ครูนับเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ จะเรียกว่ามีบทบาทหน้าที่ “สร้างชาติ”ก็ว่าได้  ปัจจุบันพบว่าครูมีทั้งส่วนที่ปรับเปลี่ยนพัฒนาบทบาทตนเอง และมีส่วนที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนบทบาท ยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กไม่ดีพอ นักการศึกษาและแพทย์พบว่า

บทบาทของครูที่ปรับเปลี่ยนพัฒนา คือ 

ครูมีบทบาทในการคัดกรองเด็กที่มีปัญหามากขึ้น เมื่อ 20 ปีก่อน เด็กที่เข้ามารับคำปรึกษาที่คลินิก พัฒนาการเด็ก ส่วนใหญ่พ่อแม่จะเป็นผู้พามาเอง เช่น ลูกมีปัญหาอ่านหนังสือไม่ออก สมาธิสั้น ฯลฯ แต่ปัจจุบันครึ่งหนึ่งของเด็กที่มาพบแพทย์ ครูบอกให้พ่อแม่พามา อีกครึ่งหนึ่งครูพามาเอง  ต่างกับในอดีตที่หากเด็กเรียนไม่ได้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สมาธิไม่ดี ก็จะให้ออกไปรักษาก่อนแล้วค่อยกลับมาเรียน แต่ปัจจุบันครูสามารถคัดกรองได้มากขึ้นว่าเด็กคนใดเป็นเด็กพิเศษ สามารถแนะนำและส่งเด็กมาพบแพทย์ได้มากขึ้น จัดให้เด็กพิเศษเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ แสดงว่าครูมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการของเด็กมากขึ้น

ส่วนในด้านที่ยังต้องปรับปรุงพัฒนา คือ

ในการจัดการชั้นเรียน (classroom management) ครูมักเน้นสร้างแต่บรรยากาศทางกายภาพ(psychological atmosphere) แค่ทำให้ห้องเรียนสะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ แต่ไม่ได้ใส่ใจบรรยากาศทางจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก (physiological  atmosphere) ซึ่งเป็นแรงกระตุ้น ส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจ และพัฒนาการทางสมองที่ดีด้วย

ครูรู้ดีว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ดีถ้าได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและอย่างมีความหมาย แต่ครูยังไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงเป้าหมายที่อยากจะให้เด็กเรียนรู้ได้ ไม่สามารถทำให้เกิดผลตามที่มุ่งหวัง เพราะใช้กระบวนการแบบเดิมๆ นั่นเอง จึงไม่เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ

ต้องเสริมความรู้ที่เข้มแข็งให้ครู

เพื่อที่จะปรับปรุงพัฒนาบทบาทและคุณภาพของครู นักวิชาการเห็นว่า ครูในปัจจุบันควรต้องมีความรู้ที่เข้มแข็งในเรื่องเหล่านี้

  1. ความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็ก เป็นพื้นฐานความรู้ที่ “ครูจำเป็นต้องรู้ ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ ลึกซึ้ง” เพื่อให้เป็นแกนหลักของการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งจะทำให้ครูสามารถย้อนดูว่าการจัดการเรียนการสอน การดูแลเด็กของตนหลุดออกไปจากแกนหลักของความรู้พื้นฐานนี้หรือไม่

  2. ความรู้เรื่องการทำงานและพัฒนาการสมอง เป็นความรู้ที่ครูต้องใช้ในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาเด็ก  แม้ว่าครูจะมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเพียงไรก็ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ

  3. ความรู้เรื่องพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม  แน่นอนว่าครูต้องการให้เด็กเรียนรู้ได้ดี เรียนอย่างมีความสุขและอย่างมีความหมาย พัฒนาการอารมณ์และสังคมจึงมีความสำคัญ ครูต้องเข้าใจและพัฒนาอารมณ์ สังคมให้เด็กด้วย รวมทั้งความรู้เรื่อง self เพื่อว่าอย่างน้อยจะได้ไม่จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ขัดขวางหรือทำลายตัวตนของเด็ก

แต่ก่อนอื่น ครูต้องปรับทัศนคติ โดยเฉพาะครูปฐมวัยและผู้ที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีความคิดว่า ครูปฐมวัย เด็กปฐมวัยไม่สำคัญ หรือตนเป็นแค่ครูอนุบาล ไม่เก่ง สอนหรืออบรมไปก็ไม่เข้าใจ หรือความรู้ดังกล่าวเป็นเรื่องยากไม่สามารถเข้าใจได้ เป็นต้น หากเปิดใจแล้วครูอาจจะพบว่า การสอนการดูแลพัฒนาเด็กให้ได้ผลตามที่มุ่งหวังนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย