เมื่อเด็กเล็กถูกพรากจากแม่ยามเจ็บป่วย

มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ในเด็กเล็กที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน การพลัดพรากจากแม่เพียงไม่กี่วันสามารถส่งผลกระทบ ร้ายแรงต่อพัฒนาการของเด็กได้ เจมส์ โรเบิร์ตสัน (James Robertson) นักจิตวิเคราะห์ชาวสก็อตซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1911 – 1988 เป็นหนึ่งในนักวิจัยด้านจิตวิทยาชั้นนำที่ได้รับการยกย่องว่า สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยความกล้าหาญ ในการผลักดันอย่างจริงจังให้โรงพยาบาลของอังกฤษในสมัยนั้น เปลี่ยนนโยบาย อนุญาตให้ พ่อแม่สามารถเยี่ยมและดูแลลูกเล็กที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลได้ เจมส์ โรเบิร์ตสันได้ทำโครงการเฝ้าสังเกตสภาพ เด็กที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตลอดเวลาหลายสิบปี โดยได้ทำงานวิจัยร่วมกับ จอห์น โบว์ลบี (John Bowlby) และได้นำเสนอความรู้เรื่องพฤติกรรมของเด็กว่า เมื่อเด็กเล็กถูกพรากจากแม่   จะมีระยะแสดงอาการตอบสนองต่อสถานะการณ์ออกเป็น 3 ระยะ

  • ในระยะแรกที่ถูกทิ้ง เด็กจะตอบสนองด้วยการประท้ว ความรู้สึกวิตกของเด็กแสดงออกมาให้เห็น อย่างชัดเจน ด้วยการร้องไห้ และเรียกหาแม่ด้วยความโกรธ พยายามค้นหาให้เจอให้ได้ เมื่อเด็ก กลับมาพบกับแม่ จะงอแงว่ายาก เหมือนกับกำลังลงโทษแม่ ที่แม่ทิ้งตนไป เด็กจะหงุดหงิดกับแม่ อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อความรู้สึกโกรธออกจากอกไปแล้ว เด็กจะค่อยๆก็กลับสู่สภาวะปกติเหมือนเดิม
  • หากการพลัดพรากยังดำเนินต่อไปอีก นานขึ้น นานขึ้น ภาวะอารมณ์ของเด็กที่เจมส์สังเกตเห็น คือ ภาวะที่อาจเรียกได้ว่า “สิ้นหวัง” เด็กจะเงียบลง หยุดเล่น หรือดูเหมือนจะหมดความสนใจ ในทุกสิ่ง เหมือนเด็กหมดหวังที่แม่จะกลับมา เมื่อพ่อแม่มารับตัวเด็กกลับบ้าน พบว่าเด็กจะเกาะ ติดแม่แจเกือบตลอดเวลา งอแง เอาใจยากอยู่พักใหญ่และใช้เวลานานกว่าพฤติกรรมจะกลับสู่ สภาวะปกติ
  • ในกรณีที่การถูกพรากยาวนานออกไปอีก เด็กจะปฏิเสธและแยกตัวออกไปจากแม่ สิ่งที่ปรากฎคือ เด็กพยายามปรับตัว แสดงความสนใจในสภาพแวดล้อม และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น แต่เด็ก กลับแสดงอาการกับแม่ราวเป็นคนแปลกหน้าเหมือนกับแทบจะไม่รู้จักแม่มาก่อนเลย เมื่อแม่ไป เยี่ยมหรือดูแลเด็กแสดงอาการไม่สนใจ และแม้ตอนแม่จะจากไป เด็กก็แสดงอาการว่า ไม่รู้สึกอะไรเลย ซึ่งการที่เด็กแสดงออกเช่นเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเด็กได้แสดงออก อย่างชัดเจนว่าเด็กไม่ต้องการแม่อีกแล้ว  เมื่อหายจากการเจ็บป่วยและได้กลับมาอยู่กับครอบครัว อีกครั้ง เด็กอาจดูเปลี่ยนไปมาก และสิ่งที่พบต่อมาคือเด็ก แสดงพฤติกรรมไม่ไว้วางใจในความสัมพันธ์ที่ตนมีต่อพ่อแม่และผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากยิ่ง

