คนที่มี GROWTH MINDSET

กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่า คุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ สามารถปลูกฝังได้ด้วยความพยายามและการเรียนรู้ แม้จะเกิดมาแตกต่างกันไปในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถและความถนัด ความสนใจ หรือนิสัยใจคอก็ตาม แต่ทุกคนก็สามารถเปลี่ยนแปลงและเติบโตผ่านการฝึกฝนและประสบการณ์

ในกรอบความคิดแบบเติบโตมีมุมมองว่า เราไม่สามารถประเมินใครได้ด้วยผลงานเพียงครั้งเดียว คะแนนที่ได้ทำให้รู้ว่า เราอยู่ตรงจุดไหน คะแนนไม่ใช่การตัดสิน แต่เป็นข้อมูลเชิงสถิติที่ใช้ในการพัฒนาตนเอง คนที่มีความคิดแบบนี้เชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาได้ มนุษย์เรานั้นมีศักยภาพอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะเอาชนะหรือทำในสิ่งที่อาจเป็นไปไม่ได้ ด้วยแรงปรารถนา มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความรักในสิ่งนั้น และฝึกฝนยอมเหนื่อยยาก พยายามอย่างไม่ย่อท้อต่อเนื่อง

ในขณะที่คนที่มี Fixed Mindset มองความล้มเหลวว่าเป็นหายนะ คนที่มี Growth Mindset กลับมองว่าความล้มเหลวแม้เจ็บปวด แต่ก็เป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่จะทำให้ตนพัฒนาขึ้นไปอีก ความล้มเหลวเป็นเหมือนคำบอกใบ้ในการพัฒนาต่อ ผู้ที่มี Growth Mindset จะทำงานหนักและฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อเติมเต็มศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ขยายขอบเขตความรู้และทักษะของตัวเองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ พัฒนาตัวเอง สนุกกับการแก้ปัญหา ความล้มเหลวไม่ได้เป็นตราบาป ไม่ใช่ความอับอาย ไม่ได้ทำให้เราด้อยค่าลง เพราะเรายังสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีก ความพยายามคือสิ่งที่ทำให้เราฉลาดขึ้นได้ มีความสามารถมากขึ้นได้ สติปัญญาเกิดขึ้นจากความพยายาม เรียนรู้จากคนที่เก่งกว่า จากการฝึกฝน และความร่วมมือกับผู้อื่น

คนที่มี Growth Mindset เชื่อว่ามนุษย์นั้นเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ความถนัด ความสนใจ นิสัยใจคอ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความพยายามและประสบการณ์ ความสำเร็จเกิดจากความพยายามอย่างเต็มที่ การเรียนรู้และพัฒนาตนเองเป็นคุณสมบัติที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย จะให้ความสนใจกับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ สามารถเห็นพัฒนาการของตนเอง หากแพ้ก็กลับไปฝึกฝนให้หนักขึ้นอีก หากยังทำไม่สำเร็จ ก็เรียนรู้ ปรับปรุง ปลดปล่อยพลังความสามารถออกมาให้เต็มที่ มีความพยายาม ไม่ยอมแพ้ แม้อยู่ในสถานการณ์ที่พ่ายแพ้ ก็ยังยืนหยัด หาทางออก ไม่ยอมแพ้อย่างหมดรูป

รูปภาพจาก https://www.Mindsetworks.com/science/Default

เมื่อ GROWTH MINDSET มองตนเอง

เชื่อว่าเราพัฒนาได้ คนที่มีกรอบความคิด Growth Mindset มองตนเองว่าสามารถพัฒนาได้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณลักษณะ ความสามารถ และทักษะในเรื่องต่างๆ ให้คุณค่าความสำเร็จจากการที่ได้ทำสิ่งใหม่ ไม่ใช่ความสำเร็จเดิมๆ ที่ทำแบบซ้ำๆ เรียนรู้และท้าทายตนให้พัฒนาต่อ มองตนเองว่าเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ทุ่มเทให้กับการ ฝึกฝน ไม่ได้เป็นเพราะเก่งกว่าคนอื่น หรือเก่งมาแต่เกิด

อยากสำเร็จต้องพยายาม เมื่อเจอคนที่เก่งกว่า หรือเรื่องที่ยากก็ไม่ได้คิดว่าตนแย่กว่าคนอื่น หรือไม่มีความสามารถที่จะทำเรื่องนั้นได้ รู้แต่ว่าหากตนต้องการไปถึงจุดหมาย ตนต้องพยายามมากกว่าคนอื่น เมื่อเจอปัญหาหรือความล้มเหลวและรู้สึกเสียใจ คนที่มีกรอบความคิดเติบโต จะไม่หวั่นไหวกับสถานะของตนเองหรือตำหนิตัวเอง แต่จะเรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตนเองให้ลุกขึ้น เรียนรู้ข้อผิดพลาด ถอดบทเรียน ถามตนเองว่า ตนเองได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ หากคราวหน้าเจอแบบนี้อีกจะทำอย่างไร และบอกตัวเองว่า “พยายามต่อไป” ไม่เลิกรา

ล้มเหลวเพราะยังฝึกไม่พอ ด้วยความเชื่อในคุณค่าว่า คนเติบโตเรียนรู้ได้ จึงมีมุมมองว่า หากความล้มเหลวเกิดจากตนเองนั้นเกิดจากการที่ยังฝึกฝนไม่พอ ยังเปิดศักยภาพตนเองไม่เต็มที่ การใส่ใจเรียนรู้ทำให้คนที่มีกรอบความคิด Growth Mindset ประเมินและ เข้าใจตนเองได้ดี รู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตนเอง และไม่หยุดที่จะก้าวต่อไป มีความหวัง และพัฒนาตนเองในทุกวันของชีวิต ความล้มเหลว สามารถเปลี่ยนแปรเป็นแรงจูงใจ เป็นข้อมูล เป็นคำเตือน เมื่อพลาดก็ฝึกฝน ต่อไป ไม่มีคำว่าสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างยังสามารถพัฒนาต่อไปได้เสมอ เมื่อทำอะไรทำไปจนตลอดรอดฝั่ง และรับผิดชอบต่อผลงาน และการกระทำของตน

เมื่อ GROWTH MINDSET มองโลก คนอื่นและสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว

โลกหมุนไม่หยุด การเรียนรู้ไม่สุดสิ้น คนที่มีกรอบความคิดเติบโต หรือ Growth Mindset มองว่าโลกหมุนไม่เคยหยุด และสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่ง การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตยินดีรับปัญหาและมองว่าปัญหาไม่ใช่อุปสรรคที่ผ่านไม่ได้ เต็มใจทุ่มเทพลังเพื่อพัฒนาตนเองและโลกรอบตัวให้ดีขึ้น

มีความเป็นทีม เห็นว่าการทำงานเป็นทีมทำให้ประสบความสำเร็จ ทุกคนมีความแตกต่างกัน แต่ทุกคนสามารถสร้างคุณค่าที่ส่งผลต่อความสำเร็จและเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ มองเห็นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีคนอยู่เบื้องหลัง แม้แต่การทำงานคนเดียวหรือการแข่งขันกีฬาประเภทเดี่ยว เช่น การแข่งขันว่ายน้ำ ยิมนาสติก นอกจาก นักกีฬาที่ต้องฝึกฝนอย่างหนักแล้ว ยังต้องมีทีมทำงานร่วม ไม่ว่าจะเป็นโค้ช เจ้าหน้าที่ดูแลด้านต่างๆ ไม่ว่าเรื่อง อาหารการกิน สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ

ไม่ครอบครองความฉลาดไว้คนเดียว  ดร.คารอล เอส.ดเว็ค นักจิตวิทยาผู้ริเริ่มแนวคิด Growth Mindset  ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของนักเรียนชั้นปีที่ 7 คนหนึ่งที่สะท้อนกรอบความคิดแบบ Growth Mindset ออกมาอย่างสวยงามว่า “ฉันคิดว่า “ความฉลาด” เป็นสิ่งที่คนต้อง “ลงมือทำ” เพื่อให้ได้มา และความฉลาดก็ไม่ได้มีไว้เพื่อมอบให้คุณคนเดียวเท่านั้น”

นั่นหมายความว่า คนที่มี Growth Mindset นอกจากไม่คิดเปรียบเทียบว่าตนเองเก่งหรือโง่กว่าคนอื่น แต่เน้นฝึกฝน เรียนรู้เพื่อให้ได้ความฉลาด  และก็ไม่ได้คิดว่าเมื่อตนพยายามจนสำเร็จแล้ว จะมีอภิสิทธิกลายเป็นคนฉลาดเหนือคนอื่น ที่จะครอบครองความฉลาดไว้คนเดียว ทุกคนสามารถฉลาดขึ้น ฉลาดได้อีก ตราบใดที่ยังเรียนรู้และพยายาม นักเรียนคนนี้ยังพูดอีกว่า “เพื่อนๆส่วนใหญ่ หากไม่แน่ใจในคำตอบ จะไม่ยกมือตอบ แต่สิ่งที่หนูทำคือ คอยยกมือตอบคำถามของครู เพราะถ้าหนูตอบผิดหนูก็จะได้แก้ไข บางทีหนูก็ยกมือถามว่า “จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร” หรือ “หนูไม่เข้าใจ คุณครูช่วยอธิบายหนูได้ไหม” แค่ทำอย่างนี้ หนูก็รู้เพิ่มขึ้น ฉลาดขึ้น”

ยอมรับความไม่สมบูรณ์ในความสัมพันธ์ เมื่อคนมี  Growth Mindset  จะรับรู้ความไม่สมบูรณ์ของคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก พ่อแม่ ลูก เพื่อน ทีมงาน โดยไม่กล่าวโทษ ตำหนิติเตียน เห็นว่าความสัมพันธ์ที่มีต่อกันเป็นสิ่งที่พัฒนาเติมเต็มให้แก่กันและกันได้ เมื่อมีความขัดแย้งก็จะมีมุมมองว่า เป็นปัญหาของการสื่อสาร ไม่ใช่เพราะบุคลิกภาพหรืออุปนิสัยของตนหรืออีกฝ่ายที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้   Growth Mindset ทำให้คนเชื่อว่า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงไปและพัฒนาได้ ไม่ว่าจะเป็นตนเองที่สามารถพัฒนาขึ้น หรือคนอื่น ทุกคนสามารถเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น


อ้างอิง

  • Why Do Mindsets Matter?,The Impact of a Growth Mindset, https://www.Mindsetworks.com/ science/Impact
  • Carol S. Dweck, Ph.D., Mindset: The New Psychology of Success, Ballantine Books, December 26, 2007
  • Maria Popowa, Fixed vs. Growth: The Two Basic Mindsets That Shape Our Lives, HTTPS:// WWW.BRAINPICKINGS.ORG/2014/01/29/CAROL-DWECK-MINDSET/
  • ‘growth Mindset’ changed education forever, https://www.Mindsetworks.com/science/ Teacher-Practices, สืบค้น 7 กย. 2564