(25 มกราคม 2564) ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมวิพากษ์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาทักษะสมอง (EF) ให้กับเด็กปฐมวัย และเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ณ ศูนย์คุณธรรม กรุงเทพฯ
ดร.อุษณีย์ กล่าวว่า จากการที่ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าการพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions หรือ EF) เป็นแนวคิดที่ส่งเสริมและสามารถต่อยอดไปสู่การเรียนการสอนโค้ดดิ้ง (Coding) ได้ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดทำโครงการ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานเรื่อง EF อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ในการนี้ นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เเละนโยบาย รมช.ศธ. (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) พร้อมด้วยนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เข้าร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ ข้อเสนอและผลจากการประชุม จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ EF ในระดับปฐมวัยและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่ง สกศ.ได้มอบให้คณะนักวิจัย จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร เป็นผู้ดำเนินการวิจัย เพื่อถอดบทเรียนแนวทางการพัฒนาครูปฐมวัยให้สามารถสร้างทักษะ EF ให้กับผู้เรียน
จากนั้นจะจัดทำเป็นคู่มือแนวทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะ EF ให้กับเด็กปฐมวัยและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อเผยแพร่แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
รู้จัก Executive Functions (EF)
ทักษะ EF หรือ Executive Functions ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้า ที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ เป็นทักษะที่ทุกคนต้องใช้และมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมทักษะ EF แต่สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF คืออายุ 3-6 ขวบ หรือช่วงเด็กปฐมวัย เพราะสมองส่วนหน้าพัฒนาได้มากที่สุด