การวางแผนป้องกันยาเสพติดในชุมชน

ชุมชนจะพัฒนาแผนป้องกันยาเสพติดบนฐานการวิจัยได้อย่างไร   กระบวนการวางแผนป้องกันยาเสพติดของชุมชน  ทำได้โดย ;

  1. ระบุปัญหา; สภาพและลักษณะของการติดยาเสพติดในชุมชน( Identifies) 
  2. พัฒนาแผนบนฐานทุนที่อยู่จริง
  3. พัฒนาเป้าหมายระยะสั้น ให้เชื่อมโยงกับการดำเนินงานโปรแกรมป้องกันบนฐานงานวิจัย
  4. วางวัตถุประสงค์ระยะยาว เพื่อว่าแผนและฐานทุนจะเป็นไปได้ในอนาคต

รวมการประเมินระหว่างดำเนินการเข้าไปด้วย เพื่อวัดผลความมีประสิทธิผลของกลยุทธ์การป้องกัน 

กระบวนการวางแผน

การวางแผนมักจะเริ่มด้วยการประเมินสถานการณ์การเสพสารเสพติดและปัญหาอื่นๆ ของเด็กและเยาวชนในชุมชน  เพื่อประเมินระดับการใช้สารเสพติดในชุมชน พร้อมไปกับการตรวจสอบระดับความเสี่ยงอื่นที่มีอยู่ในชุมชน (เช่น ความยากจน)   ผลของการประเมินนี้จะช่วยยกระดับความตระหนักของชุมชนที่มีต่อระดับความหนักหน่วงของปัญหา  และร่วมกันเลือกโปรแกรมที่เห็นว่ามีความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนมากมี่สุด   เช่น จะเลือกใช้โปรแกรมป้องกันในโรงเรียนเท่านั้น  หรือจะวางแผนโปรแกรมที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งชุมชน

ต่อจากนั้นเป็นการประเมินความพร้อมของชุมชนในการป้องกัน  ซึ่งก่อนที่จะเริ่มแผนงานป้องกัน   จะต้องพิจารณาขั้นตอนเพิ่มเติม ในเรื่องการให้การศึกษาแก่คนในชุมชนซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นยิ่ง  จากนั้นการทบทวนโปรแกรมเดิมที่มีอยู่ ก็มีความสำคัญ เพื่อพิจารณาความต้องการของชุมชนและฐานทุนอื่นๆ ที่มี

การวางแผนป้องกันการใช้ยาเสพติดของชุมชนจะได้ประโยชน์ จากการร่วมมือกันขององค์กรต่างๆที่อยู่ในชุมชน เพื่อช่วยกันแก้สถานการณ์วัยรุ่น การจัดการประชุมของผู้นำองค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนจะช่วยให้เกิดมุมมอง ความคิด การระดมฐานทุนและผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยกันพัฒนาและดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จ   การวางแผนจะเกิดความยั่งยืน จำเป็นต้องมีทุนเพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่และใช้ในการบริหารจัดการโครงการ ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับในพันธะสัญญาร่วมกันในระยะยาวว่าจะสนับสนุนด้านการเงิน และการเชื่อมโยงกับระบบดำเนินการที่มีอยู่ทุกภาคส่วนเข้าหากัน


ชุมชนจะใช้หลักการบนฐานงานวิจัย ในการวางแผนป้องกันได้อย่างไร

หลักการข้างต้นหลายข้อ ได้ให้กรอบแนวคิดในการวางแผนป้องกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผล โดยให้ key concepts  ที่ใช้งานวิจัยเป็นฐาน เช่น หลักการข้อ 3 ที่ว่า “โปรแกรมป้องกันฯ จะต้องพูดถึงรูปแบบของปัญหาการใช้สารเสพติดในชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งเป้าไปที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจขยายตัว และเสริมพลังปัจจัยป้องกันตามที่ระบุไว้ให้เข้มแข็งขึ้น”   หลักการนี้อธิบายให้เห็นว่า แผนป้องกันควรจะสะท้อนความเป็นจริงของสถานการณ์ในชุมชนและที่สำคัญต้องชี้ออกมาได้ว่า อะไรบ้างที่ชุมชนจำเป็นต้องทำ

