คำว่า “การเป็นพลเมืองดี พลเมืองที่เข้มแข็ง” อาจฟังดูห่างไกลจากเด็ก เป็นนามธรรมที่เด็กเล็กไม่น่าจะเรียนรู้เข้าใจได้ แต่โดยธรรมชาติพัฒนาการแล้ว เด็กในวัยประถม หน้าต่างแห่งโอกาสของการปลูกฝัง ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม สำหรับ กำลังเปิด เพราะถึงวัยที่เด็กเริ่มรับรู้เหตุผล ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องฉวยโอกาสนี้ปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้ social norm โดยปรับวิธีการปลูกฝังไปกับบริบทรอบตัวเด็กให้สอดคล้องกับวัย และทำให้เป็นรูปธรรม เช่น การเป็นพลเมืองดีคือการไม่ทำให้เพื่อนเสียใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน รับผิดชอบตัวเองคือไม่ทำตัวให้เป็นภาระกับคนอื่น

ในเอกสารของ NAYC (North American Youth Congress?)ก็ได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า เด็กสามารถเข้าถึงและเรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกัน การพึ่งพากันในสังคม จากการใช้ชิวิตในครอบครัว ในห้องเรียน ซึ่งเหมือนเป็นการจำลองสถานการณ์ในชีวิตจริง

เด็กประถมเป็นพลเมืองดีได้ โดย :

พลเมืองดีรู้หน้าที่

เด็กประถมศึกษาเป็นวัยที่มีหลายบทบาทหลายหน้าที่ อยู่ที่บ้านมีบทบาทหนึ่ง อยู่ที่โรงเรียนมีอีกบทบาทหนึ่ง กับเพื่อนและกับครู ก็มีบทบาทที่ต่างกันไป  แต่ละบทบาทจะมีหน้าที่ตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กจะต้องเรียนรู้  การรู้หน้าที่นี้เป็นการที่เด็กเรียนรู้หลักคิดสำคัญของการอยู่ร่วมกับผู้อื่น คือไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และเรียนรู้แต่ละหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรม เช่น รู้ว่าเมื่ออยู่กับครู ครูมอบหมายให้ทำอะไร เด็กก็จะทำ แล้วกระบวนการกำกับตนเองจะตามมา เพราะรู้ว่านี่คือหน้าที่  เช่นเดียวกับบทบาทหน้าที่กับเพื่อน เล่นกับเพื่อนต้องเล่นกันดีๆ ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ไม่ทำร้ายกัน เป็นต้น

การรู้หน้าที่ยังรวมไปถึงเข้าใจและเคารพกฎกติกา เป็นพัฒนาการด้านสติปัญญา คือความสามารถในการทำความเข้าใจและเรียนรู้ที่จะเคารพและปฏิบัติตามกติกาข้อตกลงที่อยู่ในบริบทนั้นๆ  เด็กจะทำได้ต้องอาศัยพัฒนาการหลายตัว เช่น ความมีเหตุผล การกำกับตนเอง และการประพฤติปฏิบัติ

ครูหรือพ่อแม่ต้องช่วยชี้แนะ มอบหมาย ชี้ให้เด็กเห็น สร้างบทบาทให้ รวมทั้งให้กำลังใจ เด็กจะสามารถรับรู้บทบาทหน้าที่ได้เร็วได้ดี เริ่มจากบทบาทหน้าที่ต่อตัวเอง ต่อคนในครอบครัว ต่อเพื่อน ต่อโรงเรียน และขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างในที่สุด

พลเมืองดีมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น(empathy และ sympathy)

