พฤติกรรมของคนที่มี Fixed Mindset

ดร.คารอล เอส ดเว็ค นักจิตวิทยาชื่อดังผู้เขียนหนังสือเรื่อง Mindset : The New Psychology of Success ได้นำเสนอว่า ความเชื่อพื้นฐานที่เรามีเกี่ยวกับตนเอง ทำให้เรามีวิธีมองและวิธีดำเนินชีวิต ตามสิ่งที่เราคิดว่าเป็นบุคลิกภาพของเรา

คนที่มีกรอบความคิดแบบ Fixed Mindset จะมีความเชื่อพื้นฐาน ว่า ความฉลาดและความสามารถในการสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่มีมาแต่กำเนิด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากนัก ความสำเร็จคือการยืนยันของความฉลาดโดยธรรมชาติ ที่ทุกคนได้มาไม่เท่าเทียมกัน พฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงเป็นการดิ้นรนเพื่อให้ประสบความสำเร็จในความถนัดที่ตนเองมี ล้มเหลวไม่ได้ เพราะความล้มเหลวจะเป็นหลักฐานว่าตนเป็นผู้แพ้ ความพ่ายแพ้ครั้งเดียวสามารถลบล้างและลดคุณค่าความสำเร็จในอดีตทั้งหมด

ดร.คารอลได้ยกตัวอย่างว่า ความล้มเหลวมีผลอย่างมากต่อคนที่มี Fixed Mindset ดังเช่น พฤติกรรมของ เซอร์จิโอ การ์เซีย (Sergio García) นักกอล์ฟมืออาชีพชาวสเปนซึ่งชนะการแข่งขันระดับนานาชาติถึง 36 รายการ แต่มักจะไล่แคดดี้ของตนออกด้วยความโมโหเวลาที่ตีลูกพลาด ครั้งหนึ่งเมื่อตีลูกพลาด เขาถึงกับแสดงอาการโกรธ ด้วยการถอดรองเท้าขว้างใส่ผู้ชมที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

คนที่มี Fixed Mindset กลัวความรู้สึกว่า ตนเองไม่เก่ง เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นมา พฤติกรรมที่ แสดงออกมักเป็นการโทษคนอื่น หรือกล่าวโทษว่าสถานการณ์ไม่เป็นใจ คนเหล่านี้ชอบที่จะทำแต่เรื่องเดิมๆ ที่มั่นใจว่าทำแล้วประสบความสำเร็จแน่ เลือกทางที่ปลอดภัยไว้ก่อน พวกเขากลัวว่าการผิดพลาดจะเป็นการเปิดเผยข้อบกพร่องหรือความไม่รู้ของตน เขาจึงจะไม่ยอมทำอะไรใหม่ๆ ไม่ชอบการเรียนรู้ จะสนใจก็เฉพาะเรื่องที่ตนมีความสามารถ ทำได้หรือเชี่ยวชาญ เพราะต้องการได้รับคำชมเชยหรือการยอมรับ หากเป็นเรื่องที่ตนไม่ถนัด ก็จะหมดความสนใจใคร่รู้ เพราะกลัวจะต้องเสียหน้า

Fixed Mindset ไม่ชอบการประเมินตนเอง เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อได้รับการปฏิเสธ หรือประสบความพ่ายแพ้ในการแข่งขันใดๆ จะรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่เก่ง ไม่ฉลาด แต่กลับมีพฤติกรรมที่ชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อให้มั่นใจในสถานะที่ตนเองเป็นอยู่  มองคนที่ทำได้ไม่เท่าตนว่าแย่ พอใจกับคำชม ชอบพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าตนเองเก่ง สนใจภาพลักษณ์และเปลือกนอก สนใจผลงาน ชัยชนะ การได้รับการยอมรับ การได้รับสิทธิพิเศษ การมีอภิสิทธิ ได้หน้าตาชื่อเสียง เป็นคนสำคัญ รักหน้า รักศักดิ์ศรี ยึดมั่นถือมั่น เราจะพบคนที่มี Fixed Mindset ซึ่งมักคิดเสมอว่า ตนเท่านั้นที่เป็นที่หนึ่ง เมื่อคิดว่าตนเหนือกว่าคนอื่น คนที่มีกรอบคิดเช่นนี้จึงพร้อมใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือให้ตนได้อยู่เหนือขึ้นไป และพร้อมทำร้ายคนที่เห็นต่าง หรือคนที่ไม่ยอม “ลง” ให้กับตน ในขณะเดียวกันคนที่มี Fixed Mindset เมื่อคิดว่าตนไม่เก่ง ก็จะยอมรับสภาพ “แพ้” ตั้งแต่แรก ไม่พยายามที่จะเรียนรู้หรือพัฒนาต่อ

คนที่มี Fixed Mindset รับไม่ได้กับคำวิจารณ์ พยายามปกปิดข้ออ่อนข้อบกพร่องของตน ไม่พร้อมขอความช่วยเหลือถ้าทำบางสิ่งไม่ได้ดี มีปัญหาไม่พูด คิดว่า การมีปัญหานั้น “เป็นปัญหา” และคิดว่าปัญหานั้นจะหายไปได้เอง หากมีความพยายามก็ไม่ได้มีเพื่อเรียนรู้และพัฒนาสู่เป้าหมาย แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าตนเก่ง พวกเขาสนใจแต่ผลการตัดสิน เมื่อมีความพยายามทำสิ่งใด ก็จะทำด้วยความรู้สึกกดดัน เครียด ด้วยความคิดว่าผิดไม่ได้ แพ้ไม่ได้ หากมีคู่แข่งก็พร้อมใช้วิธีการทุกอย่างที่อาจเลยเถิด หรือเป็นวิธีการที่สกปรก เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียชื่อเสียงแล้วตนเองดูดี พร้อมจะดูถูกหรือรังแกคนที่ด้อยกว่า ไม่สนใจคนระดับล่าง

สังคมที่มีคน Fixed Mindset เป็นจำนวนมากมักมีการโกงมาก จากงานวิจัยของ ดร.คารอลพบว่า ผู้ที่มีกรอบความคิดตายตัวเมื่อทำอะไรไม่ได้ผลตามเป้าหมาย จะมีพฤติกรรมที่แก้ตัว ไปจนถึงโกง หรือ หมดความสนใจเลิกทำในเรื่องนั้นๆไปเลย แทนที่จะขอความช่วยเหลือหรือวิเคราะห์จุดอ่อนของตนเพื่อแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาต่อ ดร.คารอล กล่าวว่า Fixed Mindset ทำให้คนมองตนเองและคนอื่นเป็น “ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป” ไม่ได้มองว่าชีวิตคือกระบวนการต่อเนื่องที่เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด จึงไม่มีแรงจูงใจหรือความพยายาม ฝึกฝนตนเองให้ดีขึ้น ล้มแล้วลุกได้ยาก หรือลุกไม่ได้เลย

ผู้นำ Fixed Mindset มักมองไม่เห็นหัวคนอื่น คิดว่าตนเหนือกว่า โอ้อวด มีทิฐิ บางคนจองหอง ถือดี กังวลแต่เรื่องชื่อเสียงหน้าตา โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของตน มากกว่าทุ่มเททำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างแท้จริง มุ่งแต่เรื่องที่ทำให้คนยอมรับ เมื่อมีข้อบกพร่องก็ปกปิด ไม่ให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมงานและการทำงานเป็นทีม แต่จะใช้ลูกน้องเป็นเครื่องมือทำให้ตนเองมีผลงาน เลือกทำแต่เฉพาะสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูดี ผู้นำเช่นนี้ไม่ชอบผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีความสามารถ เพราะ Fixed Mindset ไม่เชื่อเรื่องการเรียนรู้และการพัฒนา แต่กลับชอบให้คนมาชื่นชม ยกยอป้อปั้น เมื่อเห็นคนที่เก่งกว่าแทนที่จะเรียนรู้จากเขา กลับรู้สึกว่าสถานะของตนไม่มั่นคง เห็นว่าคนที่เก่งกว่าเป็นภัยคุกคาม จนไปถึงขั้นต้องทำลายคนที่เก่งกว่า ดังที่เราเห็นมากมาย พฤติกรรมนี้ทำลายความคิดสร้างสรรค์และความสุขตั้งแต่ระดับครอบครัว ในห้องเรียน ในท่ีทำงาน ในสังคม

