MINDSET ทั้งสองแบบเกิดขึ้นได้อย่างไร

กรอบความคิด หรือ Mindset อันเป็นความเชื่อที่คนๆ หนึ่งมีนั้น ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากต้นแบบที่เห็น และประสบการณ์ที่ผ่านมาในวัยเด็ก การเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว การเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอน สิ่งที่พ่อแม่และ ครอบครัวปฏิบัติต่อ จะค่อยๆหล่อหลอมกรอบความคิดของเด็กคนนั้นให้เติบโตขึ้นมามี Growth Mindset หรือมี Fixed Mindset แบบใดแบบหนึ่ง

          ในตอนที่เด็กยังเล็กโดยเฉพาะตั้งแต่เกิดมาจนถึง 3 ขวบ ผู้ใหญ่ในบ้านเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของเด็ก พ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือคนเลี้ยงดูมีบทบาทอย่างมาก ในการกำหนดให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็นคนที่ต้องการจะเติบโต หรือกลายเป็นคนที่มีกรอบความคิดตายตัว เพราะพ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้านเป็นแบบอย่างความคิดของเด็ก หากผู้ใหญ่ในบ้านมี Growth Mindset ก็จะส่งเสริมและกระตุ้นให้ลูกเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านมี Fixed Mindset ซึ่งมักจะตัดสินลูกๆ หลานๆ ของตน โดยบอกว่า อะไรถูกหรือผิด อะไรดีหรือไม่ดี โดยให้เด็กปฏิบัติตามโดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องถาม

          ในชีวิตประจำวันพฤติกรรมและการตอบสนองของ พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูส่งผลสร้างกรอบความคิดให้เด็กโดยไม่รู้ตัว เช่น การชมเด็กๆที่เรามักจะชมเวลาที่เด็กๆทำอะไรได้ดี ว่า เก่ง ฉลาด ก็เป็นการปลูกฝังกรอบความคิดตายตัวแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เด็กยึดติดที่กับสิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่บอก เนื่องจากเด็กต้องการให้ผู้ใหญ่รัก อีกทั้งการถูกเหมารวมเชิงลบ เช่นคำพูดที่ว่า  “เป็นผู้หญิงทำไม่ได้”  “ผู้ชายร้องไห้ไม่ได้” ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด Fixed Mindset ในการมองตนเองและผู้อื่นได้ทั้งสิ้น

          ระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก ก็ส่งเสริมให้คนมี Fixed Mindset  เพราะวัดกันด้วยคะแนน ใครได้ คะแนนสูงก็ตัดสินว่าเป็นคนเก่ง ใครได้คะแนนรองลงมาถูกจัดว่าเป็นพวกปานกลาง ใครทำข้อสอบแล้วได้คะแนนน้อยถือเป็นพวกไม่เก่ง  ระบบเช่นนี้ก็มีอิทธิพลทำให้เด็กมีกรอบความคิดตายตัว ตามที่ผู้ใหญ่ประทับตราให้

          ครูเป็นแบบอย่างที่สำคัญมากและมีอิทธิพลต่อกรอบความคิดของเด็ก ครูที่สนใจและชมเชยแต่เด็กที่ได้คะแนนดี มักจะมีแนวโน้มตำหนิและไม่สนใจเด็กที่ได้คะแนนน้อยกว่า ดังนั้นจึงไม่ได้ทุ่มเทพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล นักเรียนเรียนดีก็ทำคะแนนได้ดีไปเรื่อย ๆ ส่วนนักเรียนที่มีผลการเรียนอ่อนก็ได้เกรด C หรือ D อยู่นั่นเอง ปรากฎการณ์เช่นนี้จะค่อยๆหล่อหลอมให้เด็กส่วนใหญ่เกิด Fixed Mindset เด็กที่เรียนดี ก็คิดว่าตนเท่านั้นที่เก่ง ส่วนเพื่อนไม่มีทางเก่งเท่าตน ส่วนเด็กที่เรียนอ่อนก็จะมองตนเองว่า “โง่” หรือไม่มีทางเก่งเท่าเพื่อน

          การค้นพบเรื่องนี้ของดร. คารอล เอส. ดเว็ค ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง  Growth Mindset ระดับโลก จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ส่งผลอย่างยิ่งต่อระบบการศึกษา  ตัวอย่างเช่น ดร.คารอลและทีม ได้ให้นักเรียนชั้นปีที่ 5 ทดสอบ IQ  ด้วยปัญหาง่ายๆ นักเรียนส่วนใหญ่ทำได้ดีและจะได้รับคำชม ดร.คารอลได้ให้คำชมเป็น 2 แบบ นักเรียนส่วนหนึ่งได้รับคำชมว่า “ โอ้โห ทำคะแนนได้ดีจริงๆ นี่แสดงว่าต้องเป็นคนฉลาดมาก” นักเรียนอีกส่วนหนึ่งจะได้รับคำชมว่า “โอ้โห ทำคะแนนได้ดีจริงๆ นี่แสดงว่า ต้องฝึกฝน ทำงานหนักมากแน่ๆ”  พูดง่ายๆว่า นักเรียนส่วนหนึ่งได้รับการยกย่องในความสามารถ  และอีกส่วนหนึ่งได้รับการยกย่องในความเพียรพยายาม