ความร่วมมือของทั้งชุมชนควรจะนำทางด้วยหลักการข้อ 9 ที่ว่า “ โปรแกรมป้องกันฯ จะต้องมุ่งถึงผู้คนทุกกลุ่ม ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ”  เมื่อวางโครงสร้างโปรแกรมอย่างพิถีพิถัน  ชุมชนจะไม่ตกหล่นกลุ่มใด แต่สามารถดูแลและให้บริการแก่คนทุกกลุ่มวัย รวมถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยไม่ตีตรา

ส่วนโปรแกรมที่มีความซับซ้อน เช่น โปรแกรมสำหรับครอบครัวในระบบการศึกษา ตามหลักการข้อ 5 ที่ว่า “โปรแกรมป้องกันบนฐานครอบครัวต้องเสริมพลังความผูกพันและสัมพันธภาพของครอบครัว และเพิ่มเติมทักษะการเลี้ยงดูแก่ผู้ใหญ่ เช่น การพัฒนาเด็ก การพูดคุยสื่อสารกับเด็ก รวมทั้งการฝึกอบรมและให้ข้อมูลเรื่องสารเสพติด

หลักการเหล่านี้จะให้แนวทางในการคัดเลือกหรือปรับโปรแกรม ให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของแต่ละชุมชน   โดยต้องตระหนักว่า ไม่ใช่ทุกโปรแกรมจะไปได้กับหลักการป้องกันบนฐานงานวิจัยเหล่านี้ ซึ่งเพื่อความสำเร็จที่เกิดประสิทธิผลแท้จริง อาจจะต้องรวมเอาองค์ประกอบหลักที่ระบุไว้ในงานวิจัย มาประกอบรวมกันเข้าไว้  ได้แก่ การมีโครงสร้างการดำเนินการที่เหมาะสม  มีเนื้อหาในการสื่อสาร  มีฐานทุนและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เพียงพอสำหรับการอบรม เป็นต้น 


ชุมชนจะประเมินระดับของความเสี่ยงในการใช้ยาได้อย่างไร

  • วัดจากธรรมชาติและแบบแผนการขยายตัวของการใช้ยาเสพติด รวมทั้งแนวโน้มที่เกิดขึ้น
  • รวบรวมข้อมูลของปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกันที่มีอยู่ทั่วทั้งชุมชน
  • เข้าใจวัฒนธรรมชุมชนและพิจารณาว่าวัฒนธรรมนั้นส่งผลต่อการใช้ยา หรือถูกกระทบโดยการใช้ยาเสพติดอย่างไร
  • ปรึกษากับผู้นำชุมชนที่ทำงานด้านการป้องกันยาเสพติด การบำบัด การบังคับใช้กฎหมาย ด้านสุขภาพจิต และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
  • ประเมินความตระหนักรู้ของชุมชนในปัญหายาเสพติด
  • ระบุการป้องกันที่ทำกันอยู่เพื่อให้เห็นสภาพการณ์ของปัญหา

นักวิจัยได้พัฒนาเครื่องมือหลายอย่างเพื่อใช้ในการประเมินปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยส่วนใหญ่แล้วเครื่องมือเหล่านี้จะใช้ประเมินธรรมชาติของปัญหา เช่น มียาเสพติดอะไรบ้างที่หาซื้อได้ในชุมชน ใครเป็นผู้ใช้ มีผู้ใช้จำนวนเท่าใด รวมถึง การประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การต้องโทษของเยาวชน การขาดเรียน และการออกจากโรงเรียนกลางคัน เป็นอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือเพื่อประเมินสถานะความเสี่ยงเป็นรายบุคคล ในการเริ่มต้นกระบวนการประเมิน สิ่งสำคัญมากคือการรวบรวมข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อให้ผู้วางแผนสามารถมุ่งเป้าไปที่กลุ่มประชากรหรือพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น

จากตัวอย่างของระบบป้องกันที่ชื่อ Communities that Care ซึ่งพัฒนาโดย Hawkins และคณะจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Hawkins et al. 2002),  ซึ่งอยู่บนวิธีการแบบระบาดวิทยา (Epidemiological)  การประเมินจะทำโดยรวบรวมข้อมูลการกระจายตัวของปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกันในชุมชน  ซึ่งช่วยให้ผู้วางแผนท้องถิ่นสามารถระบุพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีความเสี่ยงสูงสุด ระดับฐานทุนป้องกันต่ำสุด  เครื่องวิเคราะห์ชิ้นนี้ช่วยให้ผู้วางแผนสามารถเลือกโครงการป้องกันที่มีประสิทธิผลสูงที่สุดได้


ชุมชนมีความพร้อมที่จะทำการป้องกันจริงหรือ

การระบุระดับความเสี่ยงที่จริงจังในชุมชน ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ชุมชนมีความพร้อมที่จะลงมือทำ จากการศึกษาในชุมชนเล็กๆ หลายแห่ง  นักวิจัยพบว่า มีความพร้อม 9 ขั้นที่จะนำไปสู่การวางแผนป้องกัน (Plested et al. 1999). ด้วยการปรับมาตรวัดต่างๆ ให้เข้ากับการประเมินความรพ้อม นักวางแผนป้องกันยาเสพติดจะสามารถระบุขั้นตอนสำคัญที่จำเป็นได้ แม้งานวิจัยส่วนใหญ่ในเรื่องขั้นตอนความพร้อม จะศึกษามาจากชุมชนขนาดเล็ก  แต่ในชุมชนขนาดใหญ่ก็พบว่า ขั้นตอนเหล่านี้สามารถทำให้เกิดโครงสร้างในการอธิบายระดับความรับรู้ของปัญหายาเสพติดในชุมชนของพวกเขาได้ และมองเห็นความพร้อมที่จะนำไปสู่การพัฒนาโปรแกรมป้องกัน   ความตระหนักรู้จะได้รับการประเมินใน 2 ระดับคือ ; ระดับสาธารณะ (เช่น โดยการศึกษาธรรมชาติและระดับความครอบคลุมของยาเสพติดในข่าว)   กับระดับเจ้าหน้าที่ (โดยพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ได้แสดงบทบาทในการป้องกันยาเสพติดในชุมชนอย่างไร)

ผู้นำชุมชนสามารถจะเริ่มประเมินความพร้อมของชุมชนตนเองได้  โดยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญในชุมชนของตน  


จะจูงใจให้ชุมชนเล็กๆลงมือดำเนินโปรแกรมป้องกันยาเสพติด

บนฐานงานวิจัยอย่างไร

จำเป็นต้องมีการจูงใจชุมชนด้วยวิธีการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับขั้นความพร้อมของแต่ละชุมชน ที่ขั้นต่ำสุด การประชุมของบุคคลหรือชุมชนเล็กๆ เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อหาแรงสนับสนุนจากคนที่มีอิทธิพลในชุมชน  ส่วนถ้ามีระดับความพร้อมสูง ก็อาจจะจัดตั้งคณะกรรมการหรือแนวร่วมของชุมชนที่ผู้นำชุมชนจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน เพื่อรุกเข้าสู่การปฏิบัติการ  พัฒนาการรณรงค์ให้ความรู้แก่สาธารณะ  นำเสนอข้อมูลเพื่อสนับสนุนการสร้างโครงการ และดึงดูดผู้ที่พร้อมจะเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการในทุกระดับ.  

ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการระดับชุมชน ต้องใส่ใจว่ายุทธศาสตร์บนฐานงานวิจัย มีความสอดคล้องควบคู่ไปกับโปรแกรมในระดับรายบุคคล โรงเรียน ชุมชน   การวางโครงสร้างให้สนับสนุนให้ผู้แทนฝ่ายต่างๆในชุมชนให้สามารถสื่อสารในการป้องกัน การจัดหาแหล่งสนับสนุน และการทำให้โปรแกรมป้องกันเข้มแข็ง  การเชื่อมเข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียน แม้จะเชื่อมกับชุมชนน้อย แต่ก็เป็นหนึ่งความพยายามที่ได้ผลในการป้องกัน 

งานวิจัยชี้ว่า  โปรแกรมป้องกันสามารถใช้สื่อในการสร้างความตระหนักในปัญหาการใช้ยาเสพติดในชุมชน และป้องกันการใช้ยาในกลุ่มประชากรเฉพาะได้รวมถึงการใช้ข้อมูลและวิทยากรจากท้องถิ่นที่ชี้ให้เห็นความหนักหน่วงและสภาพที่เป็นจริงของการใช้ยาเสพติดในชุมชน และการต้องตัดสินใจลงมือทำ 


การป้องกันการใช้ยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน

ชุมชนจะประเมินประสิทธิผลของความพยายามในการป้องกันที่เป็นอยู่ได้อย่างไร

การประเมินการป้องกันเป็นเรื่องท้าทาย ด้วยเหตุที่มีแหล่งทรัพยากรจำกัด และการเข้าถึงความรู้ในโปรแกรมการประเมินได้ยาก หลายชุมชนเริ่มกระบวนการทบทวนสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างเป็นระบบ ดังนี้

