เมื่อมีการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ ครูสามารถวางแผน และกำหนดกรอบหลักสูตร พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือ และตัวเลือกต่างๆเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนแก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ในงานของตนเอง
หลักการที่จะช่วยให้ครูประสบความสำเร็จในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แก่นักเรียน มีมากมาย ตัวอย่างเช่น
- สร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์ ครูไม่ใช่เพียงทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Facilitate) หรือเป็นตัวกลางในการเรียนรู้ของเด็กๆ (Mediate) เท่านั้น หากแต่มีหน้าที่ส่งเสริมให้กำลังใจ หรือเป็น “นั่งร้าน” โดยเฉพาะด้วยการใช้คำพูดของครูเพื่อให้กำลังใจ และเป็นนั่งร่านที่ต่อให้สูงขึ้นๆ คำพูดที่มีความหมายที่คุณครูควรใช้ เช่น
ครูเห็นด้วย เพราะ……
ครูอยากเสริมว่า….
ช่วยอธิบายเพิ่มอีกนิดได้ไหม…
ครูอยากกลับไปที่เพื่อน…พูดเรื่อง…อีกหน่อยได้ไหม
ครูสังเกตว่า….
ที่หนูกำลังพูดหมายความว่าอย่างนี้ใช่ไหม….
2. ใช้การสะท้อนด้วยภาพ การสะท้อนความคิดเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้เด็กซึมซับข้อมูลได้ลึกซึ้งขึ้น มักเป็นการคิดเชิงสังเคราะห์ที่ลึกซึ้งขึ้น ดังนั้น ถ้าการสะท้อนการเรียนรู้แสดงออกเป็นภาพในชั้นเรียน เช่น คุณครูหรือนักเรียนบันทึกเป็นภาพ แบบ Visual Thinking เด็กทุกคนจะเรียนรู้ได้มากขึ้น การต่อยอดความคิดกับเพื่อนก็จะมากขึ้น
3. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง
ตัวอย่าง: นักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 ได้รับตัวอย่างหิน ให้เขาคิดค้นการทดลองว่าหินชิ้นนั้นเป็นหินชนิดใด ตามคำจำกัดความที่พวกเขาได้เรียนมาแล้ว นักเรียนหาวิธีของตนเองในการพิจารณาความแตกต่างในด้านความแข็ง สี และรูปร่างด้วยตนเอง
ตัวอย่าง: ชั้นเรียนอนุบาล คุณครูให้ออกแบบสร้างหนังสือภาพใหม่ๆทุกสัปดาห์ เพื่อมอบเป็นของขวัญวันเกิดให้เพื่อนในชั้นเรียนหรือผู้ใหญ่ในโรงเรียน หนังสือแต่ละเล่มให้นักเรียนแต่ละคนช่วยกันวาดอย่างอิสระเต็มที่ ที่จะเขียนหรือวาดรูปที่เพื่อนๆในชั้นเรียนชอบ และพวกเขามีโอกาสรู้ได้ว่าเพื่อนๆชอบ หรือไม่ชอบอะไรบ้าง
4. จัดแผนผังที่นั่งในห้องเรียนให้ยืดหยุ่นได้ ไม่จำเป็นต้องตายตัว อาจจัดย้ายโต๊ะ เก้าอี้ ตามงานโปรเจ็คท์ ตามการเรียนรู้ที่อาจเป็นรายบุคคลเดี่ยว หรือเป็นกลุ่มแม้ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็มีผลต่อกระบวนการคิดของเด็ก รวมถึงการตกแต่งห้องที่เปลี่ยนแปลงไปตาม Theme การเรียนรู้ เพื่อสร้างสีสัน เพื่อสื่อสารว่าในช่วงการเรียนรู้นั้นๆ ต้องการอะไร เช่น ต้องการการรวมความคิดของคนทั้งหมด ต้องการการโฟกัสที่ข้อมูลที่นำเข้าจากครู ต้องการให้เด็กให้ความสำคัญกับการกระจายคิดตามกลุ่มย่อย เพื่อสร้างบรรยากาศน่าสนใจของการเรียนที่สร้างสรรค์
5. เติมข้อมูลนำเข้าหลายๆ แบบ ไม่ใช่ครูเป็นผู้ใข้อมูลอย่างเดียว เช่น อาจเปิดคลิปของนักคิดระดับโลก หรือสารคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องเรียน หรือภาพยนตร์ป๊อปที่ตรงประเด็น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ดูเสร็จแล้วนำประเด็นที่เด็กแต่ละคนสนใจ มาถกอภิปรายกัน
6. ใส่ใจกับบรรยากาศที่เปิดกว้าง การไม่ใช้อำนาจจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ ต้องทำให้นักเรียนรู้สึกว่า พวกเขาเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้กับครูและเพื่อนๆ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้อยู่ใต้อำนาจการสอนของครู ที่นั่งตรงไหนๆ ก็เป็นที่นั่งเสมอภาค ไม่มีตรงไหนที่ได้รับความสนใจหรือมีอภิสิทธิ์มากกว่าที่นั่งอื่นๆ
7. ให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมและให้รางวัล
