การเปลี่ยนมุมมองต่อการเสพติดว่าเป็นโรคของสมอง

NIDA และสำนักงาน National Drug Control Policy ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเรื่องการเสพติดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เห็นพ้องกันว่าตลอดศตวรรษที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ศึกษาการเสพติดด้วยความเข้าใจผิดต่อธรรมชาติของยาเสพติด และธรรมชาติของสมองมนุษย์ ในทศวรรษที่ 1930 คนติดยาถูกมองว่าเป็นพวกศีลธรรมบกพร่องและไม่มีความมุ่งหมายในชีวิต ทัศนคติเช่นนี้ส่งผลต่อการตอบสนองของสังคมต่อการใช้ยา และปฏิบัติต่อผู้ใช้ยาประหนึ่งพวกอาชญากร และพวกล้มเหลวทางศีลธรรม มากกว่าเป็นปัญหาสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่การลงโทษมากกว่าการป้องกันหรือบำบัด   

สามทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีมติทางวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับกันว่า การเสพติดเป็นภาวะทางการแพทย์เรื้อรังที่รักษาได้ ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทัศนคติและการตอบสนองของเราเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด การค้นพบสำคัญในเรื่องธรรมชาติของสมอง ปฏิวัติความเข้าใจของเราที่มีต่อการเสพยา ช่วยให้เราตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เรารู้ว่าการเสพติด เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อทั้งสมองและพฤติกรรม เราสามารถระบุปัจจัยทั้งทางชีววิทยาและทางสภาพแวดล้อม และกำลังเริ่มศึกษาความแตกต่างทางกรรมพันธุ์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาของโรคด้วย นักวิทยาศาสตร์ใช้ความรู้เหล่านี้ ในการพัฒนาการป้องกันและการบำบัดที่ให้ประสิทธิผล เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อบุคคล ครอบครัวและชุมชน

การเข้าใจว่าการเสพติดเป็นโรคของสมอง  จะช่วยให้เราออกแบบกระบวนการเพื่อปรับพฤติกรรมโดยช่วยรักษา หรือสร้างความสมดุลแก่วงจรสมองที่ได้รับผลลบมาจากยาเสพติด ได้สอดคล้องกับธรรมชาติของสมองมากขึ้น เช่น การเสริมพลังด้วยการสร้างการเชื่อมต่อกับสังคม หรือ ใช้การออกกำลังกายเพื่อให้วงจรรางวัลทำงานรวดเร็ว แข่งทันกับการจูงใจของยาเสพติด หรือการบรรเทาปฏิกริยาความเครียดและภาวะอารมณ์ทางลบ ซึ่งอาจช่วยลงแรงกระตุ้นจากความอยากเสพให้น้อยลง หรือการใช้วิธีพัฒนา Executive Functions และการกำกับตนเอง เพื่อช่วยให้คนไข้ที่กำลังรักษาตัว สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ว่า จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการกลับไปเสพยาอย่างไร   ท้ายที่สุด การวางแผนเปลี่ยนแวดวงเพื่อน และหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เย้ายวนชวนให้เสพ ก็เป็นการช่วยลดเงื่อนไขที่จะทำให้ความอยากกำเริบขึ้นมาอีก

การเปลี่ยนมุมมองว่าการเสพติดเป็นโรคของสมอง จะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจเรื่องวงจรที่เกี่ยวข้องกับการให้รางวัล ความเครียด และการควบคุมตนเองมากขึ้น สามารถระบุความผิดปกติทางประสาทชีววิทยา ที่จะช่วยให้พัฒนาแนวทางการช่วยเหลือบำบัดได้ดีขึ้น และยังนำไปสู่การสร้างสรรค์การบำบัดในระบบสุขภาพได้ดีขึ้น และลดการตีตราบาปให้แก่ผู้ติดยา คนที่ได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ จะไม่มองคนติดยาว่าเป็นพวกศีลธรรมตกต่ำ และผู้กำหนดนโยบายก็ตระหนักมากขึ้นว่า การลงโทษเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล และเป็นเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมในการแก้ปัญหายาเสพติด แต่การรักษาเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่า  

เป็นที่น่ายินดีว่าการใช้ยาทางการแพทย์ก็มีประสิทธิผลในการรักษาผู้ที่มีความบกพร่องจากการใช้สารเสพติด เพียงลำพังการใช้ยาทางการแพทย์ย่อมไม่สามารถทำหน้าที่แทนใจมุ่งมั่นที่อยากออกจากปัญหา แต่การใช้ยาจะช่วยให้คนที่ติดยา มีแรงต้านต่อความท้าทายเพื่อออกจากปัญหาได้ดีขึ้น มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ว่า การใช้ยาทางการแพทย์ช่วยลดการใช้ยาเสพติดได้ช่วยชีวิตคนได้จริง

และการเข้าใจว่าการเสพติดเป็นโรคของสมองนั้น ก็เช่นเดียวกับการเข้าใจพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดีอื่นๆ อันนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็งปอด ฯลฯ ซึ่งหากมีการดำเนินการป้องกันบนฐานความรู้ที่แข็งแรง พร้อมไปกับนโยบายสุขภาพสาธารณะที่เหมาะสม จะเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด


มุมมองที่แตกต่างต่อสาเหตุของการเสพติด

อย่างไรก็ตาม มีข้อวิจารณ์ว่า มุมมองเรื่องการใช้ยาทางการแพทย์เพื่อลดภาวะเสพติด จะทำให้สังคมไม่ตระหนักถึงสาเหตุทางสังคมและสภาพแวดล้อม  เช่นความยากจน ความโดดเดี่ยว ความรุนแรง  แต่ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ที่เสนอมุมมองใหม่ ก็อธิบายว่า ในการใช้มุมมองเรื่องสมองเป็นโรคนี้ ทำให้เกิดกรอบคิดที่เรียกว่า Biopsychosocial Framework ซึ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทุกส่วนตั้งแต่ ชีววิทยา จิตวิทยา พฤติกรรมและและสังคมที่แวดล้อม

ทุกอย่างที่เราคิด รู้สึกและกระทำ ล้วนแล้วแต่มีสารตั้งต้นมาจากประสาทชีววิทยา โครงสร้างและการทำงานของสมองจะทำการปรับรูปของปัจจัยต่างๆ ทั้ง กรรมพันธุ์ ฮอร์โมน วัย และปัจจัยทางชีววิทยาอื่นๆ ปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเป็นปกติ หรือไม่เป็นปกติ เช่น การเสพติด และความสามารถที่จะออกจากภาวะเสพติด ฯลฯ ทั้งนี้ ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ สังคมก็มีบทบาทต่อกรอบคิดนี้ด้วยเช่นกัน

ข้อวิจารณ์อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ การเข้าใจว่าการเสพติดเป็นโรคของสมอง จะทำให้ สังคมเน้นมากเกินไปที่ระบบวงจรให้รางวัลและกำกับตนเองของสมอง จนมองข้ามบทบาทสำคัญของการเรียนรู้หรือไม่ ​ซึ่งนักวิชาการกลุ่มนี้เห็นว่า การเสพติดนั้น โดยพื้นฐานแล้วก็ไม่แตกต่างไปจากประสบการณ์อื่นๆ ที่ทำงานกับระบบแรงจูงใจ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสมองของเรา เช่น เมื่อมีความรัก  อาการก็อาจจะเหมือนกับการติดยา ที่คนยอมเหนื่อย ยอมทำผิดกฎหมาย หรือทำสิ่งใดๆ เพื่อปกป้องหรือให้ได้มาซึ่งความรัก ซึ่งข้อนี้นักวิทยาศาสตร์ที่เสนอมุมมองใหม่ อธิบายว่า  แท้ที่จริงในความผิดปกติของสมองนั้น ก็มีกลไกความยืดหยุ่นของระบบประสาท (Neuroplasticity) เป็นพื้นฐานภายใต้การเรียนรู้เช่นเดียวกัน ระบบวงจรแห่งการให้รางวัลและการควบคุมตนเองจึงเกี่ยวข้องโดยตรง ทำให้เราสามารถค้นพบรางวัลใหม่ๆ ที่น่าพอใจ  ซึ่งเราจะจดจำได้และพร้อมติดตาม  เกิดเป็นการเรียนรู้  กล่าวได้ว่า ยาเสพติดก็ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการเดียวกันกับการได้รางวัลตามธรรมชาติ แต่บางครั้งยาเสพติดจะ Hijack และหลอกล่อให้วงจรต่างๆ คิดว่ารางวัลจากยาเสพติด สำคัญกว่ารางวัลตามธรรมชาติ เช่น อาหาร เซ็กส์ หรือ การเลี้ยงลูก  

เช่นเดียวกับการใช้ยา  และการเรียนรู้ ยังมีข้อวิจารณ์อีกว่า คนบางคนก็เลิกการเสพติดได้โดยไม่ต้องใช้ยา ซึ่งกว่าจะเลิกได้ อาจจะใช้เวลานานเป็นปีๆ โดยอาจมาจากแค่สาเหตุว่า “อายุมากแล้ว” หรือเมื่อคนที่ติดยาผ่านชีวิตมากขึ้นก็พบว่า “ยาเสพติดไม่ใช่ความสำคัญอันดับต้นของชีวิตอีกต่อไป” ก็มี  ดังนั้น ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์จึงยังไม่สามารถชี้ปัจจัยได้ครบถ้วนทั้งหมด ซึ่งจะต้องศึกษากันต่อไป

เนื่องจากการเสพติดนั้นถูกมองได้หลายอย่าง บ้างว่าเป็นการตอบสนองที่ปรับตัวไม่ได้ต่อความตึงเครียดในสภาพแวดล้อม บ้างว่าเป็นความผิดปกติตามพัฒนาการ บ้างว่าเป็นความผิดปกติที่มาจากวงจรในสมองไม่เป็นไปตามที่ควร หรือเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเห็นว่า การเสพติดเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายด้าน ทั้งชีววิทยา จิตวิทยา พฤติกรรม สังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ ดังนั้น จึงยังมีงานวิจัยมากมายที่กำลังศึกษา เช่นเรื่องของยีนส์ที่นำไปสู่ความเสี่ยงในการติดยา  เรื่องสภาพแวดล้อมในวัยเด็กที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในช่วงที่โตขึ้นฯลฯ ซึ่งคาดว่าผลการวิจัยจะเผยความจริงของธรรมชาติการเสพติดของสมองให้ชัดมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การมองการเสพติดว่าเป็นโรคของสมองที่รักษาได้ เป็นมุมมองที่จะช่วยให้สังคมสามารถหาแนวทางการแก้ไขที่มีประสิทธิผลได้อย่างยั่งยืน


แปลและเรียบเรียงจาก

Preventing Drug Use among Children and Adolescents :

A Research-Based Guide for Parents, Educators and Community Leaders (Second Edition), National Institute on Drug Abuse, U.S.Department of Health and Human Resources, 2003