พฤติกรรมแบบ GROWTH MINDSET

กรอบความคิดแบบ Growth Mindset เชื่อและให้ความสำคัญกับ “ความพยายาม” ว่าเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความสำเร็จ 

เชื่อเรื่องการเรียนรู้ คนที่มี Growth Mindset แบบนี้ จะทำอะไรก็รู้สึกสนุก กระตือรือร้นในการแก้ปัญหา หมั่นประเมินตนเอง สนุกกับชีวิต กล้าเผชิญหน้ากับอนาคต เมื่อประสบปัญหาล้มเหลว แม้มีความเสียใจไม่ต่างกับคนอื่น แต่พฤติกรรมจะต่างออกไป ยิ่งเศร้ายิ่งลงมือทำ พร้อมรับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่โยนความผิดไปให้ผู้อื่น ไม่ตีโพยตีพายโชคชะตา มุ่งมั่นลงมือทำไม่ย่อท้อ กล้าที่จะยอมรับความบกพร่องผิดพลาด และพยายามหาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเติบโต เรียนรู้จากข้อผิดพลาดและข้อมูลป้อนกลับ

ไม่ตัดสินคน เมื่อทำงานร่วมกับผู้ใดหรือมีความสัมพันธ์กับใคร คนที่มี Growth Mindset ก็จะไม่ตัดสินคน ไม่มองคนตายตัว และไม่ได้คิดเปรียบเทียบตนกับใคร จึงมักเป็นคนที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา กล้าบอกความรู้สึกของตนเองโดยไม่ใส่อารมณ์ กล้าที่จะไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีใครโง่หรือฉลาด ทุกคนคือส่วนหนึ่งของทีมที่เรียนรู้ได้ คนเหล่านี้จะมีพฤติกรรมที่เคารพเอาใจใส่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น ให้ความดีความชอบกับผู้อื่นและเพื่อนร่วมงาน ไม่ตัดสินคนตามมาตรฐานความเชื่อของตน รับฟังเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น พิจารณาความเป็นไปและบริบทที่เป็นจริง

เข้าใจและเห็นอกเห็นใจ คนที่มี Growth Mindset มีพฤติกรรมที่แสดงถึงความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่นและให้กำลังใจคน ดำเนินชีวิตด้วยความพร้อมที่จะยินดีช่วยให้คนอื่นเติบโตไปด้วยกัน กล้าที่จะให้คุณค่ากับแนวคิดใหม่ๆ กล้าเสี่ยงมากกว่าในภารกิจที่ยาก และต้องใช้ความพยายาม ให้รางวัลกับทีมมากกว่าอัจฉริยะที่ทำงานคนเดียว และคนเหล่านี้ไม่ให้อภิสิทธิแก่ใครเป็นพิเศษ

ให้คุณค่ากับการกระทำด้วยความพยายาม คนที่มี Growth Mindset จึงมีนิสัยการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยการกำหนดสิ่งที่ต้องทำ มีการวางแผน ทบทวนแผน ปรับแผน เปลี่ยนกลยุทธที่ใช้ในอดีต กำจัดข้อบกพร่องและจุดอ่อนของตนตลอดเส้นทางการทำงาน เพื่อให้งานพัฒนาขึ้นตลอดเวลา เมื่อเกิดมีความผิดพลาดเกิดขึ้น คนเหล่านี้ไม่ได้คิดว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้โลกพังทะลายลงทันที ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีหนทาง ดังนั้นเรามักพบว่า คนที่มีกรอบความคิดเติบโตเรียนรู้ที่จะตลกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากรู้สึกโมโหจนสติแทบแตกก็จะไม่โวยวาย แต่รู้จักที่จะจัดการตนเองให้สงบลง ทบทวนเรื่องราวแล้วจึงค่อยสื่อสาร

เชื่อว่ายิ่งแก้ปัญหา ยิ่งเรียนรู้ งานวิจัยของ ดร.คารอล เอส ดเว็ค นักจิตวิทยาระดับโลก ผู้ศึกษาเรื่อง Growth Mindset อย่างยาวนานกว่าสามสิบปี แสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็กที่มี Growth Mindset มีความกระตือรือร้นด้วยตนเอง ไม่ต้องให้มีใครต้องบังคับ ในวิชาคณิตศาสตร์เวลาครูให้โจทย์เลขยากๆในห้องเรียน นอกจากจะพยายามแก้โจทย์ในห้องเรียนให้ได้แล้ว เด็กเหล่านี้ก็ยังพยายามฝึกและหาโจทย์เลขยากๆไปหัดแก้ที่บ้านด้วยตนเอง พวกเขาตระหนักดีว่ายิ่งแก้ปัญหาได้มากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น

แข่งขันกับตนเอง  คนที่มี Growth Mindset ไม่สนใจที่จะได้คะแนนสูงสุดหรือดีกว่านักเรียนคนอื่น พวกเขามีความพึงพอใจในการผลักดันตัวเอง โดยไม่ขีดเส้นจำกัดศักยภาพในการเติบโตของตนเอง พฤติกรรมเช่นนี้ของเด็กจะแสดงออกในสิ่งที่ตนเองชอบ ไม่ว่า จะเป็นดนตรีหรือกีฬา การเขียนหรือการวาดภาพ พวกเขาจะฝึกฝนอย่างไม่ลดละ และค่อนข้างตระหนักดีว่าการฝึกฝน การเผชิญกับความล้มเหลวในบางครั้ง และการลองถูกลองผิด ทดลองวิธีการใหม่ๆทำให้ตนพัฒนาทักษะได้ดีขึ้น