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นผลพวงมาจากการรู้หน้าที่ เพราะต้องคอยระวังตัวเองไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียใจสำหรับเด็กวัยประถมถ้าผู้ใหญ่สอนว่าห้ามทำให้ใครเดือดร้อน ห้ามทำให้ใครเสียใจ เด็กอาจจะไม่เข้าใจ จึงมีผู้แนะนำให้เปลี่ยนวิธีสอน เป็นการสอนให้เด็กมีวิธีคิดแบบ“เอาใจเขามาใส่ใจเรา” (empathy และ sympathy)เพราะทันทีที่เด็กพัฒนาความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เข้าใจว่าคนที่โดนกระทำรู้สึกอย่างไร เด็กจะไม่ไปทำให้คนอื่นเสียใจ หรือสร้างความเดือดร้อนให้ใคร 

empathyและ sympathy จะเป็นพื้นฐานสำคัญให้เด็ก นอกจากจะไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เสียใจแล้ว อาจพัฒนาไปถึงการเป็นคนที่มีจิตอาสา จิตสาธารณะได้อีกด้วย

พลเมืองดีมีสามัญสำนึก

คนเราจะมีสามัญสำนึกได้ต้องรู้ผิดชอบชั่วดี รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่หรือไม่เป็น social norm ที่คนส่วนใหญ่ทำได้หรือไม่  เมื่อรู้ผิดชอบชั่วดี เด็กจะเกิดกลไกอัตโนมัติที่จะมีสามัญสำนึก ยึดมั่นในการกระทำที่ถูกต้อง แม้ในที่ที่ไม่มีคนเห็นก็ตามและจะเกิดสามัญสำนึกได้ชัดมากขึ้นหากเด็กได้ทำตาม social norm นั้นๆ แล้วเกิดผลกระทบด้านบวกกับตัวเด็ก เช่นได้รับคำชมเชย ความไว้วางใจจากผู้ใหญ่

สังคม ค่านิยมของคนเราเริ่มก่อร่างสร้างมาจากคนรอบตัว พ่อแม่ คนในครอบครัวและเพื่อน ซึ่งถ้าไม่สามารถปลูกฝังให้เด็กมีสามัญสำนึกที่ดี ไม่มีหลักที่มั่นคงไว้ยึดมั่น ไม่มีหลักคิดไว้วิเคราะห์ผิดชอบชั่วดี เมื่อเติบโตไปเป็นวัยรุ่น เขาอาจจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มแก๊งที่ทำให้เกิดปัญหารักพวกพ้องจนทำเรื่องที่ผิดพลาดได้

ปัจจุบันเด็กมีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง พ่อแม่ขาดความใกล้ชิดกับลูก  โรงเรียนจึงเป็นแหล่งสำคัญที่จะปลูกฝัง social norm ให้กับเด็กบางโรงเรียนสร้าง social norm เป็น norm ใหญ่ที่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันทั้งโรงเรียนเพื่อให้เกิดพลังและการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ซึ่งครูสามารถนำหลักคิดใหญ่ไปปรับใช้ โดยคำนึงถึงระดับอายุและระดับความคิดของเด็กในแต่ละช่วงวัย

การสร้างสามัญสำนึกจะง่ายขึ้นถ้าเปลี่ยนจากการพูดให้เด็กฟังเป็นผู้ใหญ่กระทำเป็นตัวอย่างให้เด็กปฏิบัติตามและเป็นหลักคิดไว้ตัดสินใจ

พลเมืองดีจัดการตัวเองได้

ถ้าเด็กจัดการกับตัวเองเป็น จัดการกับภาวะอารมณ์ตัวเองได้ กำกับตัวเองได้ ท้อแล้วลุก ให้กำลังใจตัวเองเป็น ก็จะมีชีวิตเป็นปกติสุข ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร มีสัมพันธภาพที่ดีและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น

สัมพันธภาพที่ดี สิ่งสำคัญอยู่ที่การนับถือ ให้เกียรติผู้อื่น แต่การที่คนเราจะนับถือ ให้เกียรติผู้อื่นได้ ต้องรู้จักนับถือตัวเองก่อน  และการจะนับถือตัวเองได้นั้นเด็กต้องเห็นคุณค่าและศักยภาพของตัวเองก่อนด้วย เมื่อเห็นค่าตัวเองก็จะเห็นค่าผู้อื่น เมื่อให้เกียรติตัวเองได้ก็จะให้เกียรติผู้อื่น