ตัวอย่าง: นักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 เรียนรู้รูปหลายเหลี่ยม และเพื่อประเมินว่าพวกเขาเข้าใจหรือไม่ ครูพานักเรียนออกไปนอกห้อง แจกชอล์คให้ทุกคน และที่บริเวณทางเท้า ให้นักเรียนแต่ละคนวาดรูปทรงเรขาคณิต หลายๆรูปบนทางเท้านั้น เมื่อนักเรียนทำเสร็จแล้ว ครูบอกให้นักเรียนเปลี่ยนรูปทรงเรขาคณิตเหล่านั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาชอบ นักเรียนบางคนวาดรูปลูกแมว หุ่นยนต์ และมังกร โดยใช้รูปทรงเรขาคณิตหลายเหลี่ยมอย่างตั้งใจ จากนั้นให้โอกาสอธิบายให้เพื่อนๆในชั้นเรียนฟังว่าทำไมพวกเขาถึงชอบและวาดรูปนั้น
8. เติมสีสันในห้องบ้าง ให้เด็กๆ จัดหาโปสเตอร์ที่ชอบมาตกแต่งห้อง อาจจะตาม Theme ของเนื้อหาที่จะเรียน หรือตามฤดูกาล หรือตามกระแสสถานการณ์ที่เด็กสนใจ เพื่อเปิดให้นักเรียนเข้าใจว่า พื้นที่ห้องเป็นของพวกเขา และสมาชิกทุกคนยอมรับการนำเสนอของกลุ่มหรือบุคคลนั้น สีสันเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างอารมณ์ที่มีพลังในการเรียนรู้ไม่น้อย หรือแม้กระทั่งในสมุดงาน การบ้าน ของนักเรียนก็ควรให้แต่งแต้มสีสันตามใจชอบ
9. อารมณ์ขันเป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์ชั้นเยี่ยม ในห้องคุณครูควรส่งเสริมการใช้อารมณ์ขันของเด็กๆ เรื่องตลก ภาพตลก การ์ตูนขำขัน ที่เกี่ยวข้อง ล้วนเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมให้นักเรียนหามาเติมเต็มในชั้นเรียน คุณครูต้องทำให้นักเรียนเห็นว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกได้ในหลากหลายมิติ ไม่ใช่มีแต่ผิดกับถูกเท่านั้น
10. ในโลกเทคโนโลยี ซึ่งเด็กๆ มีเครื่องมือใหม่ๆ ให้ใช้ และพวกเขาในฐานะ Digital Native ก็มักจะใช้มันได้คล่องแคล่ว คุณครูควรกระตุ้นและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้เครื่องมือใหม่ๆ เช่น บันทึกผลงานของตัวเองเป็นคลิป ภาพได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบฝึกหัดเพียงอย่างเดียว
11. สอนทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับความคิดสร้างสรรค์แก่นักเรียน
ตัวอย่าง: ชั้นประถมปีที่ 2 เรียนรู้เรื่องการแช่แข็ง ครูถามคำถามหนึ่งเริ่มต้นว่า “มีแต่น้ำเท่านั้นที่แข็งตัวใช่หรือไม่” จากนั้นนักเรียนจะออกแบบการทดลองเพื่อหาว่า มีอะไรอีกบ้างที่สามารถแข็งตัวได้ ข้อจำกัดคือพวกเขาใช้ได้เฉพาะสิ่งที่พวกเขามีในห้องเรียนในขณะนั้น
นักเรียนคิดรายการสิ่งของต่างๆ เพื่อจะทดลองดูว่าแข็งตัวหรือไม่: น้ำ น้ำผลไม้ น้ำส้มสายชู กาว น้ำยาเช็ดกระจก ยาสีฟัน และกระดาษ วันรุ่งขึ้น พวกเขาสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบ สาเหตุที่ทำให้กระดาษแข็ง และน้ำส้มสายชูไม่แข็งตัวการอภิปรายของนักเรียนนี้ จะส่งเสริมทักษะต่างๆ เช่น การสนับสนุนความคิดของกันและกัน การประนีประนอม การใช้เหตุผล รวมถึงการฟังอย่างตั้งใจ
12. ขจัดข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ของนักเรียน และให้พื้นที่แก่นักเรียน หรือช่วยสร้างโอกาสให้เขาสามารถมีความคิดสร้างสรรค์ได้
ตัวอย่าง: ชั้นประถมปีที่ 6 ผลิตละครชุดฮัลโลวีน นักเรียนต้องเขียนบทละคร โดยมีตัวละครต่างๆแล้วนำเสนอบทละคร ตัวอย่างเช่น พวกเขาต้องคิดค้นว่าน้ำอัดลมขนาดยักษ์ และซูเปอร์ฮีโร่ วันเดอร์ วูแมนจะคุยโต้ตอบกันได้อย่างไร
จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะที่ขับเคลื่อนสังคมในอนาคต ทั้งสองอย่างนี้ใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน และควรมีอยู่ในทุกส่วนของการเรียนรู้ ในการวางแผน และออกแบบการเรียนรู้สำหรับนักเรียน คุณครูสามารถสร้างห้องเรียนที่เป็นแหล่งเพาะความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่ยากเลย
อ้างอิง
- BEN JOHNSON, 4 Ways to Develop Creativity in Students, HTTPS://WWW.EDUTOPIA.ORG/ARTICLE/4-WAYS-DEVELOP-CREATIVITY-STUDENTS), 2019
- CREATIVITY AND PLAY : FOSTERING, CREATIVITY, HTTPS://WWW.PBS.ORG/WHOLECHILD/PROVIDERS/PLAY.HTML
- 19 INNOVATIVE CLASSROOM IDEAS TO PROMOTE CREATIVITY
https://www.canva.com/learn/19-ideas-to-promote-more-creativity-in-your-classroom/