เจมส์ โรเบิร์ตสันทำบันทึกภาพยนตร์เรื่องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของเด็กเล็ก ซึ่งภายหลังภาพยนตร์ เรื่องนี้ ถือเป็นภาพยนตร์คลาสสิก ที่รัฐบาลอังกฤษได้เก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในฐานะที่เป็น หลักฐานอันมี “ความสำคัญระดับชาติและประวัติศาสตร์” ในการผลักดันให้เกิด การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้วยภาพ ความจริงที่ไม่มีอะไรมาหักล้างได้

ภาพยนตร์ถ่ายทำจากเรื่องจริงของลอร่า ก่อนเกิดเหตุลอร่าเป็นเด็กที่มีความสุขและมีมารยาทน่ารัก ขณะที่ลอร่าเพียงอายุ 2 ขวบ มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล 8 วันเพื่อทำการผ่าตัด โดยตามกฎของโรงพยาบาลในสมัยนั้นพ่อแม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมลอร่า เพียงครั้งละ 45 นาทีวันเว้นวัน สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามวันแรกนั้นคือ การที่เด็กน้อยร้องไห้ไม่หยุด แต่หลังจากนั้นผ่านไปเมื่อพ่อแม่มาเยี่ยมอีก เด็กน้อยเริ่มเมินเฉยไม่สนใจพ่อแม่

เจมส์ โรเบิร์ตสันสะท้อนให้เห็นจากงานวิจัยว่า เนื่องจากแม่ไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ด้วยในโรงพยาบาล และพยาบาลที่มาดูแลก็เปลี่ยนหน้าไปทุกวัน เด็กน้อยเผชิญทั้งความกลัวคนแปลกหน้าและสถานการณ์การรักษา ในขณะที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดจากการเจ็บป่วยที่ตนเองไม่เข้าใจ และยังไม่มีความสามารถในการสื่อสารได้ดีนัก ในโรงพยาบาลซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างกะทันหัน โดยไม่มีใครที่คุ้นเคย เช่น แม่หรือพ่ออยู่ด้วยเลย สิ่งที่ภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นเป็นที่น่าสะเทือนใจนั้น ในระหว่างที่หมอให้ยาสลบทางทวารหนัก ลอร่าร้องไห้จ้า อย่างหนัก ดิ้นอย่างรุนแรงเพื่อให้รอดพ้นจากความกลัวสุดขีด  จากนั้นเธอแสดงอาการเงียบอย่างผิดปกติ

 สิ่งที่ภาพยนตร์บันทึกไว้นั้น แสดงให้เห็นอีกว่า ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็กน้อยในระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล นั้น ไม่ว่าจะเป็นนางพยาบาลที่เวียนเปลี่ยนหน้ามาดูแล หมอเจ้าของไข้ หรือพ่อแม่ ผู้ใหญ่ส่วนมากที่อยู่รอบตัว ลอร่าในเวลานั้นไม่ได้ตระหนักหรือสังเกตเห็นความผิดปกติ หรือเฉลียวใจว่าความทุกข์ทางใจซึ่งเด็กน้อยเผชิญอยู่ นั้นบาดลึกแค่ไหน ในการที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดจากการผ่าตัดเพียงลำพังในขณะที่ยังเล็กมาก ยังไม่เข้าใจสิ่งที่ เกิดขึ้น เพิ่งเดินได้ พูดได้ไม่กี่คำและช่วยตนเองได้ไม่มากนัก เห็นได้ชัดว่า ประสบการณ์ที่เลวร้ายนี้ได้ทำลายความ รู้สึกผูกพันของลอร่าที่มีต่อแม่ลง พอหลังออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านแล้ว พฤติกรรมของเด็ก น้อยได้เปลี่ยนไปจากก่อนที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ราวกับเป็นคนละคน อีกทั้งลอร่ายังแสดงความ วิตกกังวล หงุดหงิดและขุ่นเคืองกับพ่อแม่มากอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ลูกและแม่มีความจำเป็นต้องแยกจากกัน เนื่องจากความเจ็บป่วยของแม่ ในงาน วิจัยของเจมส์ โรเบิร์ตสันนั้นชี้ให้เห็นว่า มีผลกระทบที่แตกต่างอย่างชัดเจนต่อสายสัมพันธ์ที่เด็กมีต่อแม่  ในกรณี ที่แม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และต้องถูกแยกไม่ให้ได้อยู่กับลูกนั้น มักจะพบว่า เมื่อแม่ต้องจากลูกไปเข้า โรงพยาบาล  มักจะมีการวางแผนให้มีคนเข้ามาดูแลเด็กเล็กแทนในระหว่างที่แม่ไม่อยู่ เด็กน้อยมักจะได้รับการ

