ไปต่อหรือยอมแพ้ อยู่ที่ Mindset

ทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เรารู้ว่าต้นธารของการกระทำที่แสดงออกมาเป็น พฤติกรรม นิสัย และความเชื่อนั้น เกิดจากกระบวนการที่เซลล์ประสาทในสมองของเราได้รับการกระตุ้น แล้วเกิดการเชื่อมต่อกัน จนเป็นวงจรประสาทที่แข็งแรง การเรียนรู้ที่ผ่านมาหรือประสบการณ์ที่ก่อรูปเป็นตัวตนในทุกวันนี้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ และทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในทางกีฬา ดนตรี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ เกิดขึ้นได้ ก็ด้วยปัจจัยสำคัญคือการได้รับการกระตุ้น หรือได้รับประสบการณ์ในการทำซ้ำ ฝึกฝนจนคล่องแคล่วเชี่ยวชาญ นอกเหนือจากความรัก ความสามารถ หรือพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แล้วยังมี “อะไร”อีกหรือไม่ ที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จในระยะยาว และมีชีวิตที่แตกต่างกันมากมาย

Mindset คืออะไร สำคัญอย่างไร

มีการถกเถียงกันมาตลอดว่า อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ หรือมีความสามารถเก่งกาจกว่าผู้อื่น พรสวรรค์ หรือ พรแสวง(การฝึกฝน)  มีการค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง และมีมุมมอง ใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆที่ถูกเสนอขึ้นมา

ทุกวันนี้ คำหนึ่งที่เรามักได้ยินกันมากในเรื่องนี้ คือคำว่า Mindset ที่หมายถึง “กรอบความคิด ความเชื่อหรือทัศนคติที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรม” อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ที่ชีวิตพานพบ ซึ่งแต่ละคนต่างมีความแตกต่างกันไปตามบริบทเฉพาะของตน ประสบการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กที่เราพบ มีอิทธิพลสร้างการเรียนรู้ให้กับเรา เช่น หากเราเคยตกใจสุดขีดเพราะถูกหมากัด สิ่งที่ฝังอยู่ในใจเราโดยที่เราแทบไม่รู้ตัวเลยคือร่องรอยของประสบการณ์ที่ทำให้เรากลัวหมา ทุกครั้งก็อยากหลีกไปให้ไกลจากเส้นทางที่หมาเดิน ในขณะที่เพื่อนเราอีกคนหนึ่งเติบโตมากับการเลี้ยงหมา ได้วิ่งเล่น เห็นความน่ารัก ความซื่อสัตย์ จนเห็นหมาเป็นเพื่อนยาก ประสบการณ์ที่ฝังแน่นบอกว่า หมาเป็นสัตว์น่ารัก เห็นหมาที่ไหน ครั้งใด ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปทักทาย เล่นด้วย และเป็นเรื่องยากมากที่จะให้คนสองคน ซึ่งมีประสบการณ์ต่างกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ที่รุนแรง จะเปลี่ยนความคิดของตนที่มีต่อสิ่งเดียวกันได้

จากตัวอย่างที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า Mindset หรือความเชื่อที่ฝั่งแน่น ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่มีบทบาทสำคัญ เพราะบุคคลนั้นๆจะได้ใช้มันเป็น “กรอบในการคิด การมอง ทั้งตนเองและผู้อื่น และแสดงพฤติกรรมออกมาจากแง่มุมของกรอบความคิดนั้นๆ” คนแต่ละคนอาจมีกรอบ ความคิดหรือ Mindset ต่อเรื่องต่างๆทั้งบวกและลบโดยไม่รู้ตัว เช่น บางคนเชื่อว่าฉันไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ฉันจึง ไม่มีทางทำได้  ในขณะที่ บางคนอาจจะเชื่อว่า ฉันเก่งเรื่องนี้ และฉันพยายามไปให้ดีที่สุด เป็นต้น

สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและการเลี้ยงดูเป็นเบ้าหลอมประสบการณ์ที่ทุกคนต้องได้รับ จึงมีอิทธิพลสร้างกรอบความคิดให้เกิดขึ้นในตัวเราโดยที่เราไม่รู้ตัว และกรอบความคิดหรือ Mindset ที่เรามี เป็นตัวกำหนดมุมมองของเราที่มีต่อแต่ละเรื่องที่เข้ามา ต่อโลกรอบตัว และที่สำคัญคือมุมมองต่อตัวเราเอง เป็นตัวชี้นำการตัดสินใจ กำหนดการกระทำและพฤติกรรมของเราที่แสดงออกไป ส่งผลต่อการพัฒนาตนเอง ความสำเร็จที่ตามมาและ ความสุขที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

