ทักษะสมอง EF กับการพัฒนาคุณธรรมในใจเด็ก
คุณธรรม เป็นความสามารถในการใช้วิจารณญาณในการกระทำสิ่งที่ดีงามต่อคนอื่น สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องชี้นำการตัดสินใจและการกระทำในการดำเนินชีวิต (Kohlberg 1963,1984) คุณธรรมเป็นผลที่เกิดจากกระบวนการทางอารมณ์และความรู้ความเข้าใจที่ซับซ้อน ในทางด้านจิตวิทยาและปรัชญา คุณธรรมเป็นทั้งเรื่องของการใช้เหตุผล การไตร่ตรองและมีเส้นแบ่งชัดเจน อีกทั้งยังเป็นเรื่องของอารมณ์ที่เกิดอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ นักวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์มีความพยายามค้นคว้า ว่าสมองส่วนใดที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับคุณธรรม การศึกษาเท่าที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า สมองใช้การทำงานของวงจรประสาทหลายวงจรที่ซ้อนทับ และกระบวนการที่ซับซ้อนมากในการกำกับพฤติกรรมต่างๆ ที่เรียกได้ว่ามี “คุณธรรม” แต่ในการพยายามค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ไม่พบว่ามีวงจรสมองส่วนไหนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมโดยเฉพาะ
ในการศึกษาวิจัยพบว่า ทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ซึ่งทำหน้าที่เชิงบริหารจัดการเป็นชุดของความสามารถทางปัญญา เช่น การรู้จักควบคุมตนเอง การริเริ่มทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง การยับยั้ง การวางแผน ความสามารถในการยืดหยุ่นความคิด และควบคุมแรงกระตุ้นของตนเอง จนแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมนั้น มีความเชื่อมโยงเชิงบวกกับการคิดเรื่องศีลธรรม ทักษะการกำกับตนเอง การจดจ่อใส่ใจ และทักษะการคิดเชิงคุณธรรมนั้น ต่างเน้นและให้ความสำคัญกับการให้ความสนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกในการทำความเข้าใจสังคม สนใจรายละเอียดของเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อตีความสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง ก่อนตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นอย่างที่ควรจะเป็น บนฐานของการคิดถึงคนอื่นก่อนที่จะคิดถึงตัวเอง
ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) ในสมองส่วนหน้าเป็นทักษะพื้นฐานของกระบวนการคิดขั้นสูงในสมองมนุษย์ ในการควบคุมกำกับตนเองเพื่อปรับตัวเข้ากับสังคม การยั้งคิดไตร่ตรองทำให้เราสามารถควบคุมการคิดไปเองหรือการตัดสินผู้อื่นทันทีโดยใช้อคติส่วนตัว หรือใช้ประสบการณ์เดิมและบรรทัดฐานของตนเองตัดสินเรื่องราวต่างๆ โดยยังไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ไม่ได้คิดถึงใจเขาใจเรา หรือไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อน ทักษะยั้งคิดไตร่ตรองเป็นความสามารถในการยับยั้งตนเองไม่ให้มองเรื่องราวต่างๆ เฉพาะจากมุมมองของตัวเองเท่านั้น แต่สามารถใช้มุมมองของคนอื่นที่อยู่ในสถานะหรือสภาวะที่แตกต่างจากเราเข้ามามองเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งความสามารถในการย้ายมุมมองเกิดจากการมีทักษะยืดหยุ่นความคิด (Flexibility Thinking) ซึ่งความสามารถของทักษะสมองส่วนหน้าดังที่กล่าวมานี้ช่วยให้คนแยกแยะได้ ระหว่างการทำร้ายโดยเจตนา หรือเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ สามารถยั้งตนเองให้ไม่รีบตัดสินคนอื่น โดยไม่ทันได้วิเคราะห์แยกแยะเรื่องราวให้ครบถ้วนเสียก่อน ในสังคมที่มีเรื่องราวดราม่าไม่เว้นแต่ละวัน มีการตัดสิน กล่าวหา ว่ากันโดยไม่พินิจพิเคราะห์ก่อนสะท้อนถึงปัญหาของคนในสังคมที่ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะสมองส่วนนี้มากพอ