ดูแลหรืออยู่ในความดูแลของใครคนใดคนหนึ่งเสมอ อาจจะเป็นญาติใกล้ชิด หรือแม้แต่คนเลี้ยง ซึ่งต่างจากเด็ก ที่ต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ที่มีแต่นางพยาบาลเวรผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากันเข้ามาดูแล การมีคนดูแล ที่แน่นอน ช่วยให้เด็กน้อยได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับคนดูแล ซึ่งในระหว่างนั้นอาจเปรียบได้กับแม่บุญธรรม ซึ่งคอยจัดหาอาหาร ป้อนข้าวป้อนน้ำ เล่นด้วย ปลอบโยนและเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางอารมณ์    การได้รับการดูแล โดยมีใครคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลหลัก จะเป็นการช่วยประคับประคองสภาพจิตใจของเด็กไม่ให้แย่ด้วยความรู้สึกเหงา เพราะคิดถึงแม่จนเกินไป อีกทั้งรู้สึกปลอดภัยที่มีคนมาดูแลจนถึงวันที่แม่กลับมา

ดังนั้น เมื่อลูกน้อยของเราต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการเจ็บป่วย ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม นอกจากการดูแลรักษากายให้หายเข้าสู่ภาวะปกติ สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่รวมทั้งบุคลากรในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ต้องใส่ใจและตระหนักอย่างมากคือ ความเจ็บป่วยทางใจของเด็กที่จะเกิดขึ้นได้ ทุกครั้งที่ลูกน้อยไม่สบายหรือ เจ็บป่วย แม่, พ่อและผู้ดูแลหลักต้องพยายามอยู่ใกล้ชิดดูแลลูกให้มากที่สุด  ให้ลูกมีความรู้สึกปลอดภัยมั่นคง ทางใจ ว่าเขามีคนที่รักและห่วงใยอยู่ข้างๆในยามที่ยากลำบาก เจ็บป่วยและช่วยตนเองไม่ได้     

 ความเข้าใจถึงความต้องการของเด็กอย่างแท้จริง และดูแลจิตใจของเด็กในสภาวะที่เจ็บป่วย โดยเฉพาะ ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งประสบการณ์วิกฤติในช่วงวัยเด็ก ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีผลอย่างยาวนานใน ชีวิตทั้งทางด้านจิตใจ สุขภาพโดยรวม การอยู่กับลูกในสถานการณ์วิกฤตที่ลูกต้องการแม่พ่ออย่างมาก จะช่วยให้ลูก มีฐานทางใจที่มั่นคงซึ่งส่งผลเกิดความผูกพันไว้ใจกับแม่ พ่อหรือคนเลี้ยง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ทำให้เด็กเล็ก สามารถเติบโตพัฒนาต่อไปเป็นอย่างดีตามพัฒนาการในทุกด้านของชีวิตต่อไป

อ้างอิง
· JOHN BOWLBY AND JAMES ROBERTSON MAKE AN INFLUENTIAL SHORT FILM, HTTPS://PSYCHOANALYSIS.ORG.UK/WHO-WE-ARE/100-YEARS-OF-HISTORY#6, สืบค้น Aug 25, 2021
· Robertson J., 1958, Young Children in Hospitals, New York, Basic Books
· https://en.wikipedia.org/wiki/James_Robertson_(psychoanalyst)#Film_–A_Two- year-old_goes_to_Hospital(1952)