วินัยเชิงบวกดีกว่าการสั่งบังคับอย่างไร อธิบายได้ด้วย Neuroscience

พ่อแม่หรือครูแค่รู้วิธีการใช้วินัยเชิงบวกอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเข้าใจไปถึงเรื่องพัฒนาการของเด็ก การทำงานของสมองในแต่ละช่วงวัย เช่น พัฒนาการของเด็กตอนนั้น ภาวะจิตใจอยู่ในขั้นตอนใด เพื่อจะได้ใช้วิธีที่ตรงกับธรรมชาติของสมอง ของจิตใจ และธรรมชาติพัฒนาการ ซึ่งตรงข้ามกับการฝึกวินัยที่ใช้อำนาจอย่างมาก ที่กำกับพฤติกรรมเด็กให้ได้ผลตามที่ผู้ใหญ่ต้องการด้วยการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงพัฒนาการของเด็กหรือปัจจัยอะไรทั้งสิ้น ซึ่งส่งผลเสียให้กับเด็กในระยะยาว

วินัยเชิงบวก (Positive Disciplines) เป็นแนวปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นจากการบูรณาการองค์ความรู้ ข้อมูลการทดลอง งานวิจัย และแนวคิดของพัฒนาการแต่ละด้านของเด็ก ได้แก่ จิตวิทยา สังคมวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์  ในช่วงเริ่มแรก ได้รับความสนใจว่าเป็นแนวความคิดที่ทำให้เห็นว่าเด็กเติบโตขึ้นมาจากสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้รับจากผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัว อันจะนำไปสู่การมีพฤติกรรมเหมาะสมตามธรรมชาติและพัฒนาการมนุษย์ แต่ก็ยังเป็นแนวความคิดที่เป็นนามธรรม และในบางกรณีเมื่อนำไปใช้ก็เลิกใช้กลางคัน เพราะคิดว่าไม่ได้ผลหรือไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้

ต่อมาเมื่อองค์ความรู้ทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ที่บอกว่ามนุษย์เรียนรู้อย่างไร ถูกนำมาบูรณาการร่วมกับศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาเพื่อช่วยให้ครูสามารถออกแบบการเรียนการสอนให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสม โดยยึดถือข้อเท็จจริงเรื่องการเรียนรู้ของสมองและการตอบสนองทางจิตใจมนุษย์ที่เรียกว่า Neuroeducationเป็นสำคัญ วินัยเชิงบวกจึงได้รับการพัฒนาขึ้นโดยใช้หลักการทำงานของสมองเข้ามาอธิบายถึงการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็กได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

Neuroeducation ทำให้เรามีวิธีคิด เช่น เมื่อเด็กคนหนึ่งวิ่งมาหาเราด้วยพฤติกรรมอะไรบางอย่าง เราจะมองว่าสมองส่วนใด พัฒนาการทางจิตใจอะไรที่กำลังทำงานกำลังส่งผลกับพฤติกรรมนี้ (Brain : Mind : Behavior) รวมทั้งมองพัฒนาการทางด้านร่างกายด้วย เช่น ในเด็กทารก ทำไมเด็กต้องส่งเสียงร้อง-ร้องไห้ เป็นเพราะพัฒนาการทางด้านอื่นๆ ยังไม่พร้อม แต่มีแรงขับที่อยากจะสื่อสาร อยากจะบอกความต้องการ ซึ่งคือความต้องการทางจิตใจ ทางจิตวิทยา ขณะที่ทางสมองยังไม่มีข้อมูล กล้ามเนื้อปากยังไม่แข็งแรงมากพอที่จะพูดออกมาได้

ความรู้ทางด้าน Neuroeducation ทำให้เรามองพฤติกรรมเด็กคนหนึ่งด้วยชุดความคิดเช่นนี้ แล้วเข้าใจ ทำการตอบสนองได้อย่างเหมาะสม ช่วยเหลือเด็กให้มีพฤติกรรมหรือเกิดทักษะได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการใช้วินัยเชิงบวกให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย สมอง (Brain) และ จิตใจ (Mind) ทำงานไปด้วยกันแล้วจึงออกมาเป็นพฤติกรรม จึงไม่ควรมองแค่ด้านใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรคิดว่าเด็กตั้งใจจะมีพฤติกรรมนั้นๆ  ผู้ใหญ่ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่ง (Input) ที่ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมหนึ่งๆ เสมอ

ดังนั้น การเป็นครูปฐมวัย นอกจากจะต้องเรียนรู้เรื่องหลักการต่างๆ ทางด้านศึกษาศาสตร์ ซึ่งมีทั้งเรื่อง Milestones หรือขั้นตอนพัฒนาการ และหลักการทางด้านการเรียนการสอนต่างๆ แล้ว ยังต้องมีความรู้ทางด้าน Educational Neuroscience ซึ่งสำคัญมาก ได้แก่ เรื่องการทำงานของสมอง เรื่องทักษะสมอง EF  เช่นข้อเท็จจริงที่ว่าช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะสมอง EF ก็มาจากความรู้ในศาสตร์นี้ จนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนในต่างประเทศ โดยให้ครูฝึกพัฒนาทักษะสมอง EF ในช่วงอนุบาลทันที รวมทั้งเรื่องของ self ตามทฤษฎีของอีริคสัน และ Ego ตามทฤษฎีของฟรอยด์  ครูต้องรู้หลักการของ Educational Psychology และ Neuropsychology ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของความสัมพันธ์ (Attachment)

จึงนำมาสู่ข้อข้อสรุปว่า ครูและพ่อแม่มีหน้าที่หลักคือส่งเสริมพัฒนาการแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน และไม่ละเลยเรื่องของ brain และ mind 


ความรู้ชุด “ดูแลเด็กยุคโควิด” โดย สถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)
ดร.ปิยวลี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร เขียน
ผาณิต บุญมาก เรียบเรียง
ภาวนา อร่ามฤทธิ์ บรรณาธิการ