งานวิจัยยังได้พบอีกว่า ทักษะการคิดเชิงคุณธรรมมีความเกี่ยวข้องกับ “คลังคำที่อยู่ในสมอง” คนที่มีคลังคำในสมองมาก จะทำให้การพูดคุยกับตนเองภายในใจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว คนที่มีคำศัพท์อยู่ในสมองมาก จะสามารถให้ “คำจำกัดความ” แก่สิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจของตนเองได้ รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นภายในใจของตน ทำให้เกิดการทบทวน และประเมินกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมได้มากขึ้น สภาวะที่คนรู้ตัว ประเมินได้ว่าตนเป็นอย่างไร คนจะเข้าใจสถานการณ์ที่ตนเองเป็นอยู่ได้ดีขึ้น นำไปสู่การเลือกทางออกที่ดีกว่าได้ง่ายขึ้น สิ่งหนึ่งที่พบในเด็กวัยรุ่นที่ประกอบอาชญากรรมคือ ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่มีคำศัพท์ในสมองน้อย ไม่สามารถสะท้อนหรืออธิบายสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ หรือสื่อสารกับผู้อื่นได้น้อย ความรุนแรงที่ระเบิดออกมาจากอารมณ์มีสาเหตุจากการที่ไม่สามารถสื่อสารกับตัวเองหรือสื่อสารกับผู้อื่นได้ อีกทั้งยังพบด้วยว่า เด็กในครอบครัวที่ยากจนมีการพัฒนาคำศัพท์ในสมองได้น้อยและช้ากว่าเด็กที่ฐานะดีกว่า เนื่องจากความขัดสน พ่อแม่ต้องหาเช้ากินค่ำอีกทั้งยังมีการศึกษาน้อย เด็กๆ จึงขาดโอกาสในการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งเด็กเล็กนั้นไม่สามารถเรียนรู้คำศัพท์เหล่านี้ได้จากโทรทัศน์หรือมือถือ การเข้าใจความหมายของคำในเด็กเล็ก เกิดจากการได้แลกเปลี่ยน โต้ตอบ และมีประสบการณ์ตรงจึงจะเข้าใจความหมายของคำแต่ละคำได้ดีพอ
นอกจากการที่สมองมี “คลังคำ” มากพอจะส่งผลดีต่อทักษะการคิดเชิงคุณธรรม การเรียนรู้การแสดงออกทางสีหน้าของผู้อื่นยังเป็นพื้นฐานของการมีทักษะการคิดเชิงคุณธรรมที่ช่วยให้คนปฏิบัติต่อผู้อื่นดีขึ้น การแสดงออกทางสีหน้าเป็นเบาะแสสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่า คนคนนั้นรู้สึกอย่างไร การมองหน้าคน ดูสีหน้าออก ทำให้เราสามารถเข้าใจผู้อื่น ในการทดลองให้เด็กดูภาพคนที่มีอารมณ์ต่างๆกันพบว่า เด็กที่สามารถจดจำและบอกได้ว่า คนในภาพที่ตนเห็นนั้นมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรได้ดีนั้น มีระดับการคิดเชิงคุณธรรมที่เป็น “ผู้ใหญ่” มากกว่าเด็กที่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนในภาพได้น้อยกว่า การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในอันที่จะทำให้คนมีเห็นใจผู้อื่นและมีความเข้าใจประเด็นเชิงคุณธรรมลึกซึ้งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยก่อนหน้านี้ที่พบว่า เยาวชนและผู้ใหญ่ที่กระทำผิด รวมทั้งเด็กที่มีแนวโน้มว่ามีปัญหาทางจิตนั้นขาดความสามารถในการรับรู้การแสดงออกทางสีหน้าของคนอื่น ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร ความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นทำให้เข้าใจสภาพทางจิตใจที่ซับซ้อนของคนอื่นได้ดีกว่า และเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อันเป็นต้นกำเนิดของการมีคุณธรรม
ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นกลไกธรรมชาติของสัตว์สังคม ความรู้สึกนี้ทำให้เราสนใจดูแลกันในหมู่เครือญาติและเห็นแก่พรรคเพื่อนพ้องมากกว่าคนอื่น ความเห็นอกเห็นใจนำไปสู่การพัฒนาการกระทำหรือพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อคนอื่น ปฏิบัติต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างดีงาม โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้หากว่าทักษะสมอง EF รวมทั้งความสามารถในการรับรู้ทางสังคมบกพร่องก็จะส่งผลต่อความเข้าใจที่มีต่อผู้อื่น ทำให้ไม่สามารถเข้าใจผู้อื่น ซึ่งอาการดังกล่าวจะพบเห็นได้ในเด็กที่เป็นออทิสติกและเด็กที่สมาธิสั้น สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กออทิสติกมีปัญหาทักษะทางสังคม คือการไม่สบตาผู้คน ไม่ตอบสนองเวลาที่ถูกเรียก เล่นกับเด็กคนอื่นไม่เป็น และไม่เข้าใจกติกาทางสังคม เป็นต้น
