จากการรับผิดชอบงานการศึกษาปฐมวัย ศน.กังสดาลพบว่า ผลสรุปในทุกสิ้นปีการศึกษา เด็กปฐมวัยของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาเชียงราย เขต 2 มีผลพัฒนาการด้านสติปัญญาต่ำกว่าพัฒนาการด้านอื่นๆ และเมื่อได้รับความรู้เรื่อง EF จึงเห็นว่าควรต้องพัฒนาทักษะสมอง EF ให้เด็กปฐมวัย โดยพัฒนาครูปฐมวัยให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง EF และสามารถเขียนแผนการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมพัฒนาทักษะสมอง EF ได้ ในปีการศึกษา 2564 ศน.กังสดาลเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้าง Facilitator EF จังหวัดเชียงราย ร่วมกับครูโรงเรียนสังกัดสพป.เชียงราย เขต 2 ต่อจากนั้นนำความรู้ EF มาส่งเสริมสนับสนุนครูและผู้บริหารโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบให้จัดการเรียนการสอนและมีวิธีปฏิบัติที่ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะสมอง EF จนครูและผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเฮี้ยได้รับรางวัลเป็นเลิศด้านการบริหารการศึกษาปฐมวัยและการจัดประสบการณ์พัฒนาเด็กปฐมวัย นอกจากนั้นยังสื่อสารประชาสัมพันธ์กิจกรรม EF อย่างต่อเนื่องผ่านไลน์กลุ่มครูปฐมวัยในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 รวมทั้งประสานกับโรงพยาบาลแม่ลาวในการขับเคลื่อน EF ปี 2565 ศน.กังสดาลมีแผนจะจัดการอบรมการเขียนแผนการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริม EF ของผู้เรียน ให้ครูปฐมวัยทุกโรงเรียนในสพป.เขต 2 โดยประสานกับวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล

การขับเคลื่อน EF ที่เป็นรูปธรรม

  • มีแผนจะจัดการอบรมการเขียนแผนการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริม EF ของผู้เรียน ให้ครูปฐมวัยทุกโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 โดยประสานงานกับวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565เพื่อ “ศึกษาการพัฒนากระบวนการนิเทศครูผู้สอนระดับปฐมวัย ในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะสมองของเด็กปฐมวัย (EF) ที่มีต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2”

การแก้ปัญหา

  • สถานการณ์โควิดทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่ แต่พยายามใช้การสื่อสารข้อมูล EF ผ่านทางไลน์กลุ่มอยู่เสมอ และติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์
  • เด็กจำนวนไม่น้อยไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มีปู่ย่าตายายดูแลแทนพ่อแม่ ครูควรต้องทำหน้าที่ดูแลพัฒนา EF ให้เด็ก ถ้าครูได้นำความรู้ EF ไปใช้อย่างจริงจัง อนาคตเด็กไทยจะมีปัญหาน้อยลง ครูยังสามารถประคับประคองเด็กให้ดีได้ แม้ว่าครอบครัวไม่อบอุ่น
  • ผู้ปกครองอาจเข้าใจเรื่อง EF ได้ยาก การให้ความรู้ EF แก่ผู้ปกครองต้องมีการย่อยเนื้อหาให้เป็นรูปธรรม และมีรูปแบบการให้ความรู้ที่แตกต่างไปจากที่ให้ครู

ผลสัมฤทธิ์ / การเปลี่ยนแปลง

  • โรงเรียนที่มีการส่งเสริม EF สามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนระดับปฐมวัยมีผลสัมฤทธิ์และมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่สูงขึ้น
  • ผู้บริหารและครูมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย แต่ในภาพรวมยังเข้าใจได้ไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมทุกโรงเรียน
  • ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเฮี้ยได้รับรางวัลการบริหารการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยและครูโรงเรียนบ้านห้วยเฮี้ยได้รับรางวัลการจัดประสบการณ์การจัดการศึกษาปฐมวัยโดยใช้ความรู้ EF เป็นฐานในการดำเนินงาน