เด็กอนุบาล EF ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ทักษะการทำงานของทักษะสมองส่วนหน้าเริ่มต้นพัฒนาอย่างชัดเจนในวัยอนุบาล ซึ่งเป็นเด็กก่อนวัยเรียน การเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรก ที่เด็กได้พบกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เป็นทางการ ซึ่งครูผู้ดูแลเด็กเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดประสบการณ์ให้กับนักเรียนตัวน้อย ครูเป็นผู้วางแผน จัดเตรียมและสร้างโอกาสให้เด็กได้ใช้ทักษะสมองส่วนหน้า EF ในการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในแต่ละวันในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก ผลการเรียนรู้ของเด็กๆเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากสองส่วน คือความพยายามในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนและบริบทของห้องเรียน ซึ่งประกอบไปด้วยสภาพแวดล้อมในการเรียนและกิจกรรมที่จัดขึ้น โดยที่ครูยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการหาวิธีที่จะดูแลเด็กที่มีทักษะสมองส่วนหน้าอ่อน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในชั้นเรียนในขณะเดียวกับที่ต้องสร้างโอกาสการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีทักษะ EF สูง ให้สามารถพัฒนาทักษะของตนได้อย่างเต็มศักยภาพ
ปัจจุบันเมื่อดูความพร้อมของโรงเรียนในระบบการศึกษา โรงเรียนไม่เพียงแต่ถูกคาดหวังว่า จะเป็นสถานที่ที่จะพัฒนาทักษะทางด้านภาษา ความรู้ทางด้านวิชาการอันประกอบด้วย การอ่านเขียน คณิตศาสตร์ และทักษะทางวิทยาศาสตร์ โรงเรียนยังถูกคาดหวังว่า จะเป็นสถานที่ที่เด็กนักเรียนสามารถพัฒนาการเคลื่อนไหวทางร่างกาย รวมทั้งรับโอกาสในการฝึกฝนทักษะสมอง EF ในการกำกับความจดจ่อใส่ใจ การกำกับอารมณ์และพัฒนาความรู้ความสามารถของตน
เด็กอนุบาลที่มีทักษะสมองส่วนหน้า (Executive function: EF) ดี มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในห้องเรียนได้ดี และยังมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เด็กเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของห้องเรียน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู ให้ความร่วมมือและตอบโต้กับเพื่อนและครูในกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องอาศัยทักษะความจำเพื่อใช้งาน ในกิจกรรมมีลำดับและขั้นตอนหลายขั้นตอนที่ต้องจดจำ และทำตามลำดับ และได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จที่เกิดขึ้นในห้องเรียน เด็กไม่มีพฤติกรรมก่อกวนเพื่อนหรือไม่ยอมให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ ในการเรียนรู้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครูและเพื่อน เด็กได้พัฒนาการเรียนรู้ทักษะทางสังคมไปพร้อมๆกันด้วย
การทำงานของทักษะสมองส่วนหน้า EF เอื้อต่อการพัฒนาทักษะการอ่าน การรู้หนังสือ และทักษะทางคณิตศาสตร์ของเด็ก ในการศึกษาเด็กอายุสี่ขวบจำนวน 562 คนพบว่า ทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นทักษะของกระบวนการคิดชั้นสูงที่กำกับพฤติกรรมการแสดงออกและนิสัยของเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับความสามารถทางคณิตศาสตร์และทักษะการพูด ในงานวิจัยที่นำเสนอโดย Mary Wagner Fuhs (2016) พบว่า เด็กมีทักษะสมอง EF เป็นอย่างไรในช่วงวัยนี้ สามารถทำนายผลการเรียนคณิตศาสตร์ไปถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ได้ค่อนข้างแม่นยำ และทักษะสมอง EF ที่เด็กมียังบอกได้ถึงความสามารถทางด้านภาษาของเด็ก ข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการพัฒนาทักษะสมอง EF กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทำให้มีความพยายามพัฒนากิจกรรมที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับเด็กอนุบาล และจากผลการวิจัยดังกล่าวอาจเป็นไปได้ที่จะมีการศึกษาและมีการนำเอาการจัดประสบการณ์เชิงคณิตศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาทักษะสมอง EF ในเด็กเล็กของประเทศอเมริกา
