ฝึกฝนเพื่อพัฒนา พัฒนาแล้วฝึกฝนต่อ
ทักษะเชิงบริหารจัดการ (Executive Function: EF) ของสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จในการเรียนหนังสือและการทำงาน มิตรภาพ การแต่งงาน คุณภาพของชีวิต มีสุขภาพที่ดีและมีจิตใจที่เป็นสุข ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า การพัฒนาทักษะ EF เหล่านี้ตั้งแต่ปฐมวัย เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นยิ่ง ปัญหา EF ในวัยเด็กบอกได้ว่าชีวิตต่อไปข้างหน้า ปัญหา EF ของคนๆ นั้นจะเป็นอย่างไร ทักษะ EF ใดที่บกพร่องมักจะไม่หายไปจากชีวิต แต่จะยิ่งบกพร่องมากขึ้นตามกาลเวลา ปัจจุบันจึงมีความพยายามที่จะจัดกิจกรรมและใช้วิธีการต่างๆ ในการพัฒนาทักษะสมองส่วนนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนบนฐานการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยเล่นเกมเพื่อฝึกฝนความจำเพื่อใช้งานและการคิดเหตุผลซึ่งเป็นทักษะหนึ่งของ EF การฝึกฝน EF ผ่านการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ Interactive การฝึกฝนทักษะสมองฯผ่านการฝึกฝนร่างกายและจิตใจในศิลปะการต่อสู้ เช่น การเรียนเทควนโด รวมทั้งการเรียนในหลักสูตรพิเศษของโรงเรียน เช่น หลักสูตร Promoting Alternative Thinking Strategies (PATHS; Riggs, Greenberg, Kusché, & Pentz, 2006) and the Chicago School Readiness Project (CSRP; Raver et al., 2008, Raver et al., 2011). ที่ส่งเสริมทักษะสมองส่วนหน้า เป็นต้น
การฝึกฝน EF ผ่านการเรียนศิลปะการต่อสู้ใช้ได้ผลดีที่สุดสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป กิจกรรมอื่นๆ เช่น ละครเวที การเล่นดนตรีในวงออเคสตรา การเป็นนักร้องประสานเสียง การดูสัตว์ การสร้างหนัง การเล่นบาสเก็ตบอล การเล่นฟุตบอล เป็นฝีพายในทีมแข่งเรือ การปีนเขา ล้วนเป็นกิจกรรมที่ถูกนับว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริม EF แม้ว่ายังไม่ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจังแต่สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยพบคือ การจะเห็นได้ว่า EF เพิ่มขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับ “วิธีการทำกิจกรรม” และ “ระยะเวลา” ที่ใช้ในการทำกิจกรรมนั้นๆ และ “การได้ฝึกฝนซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง” เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ EF แข็งแรง ยิ่งเด็กได้ใช้เวลาในการทำงานเพื่อฝึกฝนทักษะ EF มากเท่าไหร่ ทักษะสมองส่วนนี้ก็ยิ่งพัฒนา สอดคล้องกับสิ่งที่อีริคสันพบว่ากุญแจของการเป็นคนที่สุดยอดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการฝึกฝนในการพยายามที่จะทำให้ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่อย่างไม่ลดละ
ทักษะสมองส่วนหน้าที่แข็งแรงเกิดขึ้น มาจากผลการใช้หลักสูตรฝึกฝนและท้าทาย EF ในทุกชั่วโมงของการเรียนตลอดทั้งวันในโรงเรียน ไม่ใช่ใช้ EF แค่ในบางวิชา หรือจัดทำวิชาฝึก EF ขึ้นมาต่างหาก ซึ่งจะไม่ได้ผลอะไร ทั้งนี้การประเมินว่า EF ของเด็กที่ได้รับการฝึกฝนท้าทายนอกจากการทำการประเมินอย่างเป็นระบบ ทักษะสมองส่วนหน้าที่พัฒนาขึ้นในเด็ก สามารถสังเกตเห็นได้จากพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกมาในการพยายามผลักดันตัวเองให้ทำให้ดียิ่งขึ้น อดทนฝึกฝน มีวินัย พยายามกำกับอารมณ์ ความคิดและการกระทำ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ
การที่เด็กจะมีพฤติกรรมและทำได้อย่างที่ว่านี้ แสดงให้เห็นถึงความมุมานะบากบั่น เพียรพยายามอย่างไม่ลดละ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะจะต้องเจอกับความยาก จำเจ ใช้เวลาอย่างต่อเนื่อง เสียสละทั้งแรงกายและแรงใจ เด็กที่มีความชอบในกิจกรรมที่ตนเองทำอยู่ จึงจะเกิดแรงใจในความพยายามและใช้เวลากับเรื่องนั้นๆ อย่างมาก หลงใหลในสิ่งที่ตนเองทำ (Hirt, Devers & McCrea, 2008) ไม่เห็นว่าความเหนื่อยยาก ท้าทายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ กลับมีความสุข ลื่นไหล ลุ่มลึกลงจนลืมวันลืมคืน ต่างกับเด็กที่ถูกบังคับให้ต้องทำ และผลักดันตัวเองให้ดีขึ้นโดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้เลือก แม้ว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมา สังเกตได้ว่าเด็กอดทนฝึกฝน มีวินัย พยายามกำกับอารมณ์ ความคิดและการกระทำตามที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมา เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ แต่ในที่สุดจะพบว่าเด็กที่ถูกบังคับหรือจำต้องทำ มีพลังน้อยกว่าเด็กที่ได้เลือกเป้าหมายเอง ในระหว่างที่ทำภารกิจมีความสุข สนุกกับสิ่งที่ทำน้อยกว่า เมื่อประสบความสำเร็จเด็กเหล่านี้ที่ถูกบังคับก็มีความสุขน้อยกว่า เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ปรากฎอาการซึมเศร้ามากกว่า จากการที่ชีวิตที่หนักหนาของตน ไม่ใช่สิ่งที่ตนเลือกหรือต้องการ
สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เป็นเป็นผู้บริหารของสมองทั้งหมด เป็นสมองส่วนแรกที่รับผลของความทุกข์ที่ชีวิตเผชิญ หากเราเศร้า (von Hecker & Meiser, 2005), เครียด (Arnsten, 1998), เหงา (Cacioppo & Patrick, 2008) ร่างกายอ่อนแอ (Hillman, Erickson, & Kramer, 2008) หรือความต้องการทางอารมณ์ สังคม และความต้องการทางร่างกายไม่ได้รับการตอบสนอง ทักษะสมอง EF จะทำงานไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ในทางกลับกัน เมื่อเราเครียดน้อยลง มีความสุขมากขึ้น มีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น และได้รับการยอมรับ ได้รับการหนุนเสริมและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทักษะสมองส่วนหน้าของเราจะสามารถขบคิดเรื่องราวต่างๆที่เข้ามาในชีวิตได้ดีขึ้น เข้าใจสิ่งต่างๆชัดเจน และสร้างสรรค์มากขึ้น เมื่อทักษะสมองส่วนหน้าทำงานได้ดีขึ้นในการกำกับอารมณ์ ความคิด การกระทำเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เราจะเห็นการทำงานภายในสมองสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรม เช่น มีการออกกำลังกาย ควบคุมตนเองในเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น มีระเบียบวินัยมากขึ้น
การสังเกต วิจัยเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เป็นสมมุติฐานของความรู้ที่ระบุว่า วิธีการที่ดีในการพัฒนา EF เด็กและทำแล้วประสบความสำเร็จมากที่สุด คือการสร้างโอกาสที่ท้าทายให้ทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF) ได้ทำงานโดยตรง และการลดความเครียดของเด็กจะส่งผลโดยอ้อมให้ทักษะสมองส่วนที่เปรียบเสมือนเป็น CEO ของชีวิตทำงานได้ดีขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการพัฒนาความสามารถในการจัดการกับความเครียด เพิ่มความสุข ช่วยให้เด็กรู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว โรงเรียนและสังคม ล้วนเป็นรากฐานที่ทำให้ทักษะสมองส่วนหน้านี้ของเด็กได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ และการส่งเสริม “จุดแข็ง” ที่เด็กมีอยู่เป็นทุนเดิมในการพัฒนา ช่วยทำให้เด็กประสบความสำเร็จง่ายขึ้น มีความสุขขึ้น
ดร.ลีอา วอเตอร์ส (Lea Waters) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกชาวออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษา พบว่าการนำเอาความสนใจของเด็ก สิ่งที่เด็กทำได้ดี หรือ “จุดแข็ง” (Strength) มาใช้ในการพัฒนาทักษะต่างของเด็กๆ เป็นการพัฒนาเชิงบวก ที่จะช่วยให้เด็กได้สร้างเป้าหมายของตนเองขึ้นมา ตั้งแต่เป้าหมายเล็กๆ ไปจนถึงเป้าหมายที่ใหญ่และมีความหมายมากขึ้นทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ยิ่งทำให้เด็กค้นพบคุณค่าในตัวเอง มีพลังมากขึ้น รู้สึกเป็นสุขยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยต่างๆที่ทำออกมา พบว่าการพัฒนา EF ในเด็กปฐมวัยสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ พ่อแม่และครูศูนย์เด็กเล็กสามารถทำได้ด้วยตนเองและไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์เข้ามาทำให้ทักษะสมองส่วนหน้าดีขึ้น
การพัฒนาทักษะส่วนหน้า (Executive Function: EF) ในเด็กปฐมวัยนั้นสามารถทำได้โดยการจัดการสร้างสภาพแวดล้อมและให้โอกาสเด็กได้มีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม การพัฒนาสมรรถภาพของร่างกาย ผ่านการเคลื่อนไหวแบบแอโรบิค การเล่นโยคะ และเรียนศิลปะการต่อสู้ อาจจะช่วยทำให้เด็กมี EF มากกว่าการจัดการฝึกฝนทักษะ EF อย่างเจาะจง พื้นฐานในการพัฒนาทักษะ EF ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะในวัยนี้ แท้ที่จริงคือ การเปิดโอกาสให้สมองของเด็กเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ได้ทำงานที่ท้าทาย และสามารถทำสำเร็จ มีความสุขและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง การเปิดและสร้างโอกาสให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ และการมีสุขภาพดีมีร่างกายที่แข็งแรง เป็นองค์ประกอบรวมของการพัฒนา EF ที่ต้องการความร่วมมือกันของทุกคนที่แวดล้อมเด็ก ตั้งแต่พ่อแม่ คนในครอบครัว ครู โรงเรียน ชุมชน ผู้นำทางศาสนา ที่ต้องมีความเข้าใจ ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนในการมีส่วนร่วมเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เป็นคนที่จะเติบโตขึ้นไปประสบความสำเร็จในชีวิตตามที่ตนเลือก มีความสุขและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ
อ้างอิง
• Adele Diamond, Activities and Programs That Improve Children’s Executive Functions, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4200392/, available in PMC 2014 Oct 17.