          เมื่องานเริ่มยากขึ้น ปรากฏว่า เด็กทั้งสองกลุ่มมีปฏิกิริยาแตกต่างกันมาก นักเรียนที่ถูกชมว่าฉลาด  ชอบทำงานที่ง่ายกว่าต่อไป เพื่อให้ได้รับการยืนยันให้มั่นใจว่าตนยัง “ดูฉลาด” ดังนั้นเป้าหมายหลักของเด็กเหล่านี้คือ การเป็นคนที่  “ฉลาด”  ในขณะที่นักเรียนที่ได้รับการชมว่ามีความพยายาม เลือกที่จะทำงานที่ท้าทายมากขึ้น และบอกว่า “การเรียนรู้” เป็นเป้าหมายที่จูงใจตนให้ตั้งใจทำงานมากที่สุด

รูปภาพจาก: https://www.Mindsetworks.com/science/Teacher-Practices

ในการทดลองอีกหลายต่อหลายครั้ง ได้ผลไม่แตกต่างกันออกไป  นั่นคือ การสรรเสริญในสติปัญญาทำให้ความพากเพียรน้อยลง ความเพลิดเพลินในการเรียนรู้น้อยลง และประสิทธิภาพก็แย่กว่า  เพราะเมื่อนักเรียนได้รับคำชมว่ามีความสามารถสูง พวกเขาถือว่าความสำเร็จมาจากคุณภาพที่ตายตัว และไม่เปลี่ยนแปลงของตนเอง ในขณะที่นักเรียนที่ยกย่องในความพยายามนั้นเชื่อว่า ผลงานของพวกเขา มาจากความเพียรพยายาม และเมื่อเพียรพยายามต่อ ผลงานของเขาต้องดีขึ้นได้อีก

          นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยที่ชี้ว่า กรอบความคิดของนักการศึกษาก็มีอิทธิพลต่อวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อนักเรียน และส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนด้วย ในการศึกษาปี 2012 งานวิจัยพบว่านักการศึกษาที่มี Fixed Mindset เกี่ยวกับความสามารถทางคณิตศาสตร์ มีแนวโน้มที่จะปลอบใจนักเรียนที่ถูกมองว่า ความสามารถทางคณิตศาสตร์ต่ำด้วยการใช้กลยุทธ์แบบ “ใจดี” พวกเขาจะลดความคาดหวังต่อนักเรียนลง “เน้นความสบาย” ทำให้เนื้อหาคณิตศาสตร์ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณบอกให้นักเรียนยอมรับว่า ตนมีความสามารถเท่านี้แหละ

          ผลการวิจัยที่ดูเหมือนธรรมดานี้ สั่นสะเทือนวัฒนธรรมการชมเชยเด็กที่เราส่วนใหญ่ทำอยู่ ดร.คารอลพบว่า การยกย่องที่ความสามารถ จะผลักดันนักเรียนให้เข้าสู่ Fixed Mindset “เด็กที่ได้รับคำชมว่าเก่ง ฉลาด เมื่อเราให้งานใหม่ที่พวกเขาเลือกได้ พวกเขาจะปฏิเสธงานใหม่ที่ท้าทาย พวกเขาไม่ต้องการทำอะไรที่อาจจะเปิดเผยข้อบกพร่องและตั้งคำถามต่อความสามารถของพวกเขา ในทางตรงกันข้ามกับนักเรียนได้รับการยกย่องในความพยายาม จำนวนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ชอบเลือกงานใหม่ที่ท้าทาย ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ได้ พัฒนาขึ้นไปอีก”

          เมื่อกลับมาพิจารณาสิ่งที่ปฏิบัติกันในสังคมเรา ก็จะเห็นได้ว่ามีวัฒนธรรมและมุมมองเรื่องความฉลาดที่เป็นอยู่ ผลักไสคนในสังคมให้ยิ่งมีกรอบความคิดตายตัว สิ่งที่เราเห็นเสมอคือ เมื่อเด็กที่ถูกชมว่าฉลาด จะเลือกทำใน สิ่งที่ง่ายกว่า เราก็ยิ่งไปชมเด็กว่า ฉลาดเลือก สังคมไม่ได้สนับสนุนเด็กให้เลือกทำในสิ่งที่ยากขึ้น หรือท้าทายเพื่อพัฒนาต่อยอดความรู้ความสามารถออกไป แต่การศึกษาของบ้านเรากลับส่งเสริมให้เด็กพิสูจน์ว่าตนเองดีที่สุดในกรอบความรู้ที่ครูให้เท่านั้น ซึ่งการส่งเสริมเช่นนี้ไม่เพียงส่งเสริมความคิดแบบตายตัว แต่ยังผลักไสให้เยาวชนไทยไม่มีความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ ไม่มีทักษะในการเรียนรู้และทำงานแบบใหม่ๆซึ่งมีประสิทธิภาพกว่า ซึ่งทักษะความสามารถที่กล่าวไปนี้ต้องการความพยายาม ยืดหยุ่น และความปรารถนาที่จะเดินไปในเส้นทางใหม่ที่อาจไม่มีใครเคยเดินมาก่อน เพื่อสร้างนวัตกรรม