การศึกษาล่าสุดในปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของทักษะสมองส่วนหน้า EF กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก สามารถเห็นได้จากพฤติกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนของเด็ก ทักษะเชิงบริหารจัดการของสมองส่วนหน้าช่วยให้เด็กปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในช่วงต้นของชีวิต เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นและแสวงหาความรู้อย่างกระตือรือร้นตามวัย รวมทั้งมีการนำความรู้ที่ได้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน และนำไปบอกหรือพยายามสอนพ่อแม่มี่บ้าน ยิ่งในห้องเรียนที่เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับครูและเพื่อนจะยิ่งทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กดีขึ้น
การจัดประสบการณ์ในห้องเรียนให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้กิจกรรมที่ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ตามลำดับที่ชัดเจนไปจนเสร็จตามเป้าหมายอย่างเป็นระบบ จะช่วยส่งเสริมพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าของเด็กตั้งแต่ ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง ยั้งหยุดตัวเองไม่ให้วอกแวก ต้องใช้ทักษะกำกับตนเองให้จดจ่ออยู่กับงานที่ได้รับมอบหมาย ควบคุมอารมณ์ ประเมินตนเอง ใช้ทักษะความจำเพื่อใช้งาน พยายามจำหรือเข้าใจลำดับขั้นตอนที่ต้องทำ จดจำและทำความเข้าใจกระบวนการตามลำดับอย่างเป็นระบบ ทั้งยังต้องใช้ทักษะปฏิบัติ วางแผน และมุ่งเป้าหมายทำจนสำเร็จ เป็นการส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงซึ่งส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากขึ้น อีกทั้งการได้ฝึกฝนกิจกรรมเช่นที่ว่านี้ยังช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางคณิตศาสตร์ของเด็กแข็งแรงขึ้นด้วย
เด็กอนุบาลที่มีทักษะสมองส่วนหน้า EF ที่แข็งแรงจะมีการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนและครูได้ดี ในการเรียนตลอดทั้งวันในโรงเรียนเด็กปฐมวัยจะมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำไปพร้อมๆ กันกับครูและเพื่อนๆ จนมีความเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ ความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่การเรียนในชั้นเรียนเกิดจากความสามารถของเด็กในการเรียนรู้ร่วมกันกับผู้อื่น เป็นทักษะทางสังคมของเด็กก่อนวัยเรียนที่สามารถดูได้จากทักษะสมองส่วนหน้าของเด็กคนนั้นๆ เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้ามาดี จะมีทักษะทางสังคมดี ในขณะเดียวกันกับพฤติกรรมเชิงลบที่เป็นปัญหา เช่นไม่ยอมเรียน ไม่เข้ามามีส่วนร่วม หรือก่อกวนรังแกเพื่อนร่วมชั้น พฤติกรรมดังกล่าวไม่เพียงขัดขวางการเรียนรู้ของเด็กคนนั้นๆ ยังรบกวนเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกด้วย เด็กที่แสดงพฤติกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะมีทักษะสมองส่วนหน้า และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับต่ำกว่าปกติ ซึ่งครูจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุให้กับเด็ก