ถ้าผู้ตามเป็นแบบ Fixed Mindset  ก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อและศรัทธาผู้นำอย่างไม่ลืมหูลืมตา คิดว่าสิ่งที่ผู้นำพูดหรือทำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ ไม่มีข้อผิดพลาด เป็นคนที่พวกมากลากไป เมื่อทำสิ่งใดยังไม่ได้หรือเกิดความล้มเหลว จะหมดกำลังใจ ยอมแพ้ง่ายๆ ส่วนครูที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว จะชอบตัดสินนักเรียนว่าเด็กคนนี้ฉลาด เด็กคนนั้นโง่ แทนที่จะทุ่มเทความสนใจไปในการพัฒนาเด็กให้ดียิ่งขึ้นไป ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นอย่างไร ตามปรัชญาการศึกษา

งานวิจัยที่โดดเด่นน่าสนใจชิ้นหนึ่งของ ดร.คารอล เอส. ดเว็คและเพื่อนร่วมงาน ทำในเด็กเล็ก งานวิจัยชิ้นนี้กลุ่มเป้าหมายคือเด็กอายุสี่ขวบ ในการวิจัย ได้ให้เด็กเล่นต่อปริศนาจิ๊กซอว์ โดยให้เด็กเลือกว่า จะต่อจิ๊กซอว์ง่ายๆ ซ้ำไปเรื่อยๆ หรือลองทำแบบที่ยากขึ้นก็ได้ ผลการวิจัยพบว่า แม้แต่เด็กเล็กอายุเพียง 4 ขวบเหล่านี้ ก็มีกรอบความคิดพื้นฐาน 2 ชุดนี้ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจและพฤติกรรมที่แสดงออกมา เด็กที่มี Fixed Mindset ต้องการการอยู่อย่างปลอดภัย จะเลือกจิ๊กซอว์ที่ง่ายกว่า และทำซ้ำไปเรื่อยๆให้นักวิจัยเห็นว่าตนสามารถทำได้ เป็นการยืนยันความสามารถที่มีอยู่เดิมของตน จึงทำจิ๊กซอว์แบบเดิมซ้ำ ไม่ยอมเปลี่ยน ในขณะที่เด็กที่มี Growth Mindset จะสงสัยว่า ทำจิ๊กซอว์แบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำไม  ถ้าทำแบบหนึ่งได้แล้ว ก็สนุกที่จะลองทำแบบใหม่ๆ ต่อไป แม้ว่าการทำใหม่ในครั้งแรกๆจะใช้เวลานาน หรือทำได้ไม่ดีนัก พอทำได้ดีก็อยากทำจิ๊กซอว์ที่ท้าทายขึ้น

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เด็กที่มี Fixed Mindset ต้องการแน่ใจว่า ตนประสบความสำเร็จตลอดไป ในขณะที่เด็กที่มี Growth Mindset ต้องการขยายขอบเขตการเรียนรู้และทักษะของตน แม้ว่าทำครั้งแรกๆจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม


อ้างอิง

  • Carol S. Dweck, Ph.D., Mindset: The New Psychology of Success, Ballantine Books, December 26, 2007
  • Maria Popowa, Fixed vs. Growth: The Two Basic Mindsets That Shape Our Lives, HTTPS:// WWW.BRAINPICKINGS.ORG/2014/01/29/CAROL-DWECK-MINDSET/
  • ‘growth Mindset’ changed education forever, https://www.Mindsetworks.com/science/ Teacher-Practices, สืบค้น 7 กย. 2564