“สมองที่มีคุณธรรม” ไม่มีอยู่จริง กระบวนการทางคุณธรรมที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนของสมองส่วนอารมณ์ หรือที่เรียกว่า Limbic System และทักษะสมองส่วนหน้า EF ที่ทำงานเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ การกำกับอารมณ์ความคิด และการกระทำไปสู่เป้าหมาย รวมไปถึงการทำงานของวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกันอย่างซับซ้อน นอกจากการทำงานภายในสมองแล้ว พฤติกรรมที่เรียกได้ว่ามี “คุณธรรม” ที่แตกต่างกันของคนแต่ละคน รวมทั้งมุมมองเรื่องศีลธรรม คุณธรรมยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายอย่างเช่น บุคลิกภาพ พันธุกรรม ศาสนา รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันไป
สำหรับเด็ก การมีคุณธรรม หมายถึง ความสามารถในการที่จะเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ผิด และความสามารถที่จะเข้าใจว่า จะทำสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างไร ล้วนได้รับอิทธิพลมาจาก ประสบการณ์ชีวิตภายในบ้านและโรงเรียน สภาพแวดล้อมของชุมชน นอกเหนือจากความสามารถในการเรียนรู้อารมณ์และทักษะเชิงสังคมของตัวเด็กเอง การพัฒนาความเข้าใจเรื่องผิดถูกนั้นเป็นไปอย่างมีลำดับขั้น เด็กเล็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องเริ่มต้นจากการกลัวถูกลงโทษ เด็กคิดว่าพ่อแม่และครูเป็นผู้มีอำนาจที่ต้องปฏิบัติตาม กฎถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เด็กชั้นอนุบาลส่วนใหญ่นั้นสามารถเข้าใจความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมที่ดีและไม่ดี ซึ่งความเข้าใจในเรื่องนี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับการคิดเชิงคุณธรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต แต่การที่เราจะคาดหวังให้เด็กก่อนวัยเรียน “ ทำสิ่งที่ถูกต้อง” ได้โดยอัตโนมัตินั้น เป็นการเรียกร้องเด็กเกินความเป็นจริง
เด็กๆ จะค่อยๆเข้าใจคุณธรรมขึ้นมาทีละน้อยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตามพัฒนาการของสมองและการเรียนรู้ตามช่วงวัย ในงานวิจัยในระยะหลังทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เด็กที่มีอายุระหว่างห้าถึงหกขวบในแง่ความยุติธรรมนั้นต้องมองเห็นเป็น “สิ่งของ” ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ดังนั้นความยุติธรรมของเด็กวัยนี้จึงมีความหมายว่า ทุกคนได้รับส่วนแบ่งเป็นสิ่งของ “เท่ากัน” อย่างยุติธรรม ตัวอย่าง เช่น ตนเองและพี่ที่โตกว่าต้องได้ไอศกรีมหรือขนมเท่ากัน ได้เงินไปโรงเรียนเท่ากัน เด็กในวัยนี้ยังไม่พิจารณาปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความจำเป็นที่แต่ละคนมีความจำเป็นไม่เหมือนกัน หรือไม่เข้าใจเหตุผลที่ว่า คนที่พยายามมากกว่าควรได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า หรือคนที่ตัวโตกว่ามีความต้องการอาหารมากกว่า เป็นต้น
จนเมื่อเด็กโตขึ้นเข้าสู่ชั้นประถม ความคิดเชิงนามธรรมพัฒนามากขึ้น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง ความต้องการที่จะร่วมมือกับผู้อื่นมีมากขึ้น เด็กๆ จึงจะสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นขึ้นและประยุกต์ใช้กฎเกณฑ์เพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกันกับผู้อื่นมากขึ้นตามวัย เมื่ออายุได้หกหรือเจ็ดขวบ เด็กจะเริ่มเข้าใจเหตุผลที่ว่า บางคนควรได้รับมากขึ้นเพราะเขาทำงานหนักกว่า หรือบางคนควรได้รับมากขึ้นเพราะมีความจำเป็นมากกว่า