ทุกวันที่ชีวิตดำเนินไป เราได้รับประสบการณ์ใหม่มากบ้าง น้อยบ้างต่างกันไป แต่ทุกประสบการณ์ สร้างการรับรู้ การเรียนรู้ใหม่ๆให้กับเราเสมอ และการเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นทำให้ความคิดที่เรามองตัวเอง และผู้อื่น หรือความเชื่อที่เราเคยมีมา เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้จากการทำงานของสมอง

MINDSET พื้นฐาน 2 แบบ

ดร. คารอล เอส. ดเว็ค (Carol S. Dweck) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ได้นำทีมวิจัยศึกษาความคิด ความเชื่อและพฤติกรรมที่แสดงออกตามความเชื่อที่บุคคล มีต่อสิ่งต่างๆเป็นเวลานานกว่าสามสิบปี โดย ดร.คารอลและทีมงานวิจัยเริ่มศึกษาทัศนคติของนักเรียนเกี่ยวกับความล้มเหลว ทีมวิจัยสังเกตเห็นว่า เมื่อประสบความล้มเหลวในการทำคะแนนสอบ นักเรียนส่วนหนึ่งพยายามปรับปรุงตัวและสามารถทำคะแนนเพิ่มขึ้น ในขณะที่นักเรียนอีกส่วนหนึ่ง บางครั้งแม้เจอความล้มเหลวเพียงเล็กน้อยก็จะรู้สึกผิดหวัง ไม่อยากเรียนวิชานั้น หรือไม่มีกำลังใจที่จะไปต่อ

จากการวิจัยจำนวนมากที่ทำอย่างต่อเนื่อง ดร.คารอลพบว่า เมื่อนักเรียนเชื่อว่า ตนสามารถฉลาดขึ้นกว่าเดิมได้ ก็จะมีความเข้าใจว่า ความพยายามทำให้ตนเก่งและฉลาดขึ้นได้ ดังนั้นเด็กนักเรียนเหล่านี้จึงใช้เวลาในการเรียนด้วยความพยายามมากขึ้น และพบว่าความพยายามที่ทุ่มเทลงไป นำไปสู่ความสำเร็จในการเรียน ด้วยผลงานและคะแนนที่สูงขึ้น

หลังจาก ดร.คารอล ทำการศึกษาพฤติกรรมของเด็กนักเรียนหลายพันคน ได้สังเคราะห์งานวิจัยและ อธิบายสิ่งที่ค้นพบว่า มีกรอบความคิดพื้นฐานที่สำคัญ 2 ชุด ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและการพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จ คือกรอบความคิดที่เชื่อและยึดติดตายตัว ว่าตนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ กับ กรอบความคิดที่เป็นด้านตรงกันข้ามกัน คือ เชื่อมั่นการเติบโต  ดร.คารอลได้บัญญัติศัพท์เฉพาะโดยเรียกกรอบความคิดที่ยึดติดตายตัว ว่า Fixed Mindset และเรียกกรอบความคิดที่เชื่อเรื่องการเติบโตว่า Growth Mindset เพื่ออธิบายความเชื่อพื้นฐานที่ผู้คนมีเกี่ยวกับการเรียนรู้และสติปัญญา

ความรู้เรื่อง Fixed Mindset และ Growth Mindset ถือเป็น “จิตวิทยาสมัยใหม่แห่งความสำเร็จ” ที่ทำให้คนตระหนักถึงพลังของ “ความเชื่อ” ซึ่งคนทุกคนมีอยู่ในสมองของตน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ความเชื่อ หรือกรอบความคิดพื้นฐานนี้  จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตในเกือบทุกมิติ ตั้งแต่ การเรียนรู้ การตัดสินใจ ความสำเร็จ ความสุข สุขภาพ และความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับคู่ครอง

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การศึกษาเรื่องกรอบความคิดทั้งสองอย่างกับการทำงานของสมอง ดร.คา รอล ได้ทำการทดสอบคลื่นสมอง เพื่อศึกษาว่าสมองของคนที่มีกรอบความคิดแตกต่างกัน มีการตอบสนองและมีพฤติกรรมอย่างไรเมื่อตอบคำถามยากๆ และเมื่อได้รับคำติชม  สิ่งที่ทีมวิจัยพบคือ ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบ Fixed Mindset นั้น สมองจะแสดงการตอบสนองเฉพาะการได้ยินคำติ หรือคำชม ที่สะท้อนถึงความสามารถในปัจจุบันของพวกเขาโดยตรง ประจุไฟฟ้าในสมองจะ Active ทุกครั้งที่ได้ “คำชม” หรือได้รับการบอกว่าสิ่งที่ตนตอบนั้น “ผิด”

แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อนักวิจัยทดลองถามคำถามโดยไม่มีคะแนนให้ คนที่มีกรอบความคิดแบบ Fixed Mindset เมื่อได้รับคำถามที่ไม่มีคะแนนให้ และมีการเฉลยว่าตนตอบ “ผิด” สมองกลับไม่แสดงอาการตอบสนอง  นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สมองของเขาไม่ได้สนใจคำตอบของคำถามนั้น แม้ว่าคำตอบจะเป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงตนให้ดีขึ้นได้ แต่สนใจที่คะแนน

ในทางกลับกันของการทดลอง พบว่าสมองของผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีกรอบความคิดแบบ Growth Mindset จะทำงานตอบสนองอย่างดี ต่อข้อมูลที่สามารถช่วยขยายขอบเขตความรู้และทักษะที่มีอยู่ได้ โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาจะได้คะแนนหรือไม่ได้คะแนน สิ่งสำคัญที่สมองของคนเหล่านี้สนใจ คือ การเรียนรู้ ไม่ใช่เหรียญตราของความสำเร็จ หรือตราประทับของ ความล้มเหลว เหมือนคนที่มีกรอบความคิด Fixed Mindset เข้าใจ

Growth Mindset เป็นกรอบความคิดแบบเติบโต ที่เชื่อว่า สมองของมนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาได้ จากการเรียนรู้ คนที่มี Growth Mindset เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และพัฒนาต่อไป ไม่ยึดติดตายตัวกับผลลัพธ์ที่ได้ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ประสบความสำเร็จแค่ไหนหรือล้มเหลว ก็นำไปสู่การพัฒนาต่อไปได้เสมอ คนที่มีกรอบความคิดเช่นนี้ มีมุมมองที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ มองความล้มเหลวเป็นเรื่องท้าทาย ไม่ท้อถอยเมื่อเจออุปสรรค ต้องการเรียนรู้และเติบโตในทุกวัน มองความสำเร็จว่าเกิดจากความมุมานะพยายาม จากการวิจัยเป็นระยะเวลายาวนาน ดร.คารอล เอส.ดเว็ค พบว่า คนที่มีชุดความคิดที่ก้าวหน้าเช่นนี้ มีโอกาสประสบความสำเร็จ และมีความสุขมากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

Fixed Mindset คือกรอบความคิดแบบยึดติด ที่ไม่เชื่อว่า มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้มากนัก สติปัญญา ความสามารถและคุณลักษณะต่างๆเป็นเรื่องติดตัวมาตั้งแต่เกิด ให้ความสำคัญและยึดติดกับผลลัพธ์และ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เมื่อประสบความสำเร็จก็หวงแหน ยึดมั่นถือมั่นในสถานะที่ตนได้รับ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย หยุดอยู่กับที่ ท้อถอยเมื่อไม่สำเร็จ และโทษคนอื่น กรอบความคิดเช่นนี้ทำให้ตนเองและผู้อื่นขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ทำให้ขาดโอกาสในการประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว

กรอบความคิดทั้งสองนี้เป็นกรอบความคิดพื้นฐานของเรา และคนที่เราสามารถพบเห็นได้ในทุกวัน เราทุกคนมองตัวเองและโลกหมุนไปด้วยกรอบความคิดพื้นฐานไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งในสองอย่างนี้เสมอ และเราจะพบว่า เราแต่ละคนต่างมีทั้งกรอบความคิดตายตัว และกรอบความคิดแบบเติบโตอยู่ในตัวเรา และกรอบความคิดที่เรามี จะกำหนดการทำงานของสมอง ส่งผลให้เรามีพฤติกรรมที่กำหนดชะตาชีวิตของเราต่อไป


อ้างอิง
• Carol S. Dweck, Ph.D., Mindset: The New Psychology of Success, Ballantine Books, December 26, 2007
• Maria Popowa, Fixed vs. Growth: The Two Basic Mindsets That Shape Our Lives, HTTPS:// WWW.BRAINPICKINGS.ORG/2014/01/29/CAROL-DWECK-MINDSET/
• ‘growth Mindset’ changed education forever, https://www.Mindsetworks.com/science/ Teacher-Practices, สืบค้น 7 กย. 2564
• Why Do Mindsets Matter?, https://www.Mindsetworks.com/Science/Impact สืบค้น 7 กย.2564