การเรียนในระดับอนุบาลที่มีคุณภาพจำเป็นต้องมีการจัดประสบการณ์ที่พัฒนาทักษะสมอง EF ของเด็กก่อนวัยเรียน ผ่านการพัฒนาภาษาทั้งในด้านการแสดงออก และการเรียนรู้คำศัพท์และรูปประโยค เพื่อให้เด็กสามารถใช้ภาษาได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากภาษาเป็นพื้นฐานของความสามารถในการ สะท้อนประสบการณ์ ข้อมูล และการให้เหตุผล สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กในวัยอนุบาลคือการเล่นที่มีการออกแบบอย่างเป็นระบบ เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีเป้าหมายชัดเจน และเด็กต้องรู้สึกสนุก มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน การเล่นที่มีโครงสร้างการออกแบบมาอย่างดี มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการให้เด็กเรียนรู้อะไร จะช่วยให้เด็กเล็กเชื่อมโยงประสบการณ์ปัจจุบัน ที่ได้รับกับประสบการณ์ก่อนหน้านั้นเพื่อไปสู่เป้าหมายได้ และสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในประเด็นที่สาม คือการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัย ควรมุ่งเน้นให้เด็กได้ฝึกฝนการควบคุมอารมณ์ของตนเอง เพื่อให้เด็กได้รู้จักอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตน และมีวิธีการที่สามารถสะท้อนคิดและควบคุมอารมณ์ของตน รวมทั้งสามารถใช้มุมมองของผู้อื่นมาจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตนเองได้
สถาบันสุขภาพเด็กและการพัฒนามนุษย์แห่งชาติ โดยการสนับสนุนทุนจากสถาบันแห่งชาติว่าด้วยการใช้ยาเสพติดของสหรัฐอเมริกาได้ทำงานวิจัยในเมืองชิคาโก ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางเหนือของประเทศโดยได้ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาลที่เน้นการฝึกฝนให้เด็กรู้จักควบคุมตนเอง โดยฝึกอบรมครูให้มีความเข้าใจเรื่องทักษะสมอง EF รวมทั้งเข้าใจการจัดการปัญหาพฤติกรรมโดยมีการทำงานร่วมกับที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาบรรยากาศในชั้นเรียนของโรงเรียนด้อยโอกาส ผลของการทำงานของโครงการนี้พบว่า เมื่อครูมีความรู้ความเข้าใจ ครูสามารถสร้างบรรยากาศและทำให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกในห้องเรียนสูงขึ้นในขณะที่อารมณ์เชิงลบลดต่ำลง ส่งผลให้เด็กในห้องเรียนเหล่านี้มีปัญหาด้านพฤติกรรมน้อยลง และเมื่อมีการประเมินพบว่ามีทักษะสมอง EF ของเด็กอยู่ในระดับที่สูงขึ้นด้วย
ทั้งนี้เด็กเล็กในครอบครัวที่ยากจนมีความเสี่ยงสูง ที่จะพบความยากลำบากในการเรียนระดับปฐมวัย
ความไม่เท่าเทียมกันทางด้านรายได้ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดี เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นให้พัฒนาการใช้ภาษาเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนมีปัญหาเรื่องความเครียด เมื่อมีการวัดระดับของคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดพบว่า อยู่ในระดับที่สูงกว่าเด็กทั่วไป ความเครียดส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสมอง การพัฒนาทักษะสมอง EF การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของเด็ก ผลจากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าความยากจนสร้างความเครียดเรื้อรังให้กับเด็กเล็กเหล่านี้ ในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวระบุว่า การศึกษาขั้นปฐมวัยที่มีคุณภาพซึ่งเน้นกระบวนการพัฒนาทักษะสมอง EF จึงมีความจำเป็นและเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับเด็กที่ยากจน
อ้างอิง
• Nesbitt, Kimberly Turner and team, Executive function skills and academic achievement gains in prekindergarten: Contributions of learning-related behaviors., https://psycnet.apa.org/record/2015-22645-001, สืบค้น 22 เมย. 2565
• Fush , Mary Wagner and team, Longitudinal associations between executive functioning and academic skills across content areas.,https://psycnet.apa.org/doiLanding?doi=10.1037%2Fa0036633, สืบค้น 22 เมย. 2565
• Clancy Blair, Executive function and Early childhood education, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6051751/, สืบค้น 22 เมย. 2565