  • มีโปรแกรมอะไรบ้างที่มีอยู่ในชุมชนปัจจุบัน
  • มาตรการที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้รับการนำไปใช้ เพื่อทดสอบโปรแกรมในระหว่างที่ดำเนินการหรือไม่
  • โปรแกรมที่ทำอยู่นั้น สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนหรือไม่
  • โปรแกรมดำเนินไปตามที่ออกแบบไว้แต่แรกหรือไม่ 
  • มีเยาวชนที่เป็นกลุ่มสี่ยงที่เข้าถึงโปรแกรมนั้น ๆ สักกี่เปอร์เซนต์

แนวทางการวัดผลอีกหนึ่งแนว คือการเกาะติดกับการหาข้อมูลที่อาจเกี่ยวข้องกับการติดยาของเด็กในโรงเรียนที่มีอยู่  เช่น อัตราการหนีเรียน อัตราการหยุดเรียน อัตราการถูกจับด้วยเหตุใช้ยา หรือการรับตัวเข้าห้องฉุกเฉินจากการใช้ยา ฯลฯ   อาจใช้ข้อมูลที่ได้รับจากการประเมินขั้นแรกในชุมชนเป็นข้อมูลฐาน (Baseline) ในการวัดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว  และเนื่องจากธรรมชาติและขอบเขตของปัญหาการใช้ยาเสพติดอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา ดังนั้น จะเป็นการดีที่จะประเมินความเสี่ยงและการสร้างปัจจัยป้องกันของชุมชนเป็นระยะๆ เพื่อให้มั่นใจว่าโปรแกรมจะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาที่ชุมชนต้องการอย่างแท้จริง

ชุมชนอาจปรึกษากับหน่วยงานป้องกันที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ทั้งในการวางแผนและการดำเนินการ โดยมีแหล่งข้อมูลและเอกสารเผยแพร่ต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของชุมชน

ส่วนในการประเมินผลกระทบที่มีต่อโปรแกรมในระดับรายบุคคล ชุมชนจำเป็นต้องจัดทำเอกสารเพื่อให้มั่นใจว่า โปรแกรมได้ดำเนินการไปถึงการช่วยเหลือรายบุคคลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพพอ

ในการประเมินโปรแกรมการป้องกันบานฐานโรงเรียน  คำถามสำคัญที่ควรถาม เช่น ครูในโรงเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาเพียงพอ และได้พัฒนากระบวนการเรียนการสอนแบบ interactive ที่มีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ นักเรียนได้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในแต่ละเนื้อหามากน้อยเพียงใด มีองค์ประกอบในการประเมินผลหรือไม่

แผนของชุมชนควรจะเป็นสิ่งนำทางให้แก่โปรแกรมการป้องกันไปตลอดทาง เมื่อชุมชนได้รับการขับเคลื่อนแล้ว การดำเนินการที่จะทำให้เกิดผลที่ยั่งยืนต้องการเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้  มีแหล่งทรัพยากรในระยะยาว รักษาสถานะความเป็นผู้นำ  และได้รับการสนับสนุนจากชุมชน    เพื่อรักษาโมเมนตัมในการเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันการใช้ยาเสพติด การวัดผลต่อเนื่องจะช่วยให้ชุมชนได้รับทราบข้อมูลต่อเนื่องของสถานการณ์ด้วยเช่นกัน .

  • พ่อแม่ผู้ปกครองอาจทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในชุมชนเพื่อสร้างความตระหนักในปัญหาและความจำเป็นที่จะต้องดำเนินโครงการบนฐานวิจัยเพิ่มขึ้น
  • นักการศึกษาอาจทำงานกับคนอื่นในโรงเรียนและระบบโรงเรียนเพื่อทบทวนโปรแกรมที่กำลังดำเนินการอยู่ และ ระบุโปรแกรมป้องกันที่เหมาะสมกับนักเรียน

ผู้นำชุมชนอาจจัดให้มีกลุ่มในชุมชนที่ร่วมกันพัฒนาแผนป้องกัน ประสานกับแหล่งทรัพยากร และประสานงานกิจกรรม  รวมทั้งสนับสนุนการทำงานป้องกันในทุกภาคส่วน   


แปลและเรียบเรียงจาก

Preventing Drug Use among Children and Adolescents :

A Research-Based Guide for Parents, Educators and Community Leaders (Second Edition), National Institute on Drug Abuse, U.S.Department of Health and Human Resources, 2003