บ้านและโรงเรียนเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญของเด็กในการเรียนรู้เรื่องคุณธรรม คุณธรรมสามารถปลูกฝังให้เด็กได้ผ่านการฝึกฝน พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเน้นย้ำถึง “ทางเลือกที่ดี” และ “ทางเลือกที่ไม่ดี” รวมทั้งถึงผลที่จะเกิดตามมาของทางเลือกแต่ละแบบ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ความหมายอย่างเป็นรูปธรรมของสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่น “คุณธรรม” แต่พ่อแม่ ผู้ใหญ่หรือครูไม่ควรตีตราเด็กว่าทำอย่างนี้จึงเป็น “คนดี” หรือทำอย่างนั้นเป็น “คนไม่ดี” เพราะถึงแม้ว่าการพัฒนาคุณธรรมให้เด็กนั้น มีองค์ประกอบจากทั้งปัจจัยภายใน คือพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก พันธุกรรม และลักษณะเฉพาะของเด็ก อีกทั้งมีปัจจัยภายนอกซึ่งประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมและอิทธิพลทางสังคม แต่ “มาตรฐานคุณธรรม” ส่วนใหญ่พัฒนาจากปัจจัยภายนอกที่แวดล้อมเด็กมากกว่า
สภาพแวดล้อมของเด็กมีอิทธิพลต่อการพัฒนาคุณธรรมในหลายๆ ด้าน การเห็นภาพต้นแบบจากผู้ใหญ่และการเลียนแบบเพื่อนฝูง ค่านิยมของสังคมและครอบครัว ค่านิยมและความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งวิธีการเลี้ยงลูกล้วนมีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมทางศีลธรรมของเด็กที่เรียนรู้ ผ่านการเลียนแบบ ผ่านเรื่องราวและมาตรฐานทางศีลธรรมที่ถูกถ่ายทอดผ่านวิถีปฏิบัติในครอบครัวและสังคม ปรากฏในคำสอน นิทาน การบอกเล่า รวมไปถึงการสอนศาสนา การเรียนการสอนในห้องเรียน และแบบวิธีที่เด็กเห็นคนปฏิบัติต่อกัน
เด็กๆ เรียนรู้การปฏิบัติตัวตามศีลธรรม การมีคุณธรรมประจำใจ ผ่านการสังเกตพ่อแม่ ผู้ดูแล ผู้ใหญ่คนอื่นๆ และเด็กที่โตกว่า แล้วเลียนแบบตามพฤติกรรมที่เห็นนั้น เช่น ถ้าเด็กเห็นพ่อแม่แบ่งปันของให้ผู้อื่น เด็กก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนแบ่งปันของให้ผู้อื่นเช่นกัน เมื่อเด็กเลียนแบบไประยะหนึ่ง เด็กจะค่อยๆ เข้าใจถึงความหมายและคุณค่าของสิ่งที่ตนทำ ดังนั้นวิธีการเลี้ยงดูลูกและการมีวินัยในชีวิตประจำวันจึงมีผลอย่างมากต่อการพัฒนามาตรฐานทางศีลธรรมและคุณธรรมของเด็ก เด็กที่ได้รับผลตอบรับจากการกระทำของตนเองด้วยความยุติธรรมเหมือนกันทุกครั้งเมื่อฝ่าฝืนกฎหรือกติกาที่ตั้งไว้ จะเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงทางเลือกของตนกับผลที่ตามมา และรู้ว่ามาตรฐานทางศีลธรรมซึ่งตนต้องยึดถือนั้นอยู่ตรงไหน หากขโมยเงินจากกระเป๋าเงินของแม่ บางครั้งถูกทำโทษแต่บางครั้งก็แค่ถูกตำหนิเท่านั้น เด็กอาจจะเรียนรู้ว่า บางครั้งการขโมยก็ไม่เป็นไร แต่หากเด็กได้รับการตอบสนองอย่างยุติธรรมเหมือนกันทุกครั้งไป เด็กจะได้เรียนว่า การขโมยของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ดี การเรียนรู้เช่นนี้จะอำนวยให้เด็กเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและคุณธรรมได้มากกว่า
อ้างอิง
• Angela Oswalt, Early Childhood Moral Development, https://www.gracepointwellness.org/462-child-development-parenting-early-3-7/article/12769-early-childhood-moral-development, สืบค้น 22 เมย. 2565
• Anett Kretschmer, Relations between moral reasoning, theory of mind and executive functions in children with autism spectrum disorders, https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1179/2047387714Y.0000000045, 20 Jun 2014
• Evelyn Vera-Estay and team, All for One: Contributions of Age, Socioeconomic Factors, Executive Functioning, and Social Cognition to Moral Reasoning in Childhood,
https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2016.00227/full, 8 March 2016
• Leo Pascual and team, How does morality work in the brain? A functional and structural perspective of moral behavior, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3770908/, Published online 2013 Sep 12