ปัจจัยที่เชื่อกันว่า ส่งผลให้คนเรามี Self-Esteem สูงหรือต่ำนั้นมีหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ ว่ากันตั้งแต่กรรมพันธุ์; พ่อแม่เป็นคนที่มี Self-Esteem เป็นอย่างไร อาจถ่ายทอดต่อให้ลูกได้ อายุ; เด็กที่อายุน้อยกว่าเพื่อนในห้องมากๆ จนทำอะไรไม่ทันเพื่อน ก็อาจจะเสียความมั่นใจในตนเอง ไม่สามารถสร้างความภาคภูมิใจในตนเองได้เพราะรู้สึกว่าตนเองทำไม่ได้เท่าเพื่อน คนแก่ที่อายุมากขึ้นและความสามารถในการดูแลตนเองลดลง ต้องพึ่งพาคนอื่นก็อาจจะรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตนเองสุขภาพที่ไม่แข็งแรง ทำอะไรไม่ได้อย่างที่ต้องการ มักจะทำให้ Self-Esteem ต่ำลง ประสบการณ์ชีวิตที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกข่มเหงกลั่นแกล้งหรือรังเกียจ ก็อาจรู้สึกไม่ดีกับตนเองพอๆ กับที่รู้สึกไม่ดีต่อคนอื่นความคิด แบบ Fixed Mindset ที่ไม่เชื่อว่าคนเราพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้ ชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น มองเห็นแต่จุดอ่อน ก็จะนำไปสู่การมี Self-Esteem ที่ต่ำ ฯลฯ

มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้จำนวนมาก ซึ่งหากเรานำมาพิจารณาในชีวิตจริงของผู้คนรอบตัวเรา เราก็อาจจะผงกหัวตอบรับว่า หลายอย่างในงานวิจัยสอดคล้องกับที่เรารับรู้และเข้าใจ เช่น

Reitzes & Mutran, (1994) พบว่า คำมั่นสัญญาที่สามีหรือภรรยาให้แก่คู่สมรสของตนเอง คำมั่นสัญญาที่ให้กับตัวเองว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ดี และคำมั่นสัญญาที่หัวหน้าให้กับพนักงาน จะสัมพันธ์ทางบวกต่อ Self-Esteem ที่สูง นั้นน่าจะหมายความว่า หากเราเป็นผู้รับคำมั่นสัญญาจากใครสักคน ที่ยืนยันว่า เขาจะมั่นคงต่อเรา เคารพในความเห็นของเรา หรือจะสนับสนุนเรา เราย่อมมีความรู้สึกดีต่อตนเองมากขึ้น เห็นว่าเรามีคุณค่า เขาจึงให้สัญญายืนยันกับเรา ในส่วนของคนที่ให้คำมั่นสัญญา เมื่อได้ไตร่ตรองและยืนยันไปแล้ว(ไม่นับรวมการให้สัญญาแบบลมๆแล้งๆ) ก็ย่อมจะรู้สึกถึงความผูกพันที่เรามีต่อคนที่รับคำสัญญา มีความมั่นใจ มีเป้าหมายที่จะรับผิดชอบในคำสัญญานั้นๆของเรา    

 Reitzes & Mutran ได้ทำการวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติมในปี 2006 และพบว่าคนที่มีการศึกษาสูง และมีรายได้สูงจะเห็นคุณค่าในตนเองสูง ซึ่งเรื่องนี้เราทั้งหลายเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเป็นธรรมดาที่ทั้งสองปัจจัยนี้ จะทำให้บุคคลมีความรอบรู้กว้างขวางกว่า มีทรัพยากรในการดำเนินชีวิตมากกว่า ก็ย่อมมีโอกาสในชีวิตมากกว่า มีแวดวงความสัมพันธ์ทางสังคมมากกว่า ฯลฯ ดังนั้น นำไปสู่ความมั่นใจ เห็นคุณค่าในตนเองได้มากกว่า  

 นอกจากนี้ในงานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้ Reitzes & Mutran, (2006) ยังพบอีกว่า การสมรสแล้ว สัมพันธ์กับการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำลง ซึ่งน่าจะอธิบายความได้ว่า การสมรสอาจมีบทบาททำให้คู่สมรส (อาจทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง) รู้สึกต่อสถานะของตนเองในสังคมลดลง มากกว่าการดำรงตนเป็นคนโสด คิดว่าเราเป็นที่สนใจน้อยลง มีอิสระน้อยลง ทำอะไรไม่ได้เหมือนตอนที่เป็นโสด ส่วนข้อค้นพบว่า คนที่อายุมากขึ้นจะเห็นคุณค่าในตนเองลดลงนั้น อาจด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ที่อายุมากขึ้นมักจะรู้สึกว่าตนทำสิ่งต่างๆได้น้อยลงกว่าเดิม ความสวยงามสมบูรณ์ของร่างกายก็ลดลง สมรรถนะร่างกายด้านต่างๆก็ลดลง หรือการที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น ฯลฯ ก็อาจทำให้ความภาคภูมิใจหรือการเห็นคุณค่าในตนเองลดลงไปด้วย

ในขณะที่ Van Soest, Wagner, Hansen, & Gerstorf, (2018) พบว่า ผู้คนในฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่ำ การอยู่คนเดียว (โดยไม่มีคนอื่นอยู่ร่วมด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญ) การตกงาน และการเป็นผู้พิการ มีความบกพร่องทางร่างกาย มักจะเห็นคุณค่าในตนเองต่ำกว่า ส่วนคนที่มีบุคลิกภาพแบบมีวุฒิภาวะสูง และมีความมั่นคงทางอารมณ์ มักจะเป็นผู้เห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่า

นอกจากนี้ Chang & Suttikun, (2017) พบว่า บรรทัดฐานของสังคม (ความเห็นของเพื่อนและสมาชิกครอบครัว) เกี่ยวกับรูปร่างและนิสัยการออกกำลังกายของเรา จะส่งผลทางลบต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง

เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงบริบทสังคมศตวรรษที่ 21 ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่กำลังเผชิญหน้าเราทุกคนอยู่ในเวลานี้ นักวิจัยอย่าง Friedlander, (2016) พบว่า การใช้โซเชียลมีเดียส่งผลกระทบทางลบต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง !!!

เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่า มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์สังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ได้พบเจอกัน แลกเปลี่ยนพูดคุยปรึกษาหารือ ทำกิจกรรม และเรียนรู้จากกันและกัน ทำให้เราต่างมีสุขภาพจิตที่ดี และมีความสุข แต่ขณะเดียวกัน ในขณะที่มีปฏิสัมพันธ์นั้นเอง เราก็ใช้คนอื่นรอบตัว ไม่ว่าเพื่อน ญาติพี่น้อง คนข้างบ้าน ฯลฯ เหล่านั้นนั่นเอง เป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบ เป็นมาตรวัดความก้าวหน้าของชีวิตของเรา ไม่ว่าในการทำงาน ฐานะ ความรู้ หรือสัมพันธภาพ นั่นคือ เมื่อเทียบกับชีวิตคนอื่นแล้วเราเป็นอย่างไร “เขาเก่งกว่าเรา รวยกว่าเรา” “เราก็ยังดีที่มีพ่อแม่พี่น้อง แต่เขาไม่มีใคร” “เราทำบุญให้ทานมากกว่าเขา” “ถึงงานเราจะเงินเดือนน้อยไปหน่อยแต่เราก็มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่า”เป็นต้น

ซึ่งในยุคก่อนหน้านี้ เราไปมาหาสู่สร้างความสัมพันธ์กันแบบเห็นหน้าเห็นตา การเปรียบเทียบมักจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้เจอหน้าเจอตากันจังๆ แต่ในยุคของ Social Media แม้เราไม่เจอหน้ากัน แต่การเปรียบเทียบที่กระทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น… ง่ายมาก ซึ่งนักวิจัยอย่าง Friedlander, (2016) ทำการศึกษาแล้วพบว่า แนวโน้มการเปรียบเทียบผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นการเปรียบเทียบที่ก่อผลในทางลบมากกว่า Courtney E. Ackerman นักจิตวิทยาที่ทำการติดตามในเรื่อง Self-Esteem อธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เราเห็นใน Facebook, Instagram, และ Twitter อาจจะไม่ใช่ความจริงของคนแต่ละคน แต่มันถูกประดิดประดอยตกแต่งเพื่อให้เกิดภาพประทับใจในเจ้าของเรื่องเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น โดยทั่วไป สิ่งที่ปรากฏออกมาในสื่อเหล่านี้ จึงออกจะไปทางเรื่องสนุกสนาน ความสุข การแสดงออกถึงความสำเร็จ สถานะภาพที่มั่นคงร่ำรวย ความสมบูรณ์พูนสุข “ชีวิตฉันเพอร์เฟค” มากกว่าจะเล่าถึงความล้มเหลว ความผิดพลาด ความไม่สมหวังของเจ้าของเรื่อง

โซเชียลมีเดีย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลลบต่อการเห็นคุณค่าในตัวเองของเรา ถ้าเราเอาแต่รับข้อมูลความสำเร็จเหล่านั้น แล้วเอามาเปรียบเทียบกับตัวเราเองตลอดเวลา แล้วก็คิดว่า เราด้อยกว่า แย่กว่า แต่ถ้าเรามีสติพอ การได้เห็นความสำเร็จของคนอื่น (ไม่ว่ามันจะเป็นความจริงหรือไม่) ก็อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจ แรงจูงใจ หรือข้อศึกษาเรียนรู้ที่เราจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวของเรา มากกว่าจะมานั่งเปรียบเทียบแล้วทำให้ตัวเราเองเสียศูนย์

อีกประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ที่เป็นผลกระทบที่โซเชียลมีเดียมีต่อผู้ใช้งานทั่วไปก็คือ มันได้สร้าง”วัฒนธรรมกดไลค์”ขึ้น  เมื่อโพสต์เรื่องราวต่างๆลงไปบนสื่อโซเชียลแล้ว ทุกคนก็จะเฝ้ารอว่าจะมีเพื่อนฝูง ญาติมิตร คนรู้จัก เข้ามา “กดไลค์” จำนวนเท่าใด ใจที่ฟูและแฟบก็เป็นไปตามจำนวนคนกดไลค์นั่นเอง ในระยะสั้นอาจดูเสมือนจำนวนคนกดไลค์จะช่วยให้เกิดความรู้สึกดีกับตัวเอง กับเรื่องราวที่ตนเขียนลงไป แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่า ที่สุดจำนวนไลค์ที่ได้ ไม่ได้ทำให้คนมีความสุขมากขึ้น มีความมั่นคงในจิตใจมากขึ้น งานวิจัยในปี 2017 โดยสมาคมจิตวิทยาอังกฤษ พบว่า การได้รับไลค์ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกดีกับตัวเอง หรือช่วยยกระดับอารมณ์ให้สูงขึ้นในช่วงที่รู้สึกแย่ Dr. Martin Graff ซึ่งเป็นทีมวิจัยกล่าวว่า “ผลการศึกษาแสดงว่า วิธีที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับ Social Media จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเรา และมักจะไม่เป็นไปในทางบวก”


อ้างอิง

  • Courtney E. Ackerman, What is Self-Esteem? A Psychologist Explains, www.positivepsychology.com
  • Sophia Auld, Social media and low self-esteem, https://www.acc.edu.au