          การทดลองที่น่าสนใจที่สุดในทำความเข้าใจผลกระทบของกรอบความคิดทั้งสองแบบที่มีต่อความคิดและพฤติกรรม คือ การที่ ดร.คารอลและทีม ให้เด็กทุกคนแก้ปัญหาที่ยากขึ้นจนถึงระดับที่เด็กทุกคนทำไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ถูกชมว่าฉลาด หรือเด็กที่ถูกชมว่ามีความพยายาม ผลปรากฏว่า เด็กที่ถูกชมว่าฉลาด เมื่อเจอปัญหาที่ตนแก้ไม่ได้ ก็พากันคิดว่า “จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ฉลาดหรือมีพรสวรรค์อะไรเหมือนอย่างที่คิดนี่” แต่เด็กที่ถูกชมเรื่องความพยายาม ยังคิดว่า ที่ทำไม่ได้ เป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ว่าพวกเขาต้องใช้ความพยายามมากขึ้น “ยังทำไม่ได้” ไม่ใช่ความล้มเหลวหรือสติปัญญาตนไม่ดีพอ แล้วเด็กเหล่านี้ก็พยายามหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป

          สำคัญยิ่งกว่านั้นกรอบความคิด Fixed Mindset และ Growth Mindset ยังส่งผลต่อความสุขและความเพลิดเพลินในการเรียนรู้  เด็กทุกคนสนุกกับคำถามง่ายๆในรอบแรก ซึ่งเด็กส่วนใหญ่เข้าใจและตอบถูก แต่ทันทีที่คำถามมีความท้าทายยากขึ้น เด็กที่ถูกชมว่ามีความพยายามไม่เพียงแต่สนุกกับปัญหาเท่านั้น แต่ยังบอกว่ายิ่งท้าทายยิ่งสนุก แตกต่างจากเด็กที่ถูกชมว่ามีความสามารถ จะแสดงอาการท้อแท้  ไม่สนุกกับการก้าวสูงขึ้นไป

          ผลที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นยิ่งน่าตกใจ เมื่อนักวิจัยขอให้นักเรียนเขียนจดหมายส่วนตัวถึงเพื่อน เพื่อเล่าประสบการณ์และบอกคะแนนที่ได้ สี่สิบเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มี Fixed Mindset จากการถูกชมว่าฉลาด เก่ง เขียนโกหกเรื่องคะแนนของตน โดยบอกเพื่อนถึงเรื่องคะแนนที่ตนทำได้มากเกินความจริง ดร.คารอลได้พูดถึงปรากฎการ์นี้อย่างเศร้าใจว่า “ Fixed Mindset เชื่อว่าความไม่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่น่าละอาย โดยเฉพาะหากเราถูกยกย่องว่ามีความสามารถ เราจะผิดไม่ได้ หรือไม่เก่งไม่ได้เลย เด็กของเราจึงกลายเป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์ โดยที่เขาไม่รู้ตัว”

ผลงานวิจัยของ ดร.คารอลได้สะท้อนให้เห็นว่า กรอบความคิดพื้นฐานทั้งสองแบบเกิดขึ้นได้อย่างไร และ แสดงถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสองกรอบวิธีคิด  กรอบความคิดเติบโตเชื่อว่า “ความสำเร็จ ของคนแต่ละคนเกิดขึ้น เมื่อได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำให้ดีที่สุด” ในขณะที่กรอบความคิดตายตัว เชื่อว่า “ความสำเร็จคือการสร้างความเหนือกว่า และเป็นคนที่คู่ควรกว่าคนอื่น” ส่วนความพ่ายแพ้คือ ตราประทับที่น่าอดสูของชีวิต

          คำถามคือ เราต้องการให้เด็กของเราเป็นคนเช่นไร มุมานะพยายาม สร้างความสำเร็จจากการเรียนรู้ ล้มแล้วลุกได้ พัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง หรือเป็นคนไม่ยอมไปต่อ แพ้ไม่ได้ ไม่ซื่อสัตย์ แถมยังกีดกันผู้อื่นไม่ให้ได้ดีไปกว่าตน


อ้างอิง

  • Carol S. Dweck, Ph.D., Mindset: The New Psychology of Success, Ballantine Books, December 26, 2007
  • https://www.Mindsetworks.com/science/Teacher-Practices
  • Why Do Mindsets Matter?,The Impact of a Growth Mindset, https://www.Mindsetworks.com/ science/Impact
  • Maria Popowa, Fixed vs. Growth: The Two Basic Mindsets That Shape Our Lives, HTTPS:// WWW.BRAINPICKINGS.ORG/2014/01/29/CAROL-DWECK-MINDSET/
  • Aneeta Rattan, Catherine Good, Carol S. Dweck, “It’s ok — Not everyone can be good at math”: Instructors with an entity theory comfort (and demotivate) students, https:// scottbarrykaufman.com/wp-content/uploads/2012/02/Rattan-et-al.-2012.pdf