ดร.แครอลมีความเห็นว่า ผลการเรียนของเด็กที่ทำออกมาในแต่ละครั้ง สะท้อนแค่ผลการเรียน ในช่วงเวลาหรือเทอมนั้นๆ การดูแค่ผลการสอบยากที่จะบอกว่าเด็กแต่ละคนมีระดับความฉลาดแค่ไหน เด็กๆที่มี Growth Mindset ที่ทำผลงานในระยะแรกไม่ดี เมื่อทำงานหนัก ทุ่มเทอุตสาหะ ผลที่ตามมาคือ ความก้าวหน้าและการพัฒนา ส่งผลให้ความรู้ ความสามารถและทักษะพัฒนาไปจากระดับเดิม นอกจากนี้ยังพบเห็นด้วยว่า คนแบบนี้จะมุ่งเข้าถึงผู้อื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ หากไม่สามารถทำเรื่องนั้นด้วยตัวเองได้ กล้าพูดคุยเกี่ยวกับความผิดพลาดและความผิดพลาดของตนเพื่อพัฒนา จัดทำแผนงานที่เป็นรูปธรรม สู่การบรรลุเป้าหมายของตน

พัฒนาไปด้วยกันในความสัมพันธ์ คนที่มี Growth Mindset สนับสนุนให้คู่ของตนเรียนรู้และ ทำงานพัฒนาไปด้วยกัน เมื่อพวกเขาเล่นกีฬา พวกเขาเล่นโดยรู้ว่าพวกเขากำลังรับใช้ทีม เมื่อพวกเขาดำเนินธุรกิจ พวกเขาแสดงความเคารพต่อพนักงาน รู้สึกขอบคุณสำหรับงานที่ทำ และขอความเห็นอย่างตรงไปตรงมาในสิ่งต่างๆ เมื่อคนที่มี Growth Mindset มีความสัมพันธ์กับใคร จะมีใจที่เปิดกว้างว่าคนอื่นๆ แตกต่างจากตนได้ และเรียนรู้วิธีที่จะยอมรับความแตกต่าง และจัดการทำให้ทุกคนต่างเติบโตไปด้วยกัน ทำให้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เกิดบรรยากาศของความไว้วางใจพัฒนาขึ้น พวกเขาสนใจและส่งเสริมการพัฒนาของกันและกันและของทีม

คริสโตเฟอร์ รีฟ พระเอกชาวอเมริกันที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการรับบท “ซูเปอร์แมน”ที่โด่งดัง ไปทั่วโลกในยุคหนึ่ง หลังประสบอุบัติเหตุรุนแรงตกจากหลังม้าขณะแข่งขันในปี พ.ศ. 2538 เขาต้องกลายเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงไป และแพทย์คาดการณ์ว่าในที่สุดเขาก็จะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน แต่คริสโตเฟอร์มีกรอบความคิด แบบ Growth Mindset แทนที่จะยอมรับชะตากรรม เขาพยายามควบคุมสถานการณ์ชีวิต ตัดสินใจและเข้ารับการฝึกฝนร่างกายอย่างต่อเนื่อง และทรหดอย่างอดทน จนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็เกิดขึ้น เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น ชะตาชีวิตของคริสโตเฟอร์ตรงกันข้ามกับการวินิจฉัยทั้งหมด เขาสามารถขยับมือ ตามการขยับด้วยขา และ ท้ายที่สุดร่างกายส่วนบนทั้งหมดของเขาสามารถขยับได้ ยิ่งกว่านั้น ด้วยกรอบความคิดแบบเติบโตภายใต้ร่างกายที่เสียหายตั้งแต่คอลงมา คริสโตเฟอร์ รีฟ ยังได้ทำงานสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง การวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนของมนุษย์ และความคุ้มครองคนพิการให้ได้รับการประกันที่ดีขึ้น ก่อตั้งมูลนิธิคริสโตเฟอร์และดาน่ารีฟและร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยรีฟ-เออร์ไวน์ อย่างไม่ยอมย่อท้อต่อข้อจำกัดของชีวิต


อ้างอิง

  • Carol S. Dweck, Ph.D., Mindset: The New Psychology of Success, Ballantine Books, December 26, 2007
  • Why Do Mindsets Matter?,The Impact of a Growth Mindset, https://www.Mindsetworks.com/ science/Impact
  • Christopher Reeve, https://en.wikipedia.org/wiki/Christopher_Reeve  สืบค้น 7 กย. 2564
  • Maria Popowa, Fixed vs. Growth: The Two Basic Mindsets That Shape Our Lives, HTTPS:// WWW.BRAINPICKINGS.ORG/2014/01/29/CAROL-DWECK-MINDSET/
  • ‘growth Mindset’ changed education forever, https://www.Mindsetworks.com/science/ Teacher-Practices, สืบค้น 7 กย. 2564