จากการจัดการความรู้เพื่อหาแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง EF ในการจัดการศึกษา ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 2  โดยสถาบัน RLG ซึ่งประกอบด้วยนักการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน คณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็ก ได้ประชุมแลกเปลี่ยนกันถึงคุณลักษณะของเด็กวัยประถมศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่ควรจะเป็น เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาเด็กให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป  โดยลำดับแรกได้หยิบยกมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561ที่กำหนดคุณลักษณะขั้นต่ำของเด็กวัยประถม ตามผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการจัดการศึกษา (DOE-Desired Outcome of Education) ในเด็กวัยประถมศึกษามาพิจารณา ซึ่งคุณลักษณะขั้นต่ำนั้นมีดังนี้

1. เป็นผู้เรียนรู้
มีความเพียร ใฝ่เรียนรู้ และมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อก้าวทันโลกยุคดิจิทัลโลกในอนาคต มีสมรรถนะ (competency)ที่เกิดจากความรู้ ความรอบรู้ด้านต่างๆ มีสุนทรียะ รักษ์และประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทย มีทักษะชีวิต เพื่อสร้างงานหรือสัมมาอาชีพ บนพื้นฐานของความพอเพียงความมั่นคงในชีวิต คุณภาพชีวิตที่ดี ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม

2.ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม
เป็นผู้มีทักษะทางปัญญา ทักษะศตวรรษที่ 21ความฉลาดเรื่องดิจิทัล (digitalintelligence)ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะข้ามวัฒนธรรม สมรรถนะการบูรณาการข้ามศาสตร์ และมีคุณลักษณะของความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อร่วมสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีหรือสังคม เพิ่มโอกาสและมูลค่าให้กับตนเองและสังคม
3. พลเมืองที่เข้มแข็ง
เป็นผู้มีความรักชาติ รักท้องถิ่น รู้ถูกผิด มีจิตสํานึกเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก มีจิตอาสามีอุดมการณ์ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติบนหลักการประชาธิปไตย ความยุติธรรม ความเท่าเทียมเสมอภาค เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและประชาคมโลกอย่างสันติ

มาตรฐานดังกล่าวในที่ประชุมได้ลงความเห็นว่า คุณลักษณะ (character) ของเด็กวัยประถมศึกษาที่จะเติบโตพัฒนาสอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21ควรจะมีเพิ่มเติมเรื่องการเป็นผู้รับรู้ตัวตน และเอื้อต่อผู้อื่นได้เข้าไปด้วย ดังนั้นคุณลักษณะควรจะเป็นดังนี้

1. เป็นผู้เรียนรู้
2. ผู้รับรู้ตัวตน และเอื้อต่อผู้อื่นได้
3. เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
4. เป็นผู้ร่วมสร้างนวัตกรรม

การเป็นผู้รับรู้ตัวตน และเอื้อต่อผู้อื่นได้จะเป็นฐานที่หล่อหลอมให้เด็กประถมเติบโตไปเป็นผู้เรียนรู้ที่ดี ไปเป็นผู้สร้างนวัตกรรม พัฒนาไปสู่ทักษะอื่นๆ เป็นวัยรุ่นที่เข้มแข็ง โดยเด็กจะรู้จักตัวตน และมีตัวตนเข้มแข็งได้นั้นต้องได้รับการพัฒนา Self ให้แข็งแรง  ซึ่งครู พ่อแม่ ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กต้องเปลี่ยนทัศนคติว่า การจะดำเนินชีวิตอยู่ในโลกในศตวรรษนี้ การเรียนอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนักอีกต่อไป เพราะมีเครื่องมือให้ค้นคว้า ให้เรียนรู้ได้อย่างมากมาย รวดเร็ว แต่เรื่องการปรับตัว เรื่องทางสังคม การสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่น การปลูกฝังจิตสำนึกดีๆ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นกว่า