาสนี้เต็มที่ ก่อนที่มันจะปิดลงเมื่อเวลาผ่านไป หากพ่อแม่เหนื่อยและหัวหมุน ขอให้คิดไปถึงวันข้างหน้า แล้วจะพบว่า คุ้มค่าที่ลูกได้ลอง ได้ฝึกสมอง (EF) ได้เลือก ได้พบ และได้พัฒนาสิ่งที่ดีที่สุดที่ตนเองมี (ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับโอกาสเช่นว่านี้)

ช่วงวัยนี้ พ่อแม่จะเห็น เด็กๆ อยากเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ๆ เช่น หัดเล่นเกมส์ หัดเล่นกีฬา การละเล่น  สะสมสิ่งของต่างๆที่ตนสนใจ หรือกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มเพื่อน เช่น การสะสมการ์ด หนังสือ ตุ๊กตา อุปกรณ์ ฯลฯ หัดเข้ากลุ่มเข้าพวก ร่วมในพื้นที่ทางสังคม ในช่วงประถมการเรียนเป็นไปเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ คำนวณเป็น เพื่อก้าวต่อไปในการเรียนชั้นสูง ความรู้พื้นฐานเหล่านี้แข็งแรงได้ด้วยการเรียนแบบ Active Learning โดยไม่จำเป็นต้องเร่งเรียนแบบไม่ลืมหูลืมตา เด็กไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาแต่เรียน เรียน เรียน แล้วก็ทำการบ้านตอนค่ำ เรียนพิเศษทั้งวันในวันหยุด เพราะนั่นเท่ากับว่าช่วงหน้าต่างแห่งโอกาสที่ชีวิตมอบให้เด็กเพียงครั้งเดียวในวัยนี้ คือความขยันขันแข็ง (ซึ่งจะกลายเป็นนิสัยในอนาคต) อยากลองทำโน้น ทดลองนี้ เล่นนั่น หมดไปโดยที่ไม่มี “โอกาส” ทำสิ่งต่างๆในขณะที่ “โอกาส” แห่งชีวิตเปิดให้ (และกำลังจะปิดไปในไม่ช้า) เด็กที่เอาแต่เรียนมีโอกาสน้อยถึงน้อยมากที่จะพบว่า ตนเองนั้นมี “จุดแข็ง” อะไร นอกเหนือจากความสามารถในการท่องจำและจำข้อมูลในหนังสือเรียน คิดคำนวณได้

สิ่งแวดล้อมที่เด็กต้องการในการพัฒนา “จุดแข็ง” ของตนเอง สู่ความสำเร็จ เป็นคนที่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เรียนรู้เป็น อยู่กับผู้อื่นเป็น และมีความสุขเป็นนั้น เด็กไม่สามารถสร้างได้ด้วยตนเอง ในบ้าน พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจและตั้งใจจริงที่จะสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันที่สนับสนุนลูก ในโรงเรียนครูต้องเข้าใจเรื่องการทำงานในสมองและการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ของเด็ก สร้างสภาพแวดล้อม สร้างการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยให้เด็กได้ใช้และรู้จักศักยภาพด้านต่างๆของตนเอง รู้ว่าตนมี “จุดแข็ง” ในเรื่องใด สามารถใช้จุดแข็งที่ตนมีอยู่ เรียนรู้ เข้าใจตนเอง เข้าใจโลก และใช้ชีวิตสร้างความสุข ความสำเร็จแก่ตน ครอบครัว สังคมและโลกได้

เริ่มตั้งแต่วันนี้ได้ ด้วยการมองหา “จุดแข็ง” ของเด็กแต่ละคนให้เจอ

อ้างอิง

Lea Waters, How to Be a Strength-Based Parent,   https://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_to_be_a_strength_based_parent, 2 October  2018

Environmental enrichment improves response strength, threshold, selectivity, and latency of auditory cortex neurons, https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/?term=Engineer+ND&cauthor_id=15014105, 10 March 2004


ปรารถนา หาญเมธี แปลและเรียบเรียง